20 ม.ค. 2568 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชำติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มูลนิธิรักษ์ไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ P.R.D. จัดเวทีสาธารณะ เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเฉพาะสำหรับผู้ประกอบอำชีพด้วยพาหนะสองล้อ ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ย่านวิภาวดี-หลักสี่ กรุงเทพฯ
นายพงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ ผู้รับผิดชอบโครงการ Healthy Rider เปิดเผยว่า จากจำนวนแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.3 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ ประมาณ 500,000 – 1,060,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4-5.5 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด ซึ่งอาชีพเหล่านี้เผชิญกับการคุกคามจากสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างสูง จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก เช่น การต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีความร้อยและฝุ่นละอองอย่างยาวนาน แรงกดดันทั้งจากแพลตฟอร์ม ร้านค้าและลูกค้า
สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเจ็บป่วย เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดเต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคระบบทางเดินหายใจ ปัญหาสายตา อาการปวดเมื่อยล้า ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต ที่สำคัญคือทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ไม่รู้สถานะทางสุขภาพของตนเอง จึงมีลักษณะอมโรค ไม่รู้ว่าตนเองป่วยอะไรบ้าง และแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองใดๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการตรวจสุขภาพของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ ที่ไปใช้บริการตรวจสุขภาพตามโครงการของ กทม. โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างไรเดอร์กว่า 700 คน และมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกกว่า 2,000 คน เมื่อปี 2567 พบประเด็นน่าเป็นห่วง 1.ภาวะอ้วนลงพุง โดยร้อยละ 53 พบระดับดัชนีมวลกาย (BMI) เข้าข่ายอ้วน ขณะที่ไขมันในช่องท้อง กว่า 3 ใน 4 มีปัญหาไขมันแทรกตับ แบ่งเป็นระดับเล็กน้อย ร้อยละ 34 ระดับอันตราย ร้อยละ 23 และระดับอันตรายมาก ร้อยละ 21
2.สุขภาพปอด พบกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 22.4 สมรรถภาพปอดผิดปกติ 3.สมรรถภาพการได้ยิน พบร้อยละ 63.4 ผิดปกติ 4.สุขภาพตา พบเกือบ 2 ใน 5 หรือร้อยละ 38 มีอาการของต้อลมหรือต้อเนื้อ และ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มีปัญหาเรื่องการมองระยะไกล ซึ่งเกิดจากการขี่มอเตอร์ไซค์โต้ลมและฝุ่นเป็นเวลานาน 5.อาการปวดเมื่อยล้า จากการต้องใช้ชีวิตบนมอเตอร์ไซค์อย่างยาวนาน ส่งผลต่อความยืดหยุ่นและเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ และ 6.สุขภาพจิต เช่น ความเครียด ซึมเศร้า พบร้อยละ 44 หรือเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพจิตแย่กว่าคนทั่วไป
ดังนั้นทางโครงการระหว่างวินมอเตอร์ไซค์กับไรเดอร์ จึงมีข้อเสนอ 4 ประการ คือ 1.การพัฒนาและขับเคลื่อนชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเฉพาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะ 2 ล้อ ร่วมกับการทดสอบระบบสุขภาพนำร่องในพื้นที่ กทม. และภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่เพียงการตรวจสุขภาพ แต่รวมถึงระบบส่งเสริม ป้องกันและช่วยเหลือ จะรองรับต่อเนื่องหลังจากที่ตรวจสุขภาพไปแล้ว
โดยมีสิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอ 6 ด้าน คือ 1.1 ซักประวัติการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น วัดความดัน เจาะน้ำตาลที่ปลายนิ้ว 1.2 ตรวจสภาพปอด 1.3 ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน 1.4 ตรวจสุขภาพตา หรือสมรรถภาพการมองเห็น 1.5 ประเมินความล้าจากการทำงาน และ 1.6 ตรวจประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น เช่น ภาวะเครียด ซึมเศร้า ซึ่งหลักคิดคือการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน โดยครอบคลุมเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม
2.การเสริมพลังและสมรรถนะของเครือข่ายแรงงาน 2 ล้อ ให้สามารถรวมกลุ่มขับเคลื่อนงานสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสวัสดิการสังคม ซึ่งการขับเคลื่อนงานสุขภาพไม่ควรละเลยแกนนำและชุมชนของผู้ประกอบอาชีพ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเจ้าภาพ 3.การสื่อสารความรู้เรื่องสุขภาพและสิทธิประโยชน์ที่ทันสมัยและเท่าทันประเด็นสุขภาพที่แรงงานสองล้อกำลังเผชิญ และการนำไปใช้สื่อสารหลากหลายช่องทางให้ครอบคลุม เพราะทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์เป็นกลุ่มที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและภูมิอากาศ
“เราอยากจะพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบการสื่อสาร ที่จะสามารถสร้างความรอบรู้ที่สอดคล้องกับวิถีแรงงาน 2 ล้อและครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสวัสดิการสังคม และเราหวังว่าหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิชาการ และสมาคมวิชาชีพต่างๆ จะเข้ามาร่วมในการพัฒนาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับวิถีของไรเดอร์และวินมอเตอร์ไซค์” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า และ 4.การบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายแรงงาน 2 ล้อ หลากหลายภาคส่วนในเชิงกลยุทธ์ ด้วยข้อมูลข่าวสาร บริการและทรัพยากร ให้สามารถสนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และขยายผลได้ เพราะลำพังการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับโครงการวิจัยไม่เพียงพอ ภาครัฐ ภาคเอกชนโดยเฉพาะแพลตฟอร์ม และภาคประชาสังคม จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพื่อให้การทำงานด้านสิทธิประโยชน์และองค์ความรู้เฉพาะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเคยเจอสมาชิกในวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา คือนั่งอยู่ดีๆ ก็น็อกไปเลย พวกตนที่นั่งอยู่ในวินพยายามช่วยกันปั๊มหัวใจแต่ก็ไม่สามารถช่วยไว้ได้ หรือบางคนพักผ่อนน้อย แม้คนในวินด้วยกันจะเตือนแต่กลับถูกย้อนถามว่าแล้วจะช่วยค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้หรือไม่ สุดท้ายก็เสียชีวิตเพราะขี่มอเตอร์ไซค์ไปแล้วเกิดหลับในไปชนท้ายรถประจำทาง
“ปัญหาสุขภาพทางจิตใจ ที่ผ่านมาวินเราเคยมีรายได้ แต่พอมีการแข่งขันทางบริษัทแพลตฟอร์มเข้ามา มันทำให้เรารู้สึกว่าขัดแย้งกัน ในใจผมไมได้ขัดแย้ง แต่คนที่อยู่ตรงกลางยังไมได้แก้ไขปัญหานี้ แต่วันนี้เราต้องขอบคุณทาง สสส. นะที่สามารถสนับสนุนให้เรามีแพลตฟอร์มเป็นของตนเองโดยไม่เอาเปรียบผู้ขับขี่ ตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็น่าจะทำให้เราเสร็จแล้ว อันนี้สิ่งสำคัญ ไรเดอร์ก็เหมือนกัน ถ้าได้แพลตฟอร์มเป็นของไรเดอร์เอง ไม่ต้องพึ่งพาเอกชน” นายเฉลิม กล่าว
นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า แพลตฟอร์มที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นสำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง สามารถนำไปใช้กับไรเดอร์ได้ ซึ่งเมื่อคนทำงานมีแพลตฟอร์มที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ สุขภาพจิตก็จะดีและช่วยให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ นอกจากนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีคนชายขอบที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก อย่างที่เคยเจอ นอกจากเขียนชื่อตนเองแล้วก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จะสมัครบริการอะไรก็ต้องให้คนอื่นช่วยทำให้ ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะหาเลี้ยงชีพในอาชีพอิสระ
แต่การเข้าถึงอาชีพอิสระอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเรื่องยากอีก อย่างตนเคยเสนอต่อทางการว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นทะเบียนคนประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น แต่ติดเงื่อนไขต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และโดยเฉพาะต้องหาเงินประกัน 2 แสนบาทมาวาง ซึ่งคำถามคือจะไปหาจากทีไหน เมื่อกฎระเบียบทำให้คนทำงานอิสระเช้าไม่ถึงสุดท้ายเขาก็เป็นคนผิด
นางธัญญ์นรี จารุประสิทธิ์ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในเรื่องค่ารอบของไรเดอร์ จ.กระบี่ น่าจะน้อยที่สุดในประเทศไทยแล้ว เช่น วิ่ง 3 งาน 30 บาท ทั้งที่ระยะทางไกล 10 – 20 กิโลเมตร อีกทั้งต้องแบกรับเสียงด่าว่าจากทั้งร้านค้าและลูกค้าที่ไม่เข้าใจ เพราะไม่มีหน่วยงานใดๆ หรือแม้แต่แพลตฟอร์มเองอธิบายว่าไรเดอร์ส่งอาหารช้าเพราะอะไร
“แม้แต่หน้าแอปพลิเคชั่นเอง เหมือนเวลาเรารับออเดอร์ซ้อนมา 3 ออเดอร์ ถ้ารับออเดอร์แรกเสร็จ หน้าแอปฯ จะขึ้นว่าไรเดอร์กำลังเอาอาหารไปส่งคุณ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรากำลังไปงานที่ 2 ทำให้ลูกค้าเขาไม่เข้าใจ ถามว่าไปอยู่ไหนมาเพราะบอกตั้งแต่ชั่วโมงที่แล้วว่ากำลังจะมา ไปหลงอยู่ตรงไหน พออธิบายว่ารับงานพ่วงก็ถามว่าจะรับทำไมงานพ่วง ซึ่งเขาไม่เข้าใจ เขานึกว่าไรเดอร์เลือกรับได้ แต่จริงๆ เวลาแพลตฟอร์มมันยิงมา มันมาทีเดียวเลย 3 งาน ถ้าเราไม่รับเท่ากับว่าเราพลาด 3 งานนั้นไปเลย” นางธัญญ์นรี ระบุ
นางธัญญ์นรี ยังกล่าวอีกว่า เมื่อพลาดงานไปเปอร์เซ็นต์ในการรับงานก็จะลด ทำให้โอกาสได้งานในครั้งต่อไปก็จะน้อยลง ซึ่งสภาพการทำงานแบบนื้ทำให้ไรเดอร์เครียดเพราะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งจากแพตฟอร์ม ร้านค้าและลูกค้า ในขณะที่รายได้ของไรเดอร์ก็น้อยลง
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงาน ตัวแทนกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ ยังมีการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเฉพาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะ 2 ล้อ ต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี