'กลุ่มเชิดชัย' จับมือ 'FOTON' ผลิตรถโดยสาร EV100% เตรียมโชว์รถต้นแบบคันแรกเมษายนนี้ ตั้งเป้าผลิตปีละ 500 คัน
วันนี้ (18 ม.ค.68) ที่บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่าง บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท Foton International Trade Co., Ltd., Beijing โดยมีนายอัสนี เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ลูกชาย “เจ๊เกียว” นางสุจินดา เชิดชัย เจ้าแม่วงการรถทัวร์ และนางกฤตตินี เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด และ MR.Hogan Liu (โฮแกน หลิว) รองประธานฯ และ MISS.Lina Li (ลินา ลี่) ผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท Foton International Trade Co., Ltd., Beijing สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจในการผลิตภัณฑ์รถบัสไฟฟ้าแบบวิ่งระหว่างจังหวัด Coach buses และแบบวิ่งในเมือง City buses ในประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า กลุ่มบริษัทเชิดชัยจะใช้เทคโนโลยีการผลิตตัวถังรถโดยสารเอง โดยจะซื้อแซสซีรถไฟฟ้าจาก FOTON เพื่อผลิตรถบัสไฟฟ้าสำหรับตลาดในประเทศไทย และตลาดในต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะมีการผลิตรถต้นแบบแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 นี้และคาดว่าจะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2568 จำนวนมากกว่า 200 คัน และจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตในปีต่อๆไป โดยมีเป้าหมายการผลิตที่ปีละมากกว่า 500 คัน ภายในระยะเวลา 3 ปี
นายอัสนี เชิดชัย ผู้บริหารบริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนายานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันคนหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2567 กลุ่มบริษัทเชิดชัย ซึ่งเป็นผู้ผลิตตัวถังรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ได้เริ่มเจรจาความร่วมมือในธุรกิจรถโดยสารกับ FOTON โดยได้จัดหาช่วงล่างรถโดยสารไฟฟ้า ทั้งแซสซี มอเตอร์ แบตเตอรี่ และคอนโทรลเลอร์ให้กับกลุ่มบริษัทเชิดชัย ขณะที่ตัวถังรถโดยสารจะถูกผลิตโดยกลุ่มบริษัทเชิดชัยในประเทศไทย ต้นทุนการผลิตรถโดยสารอีวี 100% อยู่ที่ประมาณคันละ 6 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายยอดขายรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทยสำหรับปี 2568 คือ 500 คัน
โดยกลุ่มบริษัทเชิดชัยได้ปรับตัวจากการผลิตยานยนต์พลังงานสันดาปมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งอู่เชิดชัยเริ่มพัฒนา และผลิตรถบัสโดยสารอีวี เพื่อสนับสนุน ขสมก.ในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คาดว่าพร้อมให้บริการรถโดยสารอีวี สาย 21 นครราชสีมา-กรุงเทพฯ เที่ยวแรกภายในเดือนเมษายนนี้และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากเดิมค่าโดยสารนครราชสีมา-กรุงเทพ ราคาค่าตั๋วเที่ยวละ 200 กว่าบาท หากเป็นรถบัสโดยสารไฟฟ้า สามารถปรับลดราคาเหลือเที่ยวละ 160 บาท
ด้าน MR.Hogan Liu (โฮแกน หลิว) รองประธาน บริษัท Foton International Trade Co., Ltd., Beijing สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า FOTON และกลุ่มบริษัทเชิดชัย ได้เจรจาความร่วมมือในธุรกิจรถโดยสาร โดยทาง FOTON ดำเนินการจัดหาช่วงล่างรถโดยสารไฟฟ้าให้กับกลุ่มบริษัทเชิดชัย ส่วนตัวถังรถโดยสารกลุ่มบริษัทเชิดชัยเป็นผู้ผลิต เป้าหมายยอดขายรถโดยสารพลังงานอีวีในปี 2568 นี้ประมาณ 500 คัน ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมรถโดยสารพลังงานอีวีระดับโลก และ FOTON ยังคงส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรม และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงและยกระดับ” ส่วนประเทศไทยเร่งสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยียานยนต์ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ และพัฒนาระดับอุตสาหกรรม และความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอู่เชิดชัยกับ FOTON ประเทศจีน เป็นสิ่งที่น่ายินดี ถือเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศหลายประการ ได้แก่ พัฒนาเปลี่ยนแปลงรถบัสโดยสารจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้ค่าโดยสารมีราคาถูกลง ลดมลพิษทางอากาศ และจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญมีการซื้อขายวัตถุดิบ ชิ้นส่วน อะไหล่ต่างๆ จากประเทศไทย ช่วยกระตุ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อผลิตแล้วใช้ได้อย่างมีคุณภาพ ก็จะมีการส่งออกไปยังประเทศภูมิภาค สร้างรายได้ให้ประเทศได้เพิ่มอีก - 001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี