"จิราพร"ลั่น"บ.มือถือ-เจ้าของแอปฯ"ต้องรับผิดชอบ เซ่นแอปเงินกู้โผล่ เผยเดินหน้าจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาระยะสั้น-อุดช่องโหว่
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียก ออปโป้ (OPPO) และ เรียลมี (realme) เข้ามาชี้แจงกรณีแอปกู้เงิน ว่า สคบ.ได้เชิญ 2 บริษัทดังกล่าวเข้ามาชี้แจง ได้รับทราบว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้หาข้อมูลเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และมีหลายหน่วยงาน เช่น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อสรุปข้อเท็จจริง โดยมี 3 ประเด็นหลักคือ เรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทราบว่า ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ประสานกับทางบริษัทมือถือเพื่อให้ถอดแอปพลิเคชั่นนี้ออก และทราบว่า ทาง 2 บริษัทได้แจ้งมาว่า ในวันที่ 16 ม.ค.จะรายงานให้ทราบว่า จะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเท่าที่มีการประเมินผลกัน เรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะไปบังคับให้ถอนแอปฯ นี้ได้ทันที ตอนนี้ทำได้เพียงขอความร่วมมือจาก 2 บริษัทดังกล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ส่วนการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้มีการหารือกันและทราบว่า แม้แต่ กสทช.เองก็ไม่ได้มีกฎหมายที่จะไปตรวจสอบแอปฯ ที่ติดมากับมือถือได้ เพราะเขามีหน้าที่ดูเฉพาะตัวฮาร์ดแวร์ ไม่มีอำนาจไปดูตัวซอฟต์แวร์ ไม่มีกฎหมายที่จะเข้ามาตรวจสอบเชิงลึกเช่นกัน ฉะนั้น จึงหารือกันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะมาดูว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพและทำกฎหมายที่จะอุดช่องโหว่เพื่อเป็นการป้องกันเชิงรุกได้ ซึ่งแอปฯลักษณะนี้มี 2 ส่วนคือ ติดมากับมือถือ ตรงนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยจะหาเจ้าภาพเพื่อไม่ให้เกิดเหตุติดตั้งแอปฯที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ซื้อ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ อีกส่วนหนึ่งคือ อาจจะเป็นแอปฯที่ดาวน์โหลดได้ในแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ทั่วไป ตรงนี้จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท.เป็นผู้ถือกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตในการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อและกฎหมายที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อที่ดอกเบี้ยเกิน 15% โดย ธปท.จะเป็นเจ้าภาพในการคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการตรวจสอบในเชิงรุก และกำลังดูว่า จะมีกลไกที่อาจต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา อาจนำตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาช่วยกันตรวจแอปฯเหล่านี้ในเชิงรุกได้
น.ส.จิราพร กล่าวว่า อีกประเด็นคือ เรื่องการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในส่วนของ สคบ.ที่ดูแลผู้บริโภคจะเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและจะดูในเรื่องทางแพ่งให้กับประชาชน อันไหนเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนจะช่วยประสานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อที่จะดำเนินคดีต่อไป อีกส่วนหนึ่งคิดว่า ทาง บก.ปคบ.พร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียนสภาผู้บริโภคที่มีการรับเรื่องมาจากประชาชน เพื่อไปดูว่า หน่วยงานไหนจะดำเนินการต่อในเรื่องคดีอาญาต่อไป
น.ส.จิราพร กล่าวว่า เท่าที่มีการตรวจสอบแอปฯ Fineasy และสินเชื่อแห่งความสุข ไม่ได้ขออนุญาต อย่างแอปฯ Fineasy เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับโฆษณาทางมือถือของค่ายนี้ แต่ไม่ได้ปล่อยกู้โดยตรง เพียงแต่มีบริษัทที่ปล่อยกู้เข้ามาโฆษณาในแอปฯนี้ ส่วนแอปฯสินเชื่อแห่งความสุข เป็นแอปฯปล่อยกู้เลย ซึ่งได้รับข้อมูลจาก ธปท.ว่า แอปฯดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ จึงจะมีการเรียกผู้เสียหายมาให้ข้อมูล หากพบว่า แอปฯ สินเชื่อแห่งความสุขปล่อยกู้ดอกเบี้ยเกิน 15% จะมีความผิดตามกฎหมายของ ธปท.โดยจะมีการดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแอบอ้างว่า รอมติดมากับเครื่อง ทางบริษัทจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า ประเด็นนี้ทางตำรวจ สอท.ได้เชิญบริษัทมาให้ข้อมูลและขีดเส้นให้บริษัทส่งข้อมูลในวันที่ 16 ม.ค.เพื่อตรวจสอบว่า มีที่มาที่ไปในการติดตั้งแอปฯอย่างไร และมีการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือไม่ และมีการขออนุญาตหรือไม่ เมื่อถามว่า หากมีความผิดส่วนที่รับผิดชอบจะเป็นส่วนไหนบ้าง น.ส.จิราพร กล่าวว่า ในกรณีนี้ต้องถือว่า บริษัทมือถือมีส่วนในการกระทำความผิดนี้เช่นกัน รวมถึงเจ้าของแอปฯด้วย เมื่อถามย้ำว่า คำว่า บริษัทหมายถึงบริษัทที่ประเทศจีนหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย น.ส.จิราพร กล่าวว่า ในส่วนของแอปฯต้องไปตรวจสอบข้อมูลว่า สรุปแล้วเจ้าของเป็นคนไทยหรือต่างชาติ แต่ในส่วนของบริษัทมือถือเขามีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ฉะนั้น ถึงอย่างไรต้องมีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ โดยความรับผิดชอบนั้นจะมีทั้งจำทั้งปรับ ส่วนวงเงินจำนวนเท่าไหร่นั้นต้องไปดูอีกทีนึง แต่เท่าที่ดูในส่วนของ ธปท.น่าจะปรับหลักล้านบาทในเรื่องของการละเมิด
เมื่อถามว่า สรุปตอนนี้ผู้เสียหายมีประมาณเท่าไหร่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนเครื่องเท่าที่มีการสอบถาม กสทช.แจ้งว่า จะชี้แจงในวันที่ 16 ม.ค.ส่วนผู้ที่มาร้องเรียนกับ สคบ.ทราบว่า มีประมาณ 20 กว่าราย และยังมีที่ไปร้องกับทางสภาคุ้มครองผู้บริโภคด้วยจำนวนหนึ่ง จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนผู้บริโภคว่า สามารถร้องเรียนที่ สคบ.ได้ ทั้งในช่องทาง 1666 และช่องทางออนไลน์ ยินดีที่จะรับเรื่อง ย้ำว่า อันไหนที่เราสามารถใช้กฎหมายของ สคบ.ในการดูแลผู้บริโภคได้จะทำทันที แต่อันไหนเกินขอบเขตอำนาจจะประสานผู้เกี่ยวข้องดูแลประชาชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นคนที่ลบแอปฯไปแล้ว แต่ยังมีไลน์เข้ามาทวงหนี้ จะดำเนินการอย่างไร น.ส.จิราพร กล่าวว่า จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูช่องโหว่ เพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ และแม้ว่า จะมีกฎหมายหลายฉบับแต่ยังมีช่องโหว่ ดังนั้น คุยกันว่า จะต้องดูแลผู้บริโภคในทุกมิติ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี