“บอร์ด กพฐ.” ลงจ.น่าน ตรวจเยี่ยม ร.ร.จัดเด็กพิเศษเรียนรวมเด็กปกติ พบทั้งสำเร็จและล้มเหลว เตรียมเสนอ กพฐ.หาทางช่วยเหลือ
วันที่ 17 ม.ค. 2568 ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) นำคณะกรรมการ กพฐ. โครงการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกสถานที่ (กพฐ.สัญจร) จ.น่าน โดยแบ่งผู้บริหารเป็น 5 สาย ลงตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ โดย ศ.บัณฑิต เป็นสายที่ 3 นำคณะเดินทางตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านหนองรัง มิตรภาพ 107 จ.น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รับเด็กพิเศษเข้ามาเรียนรวมกับเด็กปกติ โดยมีเด็กพิเศษ จำนวน 43 คน เด็กปกติ 132 คน มี ผอ. 1 คน ข้าราชการครู 11 คน ครูพี่เลี้ยง 5 คน และมีครูจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดน่าน หมุนเวียนมาช่วยดูแล 3 คน
และตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 จ. น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รับเด็กพิเศษเข้าเรียนรวมด้วย โดยมีเด็กพิเศษ จำนวน 44 คน เด็กปกติ 170 คน เปิดสอนชั้นอนุบาล - ม.3 มี ผอ.1 คน ข้าราชการครู 14 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์อีดี โดยมีบริษัททรูฯ สนับสนุนโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์การเรียน โดยทางโรงเรียนได้นำโปรแกรม “เฮฮาภาษาสนุก” มาพัฒนาการอ่านให้กับเด็กพิเศษที่พูดไม่ได้เลย จนสามารถพูดและอ่านตามเสียงได้ จนเด็กสามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว
ส่วนเด็กระดับมัธยมฯ ทางโรงเรียนให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมการสร้างอาชีพให้มีรายได้ระหว่างเรียน เช่น การทำสบู่จากสนุนไพร การทำผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากใยพืช เช่น การทำกระถางต้นไม้ อิฐบล็อก ถุงกระกาษ กระดาษ จากฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือหญ้าคา เพื่อช่วยลดโลกร้อน และลดการเผา การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขาย การทำขนมเทียนแก้ว ทำน้ำกระเจี๊ยบ การทำผ้าพันคอ เสื้อแฟชั่น ถุงผ้า ที่นำใบไม้ ดอกไม้มาจัดวางบนผ้าแล้วตอกให้เป็นรูปใบไม้ดอกไม้ เพื่อเป็นสีสันพรรณไม้ สร้างลวดลายสู่อาชีพ รวมถึงทำ Smart Farm Model เป็นการนำเทคโนโลยีมาจำลองประยุกต์ใช้ในการเกษตร และสามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันหรือนำไปประกอบอาชีพได้ด้วย
ศ.บัณฑิต กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม โรงเรียนบ้านหนองรัง มิตรภาพ 107 และโรงเรียน บ้านทุ่งน้อย จ.น่าน ว่า ทั้ง 2 โรงเรียนมีลักษณะพิเศษ เป็นโรงเรียนร่วมที่มีเด็กพิเศษค่อนข้างสูงโรงเรียนต้องแบกรับภาระ แต่ทั้งสองโรงเรียนก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีมาก ที่น่าประทับใจคือผู้บริหารและครูมีความทุ่มเทและเสียสละมากไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถมีกิจกรรมดีๆมีคุณภาพให้ผู้เรียนและให้เราได้เห็นผลชัดเจนว่าเด็กสามารถทำได้จริง เช่น โรงเรียนบ้านหนองรัง มิตรภาพ 107 เด็ก สามารถไปเรียนต่อห้องกิ๊ฟเต็ดได้ ส่วนโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย เด่นที่กิจกรรมที่สามารถทำให้เด็กพิเศษและเด็กปกติทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น การร้องเพลงประสานเสียงกับเด็กปกติได้ การปลูกพืชผัก การทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ การที่โรงเรียนเน้นกิจกรรมก็เพื่อให้เด็กสามารถไปสร้างผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพได้
“ประทับใจกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและคุณครูมีความทุ่มเทและเอาใจใส่อย่างมาก ดีใจแทนเด็ก ๆที่ได้มาเรียนในโรงเรียนดีๆแบบนี้ ถึงแม้เด็กจะมีปัญหาส่วนตัว ปัญหาร่างกาย หรือมีปัญหาครอบครัวอยู่บ้าง และโรงเรียนต้องการรถตู้และบุคลากรและอุปกรณ์บางอย่าง แต่ทางโรงเรียนก็สามารถนำโปรแกรมมาส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความบกพร่องได้เรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีพลัง ผมมองเห็นศักยภาพที่เด็กจะสามารถต่อยอดไปได้เยอะมาก กพฐ.ก็จะรับฟังปัญหาเพื่อนำไปหาทางช่วยเหลือ และอยากให้ช่วยกันหาทางทำให้คนมาเห็นคุณค่าสิ่งที่เด็กทำออกมาได้อย่างไร และจะทำให้สิ่งที่เราเห็นนี้สามารถเชื่อมโยงกับตลาดระดับชาติ ระดับโลกได้อย่างไร“ ประธาน กพฐ. กล่าว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าว ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน ว่า เพื่อติดตามดูว่าตามบทบาทของสพฐ.ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากการที่สพฐ.ให้นโยบายและแนวปฏิบัติให้โรงเรียนไปแล้ว ก็ตามไปดูว่ามีปัญหาอะไร เพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุม กพฐ.จะได้ออกแบบการแก้ปัญหา และจากการลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพป.น่าน เขต 1 จัดการศึกษาระดับอนุบาล -ป. 6 มีนักเรียนอยู่ 31 คน มีครู 3 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน
“ที่เราเห็นปัญหาคือ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ ชั้น ป. 1 มีเด็ก 4 คน แต่เป็นเด็กพิเศษ 3 คน , ป. 2 มีเด็ก 4 คน เป็นเด็กบกพร่อง 2 คน ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ สพฐ.จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งนโยบายเรียนรวมระหว่างเด็กปกติกับเด็กพิเศษเป็นนโยบายที่ สพฐ.ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้เด็กพิเศษได้อยู่ในสังคมร่วมกันกับเด็กปกติ แต่อาจจะต้องให้ทีมการศึกษาพิเศษ และผู้รับผิดชอบทำการวิจัยหรือวิเคราะห์ดูว่าการเอาเด็กบกพร่องกับเด็กที่เรียนดีหรือเรียนเก่งมาอยู่ห้องเดียวกัน จะมีผลดีหรือไม่ดีอย่างไร หรือจะดึงเด็กที่เรียนได้เร็ว ทำให้ไปช้าลงหรือไม่ หรือเด็กพิเศษก็อาจจะต้องอยู่กับเด็กพิเศษด้วยกัน และหารูปแบบการศึกษาพิเศษ หรือพัฒนาครูพี่เลี้ยงมาดูแล ซึ่ง จ.น่าน มีโรงเรียนที่จัดเรียนรวมอยู่จำนวนมาก และทั้งประเทศ มีโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มี ผอ. โรงเรียนอยู่ประมาณ 2,000 กว่าโรง ดังนั้น ผมถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญที่สพฐ.จะต้องหารือกันในที่ประชุม กพฐ.ว่าจะช่วยอย่างไร กระทรวงศึกษาฯ หรือรัฐบาลจะต้องมีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร หากเด็กเหล่านี้จบ ป. 6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก เพราะจากที่ผมได้ทดสอบให้เด็กอ่านและจับใจความ เด็กที่บกพร่องไม่สามารถทำได้ เหตุที่เราเจอนี้ก็อาจจะต้องไปนั่งทบทวนกันว่าจะทำอย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้ เราพูดถึงโรงเรียนขนาดเล็กกันมานานพอสมควรแล้ว สพฐ.เองก็พยามคิดรูปแบบการเรียน การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก การทำโรงเรียนคุณภาพ แต่มีผู้ปกครองส่วนหนึ่ง ที่มีความพร้อมก็สามารถพาเด็กไปเรียนในเมืองได้ แต่ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาดความพร้อม ทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ก็ต้องเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลงมาดูแลจัดการการศึกษาให้เท่าเทียม ทั่วถึงและมีคุณภาพ นี่คือโจทย์ที่เราจะนำไปหารือกันในที่ประชุม กพฐ. ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเป็นวาระสำคัญที่ สพฐ. จะต้องคิด ถ้า สพฐ.ทำได้ก็จะทำเลย แต่ถ้าเกินอำนาจก็จะเสนอกระทรวงศึกษาฯ และรัฐบาล หรือร่วมมือกับหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ เช่น ระดับอนุบาลให้ท้องถิ่นรับไปจัดการได้หรือไม่ ส่วน สพฐ.ก็จัดการศึกษาระดับชั้น ป. 1 ถึง ม. 6“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
และว่าขณะนี้ สพฐ.มีโรงเรียนที่รับเด็กพิเศษเข้ามาเรียนรวมเด็กปกติ ประมาณ 2 หมื่นกว่าโรง เนื่องจากการศึกษาพิเศษมีข้อจำกัดในเรื่องอัตรากำลัง จึงดูแลเด็กได้เฉพระเด็กพิการหนักๆเท่านั้น และจังหวัดหนึ่งก็มีศูนย์การศึกษาพิเศษเพียง 1 ศูนย์ มีโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 1 โรง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1 โรง ในขณะที่เด็กพิเศษมีอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล จึงอาจจะต้องมาทบทวนแผนว่าเราจะดูแลเขาอย่างไร เพราะดูแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กพฐ.ต่อไป“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี