ผู้เชี่ยวชาญด้านมันสำปะหลัง เผยสาเหตุราคาดิ่งหนักเหลือไม่ถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม หลังตลาดใหญ่จีนลดการนำเข้า และผลผลิตในประเทศออกมาเป็นจำนวนมาก ชี้รัฐจำเป็นต้องประกันราคาเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ดร.สิรทัศน์ วีระพิริยะชาติ เจ้าของช่อง YouTube ส.เกษตรวันหยุด ให้สัมภาษณ์ภาพรวมของปัญหาเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังที่เผชิญสภาวะราคารับซื้อตกต่ำมากร่วงต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม และบางพื้นที่แค่ 1.20 ว่า สถานการณ์ราคามันสำปะหลังตกต่ำ เพราะปริมาณส่งออกต่ำลงมาก คือเหลือจำนวน 6 ล้านตัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 62 ก่อนที่ปริมาณการส่งออกจะขยับขึ้นมาในปีถัดๆมา จำนวน 7 ล้านตัน จนปี 65 ขยับถึง 10 ล้านตัน
"แต่ในปี 66 ลดเหลือจำนวน 8 ล้านตัน ซึ่งคิดว่าในอนาคตปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังที่ลดลงก็คงจะขยับขึ้นอีกเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกไปจีนที่ลดลงเนื่องจากจีนได้มีการนำข้าวโพดที่ปลูกในประเทศจีนมาใช้ทดแทนปริมาณนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย รวมทั้งซื้อจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่าไทย เช่น เวียดนาม" ดร.สิรทัศน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเราด้วย โดยต้องเข้าใจตลาดมันสำปะหลังว่า ผู้ประกอบการที่รับซื้อมันสำปะหลังมี 2 แบบ คือ1)ลานขนาดใหญ่ 20- 30 ไร่ ซื้อหัวมันสดเพื่อตากทำมันเส้น 2) ลานย่อยจะซื้อมา ขายไปเพื่อส่งต่อโรงแป้งหรือลานขนาดใหญ่อีกทอด ซึ่งเกษตรกรจะขายมันสำปะหลังราคาสูงหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ อยู่ระยะทางใกล้โรงแป้งเพราะลานรับซื้อจะมีต้นทุนค่าขนส่งให้โรงแป้งไม่มาก หรือ พื้นที่โซนที่มีลานรับซื้อจำนวนมากก็จะมีการแข่งขันราคารับซื้อ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งพื้นที่เกษตรกรปลูกและพื้นที่จะไปขายทำให้ราคาต่างกัน ถ้าอยู่ใกล้โรงแป้งซึ่งรับซื้อราคาสูงเกษตรกรก็จะขายได้ราคาสูง
ทั้งนี้ ลานรับซื้อส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในโซนภาคอีสานที่มีแหล่งปลูกมันสำปะหลังเยอะ โดยมากที่สุด จังหวัดนครราชสีมา รองลงมาจังหวัดกำแพงเพชร , ชัยภูมิ, กาญจนบุรี , อุบลราชธานี
จากปัญหาราคาส่งออกมันสําปะหลังร่วงหนักในช่วงนี้นั้น ดร.สิรทัศน์ เห็นว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น ต้องมีการนำมันสำปะหลังมาใช้ในประเทศไทยให้มีปริมาณมากขึ้น เพราะประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก จึงมีการผลิตในปริมาณที่เกินใช้ในประเทศ ดังนั้นเมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จากไทยลดปริมาณการสั่งซื้อมันเส้น จากปี 2566 จำนวน 4.6 แสนตัน ปี 2567 การซื้อลดปริมาณเหลือ 2 แสนตัน จึงทำให้สถานการณ์ราคามันสำปะหลังตกต่ำอย่างที่เห็น
"ส่วนการแก้ปัญหานั้น 1)ไทยจะต้องมีการหาตลาดใหม่เพื่อขยายตลาดส่งออกควบคู่ไปกับ และ 2)การเน้นให้ใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้เดิมไทยส่งออกในปริมาณ 70% ควรส่งออกลดลงเหลือ 50% ใช้ในประเทศ 50% ก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเกษตรกรมันสำปะหลังต้องการให้ช่วยเร่งด่วนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคามันสำปะหลังเนื้อแป้ง 25%ราคา 2.50 บาท/กิโลกรัม ขณะที่มันสำปะหลังมีต้นทุนการปลูกขั้นต่ำเฉลี่ย 2 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ขณะที่ปัจุบันราคามันสำปะหลัง อ้างอิงจากสำนักงานเศรษฐกิจการ เกษตร ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.83บาท/กิโลกรัม"ดร.สิรทัศน์ กล่าวย้ำ
พร้อมคาดการณ์ว่าปีนี้ฤดูกาลผลิต 67/68 หัวมันสดจะมีปริมาณ 22 ล้านตัน ขณะที่ปี 2567 ปริมาณมันเส้นส่งออกแค่ 2 ล้านกว่าตัน แป้งมันส่งออก 1.9 ล้านตัน ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง 6 ล้านตัน ส่วนฤดูกาลผลิตปี 66/67 ส่งออกได้ 8 ล้านตัน โดยปีก่อนหน้านั้น จำนวน 10 ล้านตัน
"เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์ใหญ่พาไปขาย ช่วงนี้มีนักการเมืองหลายคนฝั่งรัฐบาลที่เป็นเจ้าของโรงแป้ง โดยเฉพาะโซนโคราช,อุบลฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตีข่าวว่ากำลังพยายามไปเปิดตลาดที่จีน ว่าเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกฯทำ MOU กับจีนคำสั่งซื้อล่วงหน้า 5,300 ล้านบาท แต่ก็จะอาศัยระยะเวลานาน ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคามันสำปะหลังในช่วงนี้ก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพราะเพิ่งเก็บผลผลิตมันสำปะหลัง จึงทำให้ช่วงนี้ปริมาณในประเทศมีเยอะ แต่สักระยะหนึ่งปริมาณมันสำปะหลังในประเทศจะน้อยลง จึงมีความหวังว่าสถานการณ์หลังเดือนกุมภาพันธ์น่าจะดีขึ้น พร้อมๆไปกับที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้ในประเทศมากขึ้น"ดร.สิรทัศน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี