เกษตรกรชาวไร่อ้อยวอนรัฐเห็นใจได้รับผลกระทบหลังโรงงานโดนสั่งปิด เผยทุกวันมีค่าใช้จ่ายต้องนอนเฝ้ารถอ้อยไม่รู้จุดหมาย จริงๆควรตักเตือนกันก่อน เผยโรงงานไม่ได้โดนสั่งปิดแค่ให้หยุดบางจุดที่ยังมีปัญหาหรือยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรมโรงงาน แต่ส่วนอื่นยังมีการทำงานของพนักงานเป็นปกติ ขณะที่เลขาฯสมาคามชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ชาวไร่อ้อยทุกข์ใจตอนนี้มีรถอ้อยค้างเติ่งเกือบ 2,000 คันเกือบ 50,000 ตัน มูลค่าความเสียหาย 50 กว่าล้านบาทเศษ
วันนี้ (16 ม.ค.68) จากกรณีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ‘ทีมตรวจการ’ นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ โรงงานน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุด จากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 41,000 ไร่ โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้หยุดเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลเอาไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่โรงงานน้ำตาล บริษัทน้ำตาลไทยอุดรธานี จำจัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่าโรงงานยังไม่มีการปิดแต่อย่างใด มีคนงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังทำงานปกติ ส่วนที่บริเวณลานจอดรถบรรทุกอ้อยที่บริเวณลาน 2 และลาน 3 ข้างกับโรงงานน้ำตาลเต็มไปด้วยรถบรรทุกอ้อยทั้งรถพ่วง 18 ล้อ รถบรรทุก รถ 6 ล้อมีอ้อยที่เผาอยู่เต็มคันรถ ทราบว่ามีต่ำกว่า 2,000 คัน มีคนขับนั่งจับกลุ่มกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าทำไมโรงงานถึงโดนสั่งปิดไม่ให้นำอ้อยเผาเข้าโรงงาน
นายสุวัฒน์ เคนรั้ว อายุ 35 ปี เกษตรกรไร่อ้อยชาวอำเภอน้ำโสม บอกว่า ตนเองขับรถอ้อยมาจากอ.น้ำโสมมานอนที่หน้าโรงงาน 2 วันแล้ว ยังไม่รู้สาเหตุที่โรงงานถูกสั่งปิด เป็นแบบนี้ยอมรับชาวไร่อ้อยเดือดร้อน เราไม่รู้สาเหตุเกิดจากอะไร แต่ทุกคนที่อยู่ตรงนี้มีค่าใช้จ่าย อย่างตนเองได้ค่าจ้างขับรถ 1,000 บาท มาอยู่นี่ 2 วันเงินค่าจ้างใกล้หมดแล้ว ไหนจะลูกเมียอีก
"ตอนแรกที่เข้าใจคือที่มีการประชุมกันกับทางผู้ว่าฯ บอกว่าให้ 4 วันเคลียร์อ้อยเผาเข้าโรงงาน แต่ไม่เห็นเอาเข้าโรงงาน ต่อมาก็ได้ยินข่าวโรงงานสั่งปิด ก็ต้องรอแบบนี้ รอไปแบบไร้จุดหมาย บางคนมานอน 4-5 วัน ปัญหาผมว่าทางโรงงานฯ และทางรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ต้องคุยกัน ผมว่าหากให้เวลา 1 อาทิตย์รับรองอ้อยเผาที่ค้างอยู่นี่หมดแน่นอน ตอนนี้พากันกลุ้มใจไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หากจะไปขายที่อื่นก็ไม่ได้ ไม่รู้โรงงานจะซื้อไหม แล้วเราก็เป็นหนี้ด้วย ทำไมไม่ประกาศตั้งแต่วันแรกที่เปิดโรงงานว่าอ้อยไฟไม่เอาแล้ว ถ้าบอกเกษตรกรตั้งแต่แรกเราก็ทำได้ พวกเราอยากให้เจ้าหน้าที่ฯ ออกมาพูดคุยกับเกษตรกรไร่อ้อยหรือเจ้าของโควต้าจะดีกว่าไหม ว่าตอนนี้อ้อยเผาตอนนี้เหลือเท่าไหร่และทางทางออกร่วมกัน ไม่งั้นก็ค้างเติ่งแบบนี้ พวกเราอยากขอเวลาหน่อย 1 อาทิตย์หรือ 2 อาทิตย์เอาอ้อยเผาออก ผมคิดว่ายังไงก็หมดแน่นอน"
นายสำลี พรหมภักดี อายุ 61 ปี เปิดเผยว่า เป็นคนทำไร่อ้อยมาจากอ.นายูง ผมปลูกอ้อยเอง 20 กว่าไร่ มาส่งอ้อยได้แล้ว 3 วัน ผมก็ไม่รู้โรงงานปิด มาเมื่อวานรู้ก็ตกใจ ผมไม่รู้ว่าสาเหตุอะไรที่เขาไม่ให้เอาอ้อยเข้าโรงงาน ถามว่าพวกเราเดือดร้อนไหม เดือดร้อนแน่นอน เขาสั่งปิดโรงงานไม่มีการเตือนพวกเราเลย พออ้อยเข้าโรงงานไม่ได้ ก็อยู่โต้รุ่งแบบนี้ จะไปไหนก็ไม่ได้ไป นอนอยู่ในรถแบบนี้ อยากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ และเจ้าของโรงงานตกลงกันเร็วๆ ติดขัดตรงไหน หรือเป็นเพราะเหตุใด เคลียร์กันให้จบ อย่าให้คนปลูกอ้อยเดือดร้อน เหตุการณ์แบบนี้ผมไม่เคยเจอเลย มาอ้อยมาเกือบ 10 ปี ครั้งนี้คือครั้งแรก
ทางด้านนนายวรพจน์ บุรุษภักดี อายุ 68 ปี เลขาเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เผยว่า จริงๆ แล้วโรงงานส่งอ้อยเข้าโรงงานได้วันละ 35,000 ตัน แต่ปัญหาคืออ้อยไฟไหม้เราสะสม อ้อยไฟไหม้มาตั้งแต่ก่อนเปิดหีบอ้อยมาแล้ว โรงงานก็ตั้งใจติดตาม แต่ตัวเลขอ้อยไฟไหม้มันเพิ่มขึ้น วันที่เราพบผู้ว่าฯอุดรธานีพบว่าอ้อยไฟไหม้เกิน 43 เปอร์เซ็นต์ แต่ขอเวลา 2 วันเพื่อเร่งเอาเข้าโรงงานจนเกิดเหตุทางโรงงานหยุดชั่วคราวดังกล่าว
"ตอนนี้ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานไม่ได้ ตอนนี้ตกค้างประมาณ 2,000 คัน หากคันละ 25 ตันอ้อยก็ประมาณ 50,000 ตันค่าเสียหายประมาณ 54 ล้านบาท เพราะอ้อยไฟไหม้ถูกสะสมมาเรี่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดโรงงานวันที่ 6 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา พออ้อยไฟไหม้สะสมมันก็เกิน 25% หลังจากมีปัญหาเราก็ทำหนังสือขอไปยังผู้ว่าฯอุดรธานี ในฐานะประธานคณะกรรมกาอนุฯ กบ.เขต 10 ท่านผู้ว่าฯก็รับปากเคลียร์รถภายใน 2 วัน ตอนนี้มีรถอ้อยค้างประมาณ 2,000 คัน เพราะอ้อยไฟไหม้สะสมตกค้างไร่อ้อย บางคันนำอ้อยมา 4-5 วันแล้วยังไม่ได้เข้าโรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้ MOU กันว่า หากนำอ้อยไฟไหม้มาแล้วครั้งต่อไปต้องเป็นงวดตัดสด เกษตรกรชาวไร่อ้อยก็พร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัญหาของชาวไร่อ้อยใช่ว่าจะเกิดจากเผาอย่างเดียว บางทีเกิดจากอุบัติเหตุก็มี ไม่ได้เจตนาก็มี หากให้รออีก 3 วันรับรองอ้อยเน่าแน่ โรงงานก็ไม่เอาไม่รับซื้อเลย ผลก็จะตกต่อชาวไร่อ้อย หากอ้อยเน่าชาวไร่อ้อยจะเอาอ้อยไปทิ้งที่ไหน อยากจะวอนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยตรงนี้ก่อน ที่เหลือมาพูดคุยแต่บอกได้เลยชาวไร่อ้อยก็ยอมอยู่แล้วขอให้ผ่านตรงนี้ไปก่อน"
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี