รมช.เกษตรฯ ล็อกซีลตู้คอนเทนเนอร์ทุเรียน เบิกฤกษ์ส่งจีนล็อตแรก 15 ตัน หลังโดนแบนสารแคดเมียม กำชับยึดหลัก 4 ไม่
วันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรฯ) เดินทางมาตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากภาคใต้ของไทย จำนวน 15 ตัน ส่งไปยังปลายทางประเทศจีน และตรวจติดตามการส่งออกทุเรียนปลอดสาร BY2 และแคดเมียม เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคชาวจีน มีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและคุณภาพสินค้า จึงกำหนดมาตรการ 4 ไม่ ประกอบด้วย 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ 4.ไม่สี ไม่สารเคมีต้องห้าม โดยมีเป้าหมาย Set Zero การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด ซึ่งทางรัฐบาลจีนอนุมัติให้ไทย จัดส่งทุเรียนไปได้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา และตู้คอนเทนเนอร์ล็อตนี้ ถือเป็นล็อตแรกที่จัดส่งทุเรียนไปยังจีน โดยใช้เส้นทาง R12 สปป.ลาว ผ่านไปยังด่านจาลอประเทศเวียดนาม ปลายทางที่ด่านโหย่วอี้กว่าน ประเทศจีน ใช้ระยะเวลาการขนส่งเพียง 2 วัน เนื่องจากเส้นทางสายนี้ สามารถย่นระยะทางได้มากกว่าเส้นทางอื่น
ทั้งนี้ แคดเมียม (Cadmium) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน ปัจจุบันแคดเมียมมีการปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะไปสะสมอยู่ที่ปอด ตับและไต และทำให้เกิดพิษโดยไม่รู้ตัว และจีนเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลด้านการส่งออกทุเรียนไปจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ส.ค.2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปแล้ว 714,334 ตัน มีมูลค่าถึง 94,870 ล้านบาท ดังนั้นการส่งออกทุเรียนไปยังจีน จึงถือเป็นรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจของไทย แต่ในปี 2567 ทางจีนได้มีการแจ้งเตือน การตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนไทยเกินกำหนดไว้จริง และเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค จีนจึงระงับการนำเข้าทุเรียนจากโรงงานบรรจุภัณฑ์ 15 แห่ง และสวนผลไม้ 18 แห่งในเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา
สำหรับเส้นทาง R12 เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งจากไทยสู่เวียดนาม และเข้าไปยังประเทศจีนที่สั้นที่สุด ถือเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อภาคอีสานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากด่านพรมแดนนครพนม ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม และเข้าสู่ด่านของจีนถึง 2 ด่าน เชื่อมผ่านจุดสำคัญของ 4 ประเทศ โดยแยกเป็น 2 เส้นทาง คือ 1.ด่านนครพนม(ไทย)-ด่านท่าแขก(ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ(เวียดนาม)-ด่านหูหงิน-ด่านตงซิน(จีน) ส่วนเส้นทางที่ 2 ด่านนครพนม(ไทย)-ด่านท่าแขก(ลาว)-ด่าน้ำพาว-ด่านจาลอ(เวียดนาม)-ด่านหม่องก่าย-ด่านตงซิน(จีน)
โดยทั้ง 2 เส้นทาง สามารถเชื่อมต่อกันได้ที่ด่านโหย่วอี้กว่าน และ ด่านตงซินของจีน ทั้งยังมีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นๆอีกหลายสาย เช่นน ทางหลวง AH1 ซึ่งเป็นทางหลักมุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอย และเขตเศรษฐกิจอื่นของเวียดนามตอนกลาง และเชื่อมต่อกับโฮจิมินห์ไฮเวย์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่เวียดนามตอนเหนือและตอนใต้
ทั้งนี้ เส้นทาง R12 ในลาว มีระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร เท่านั้น ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าอุปโภค บริโภค ผลไม้ ฯลฯ เบนเข็มมาส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) โดยเฉพาะการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน เป้าหมายคือด่านโหย่วอี้กว่าน เพื่อไปกระจายสินค้าที่ตลาดเจียงหนาน ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของตลาดผลไม้ของไทย ไปยังภูมิภาคอื่นๆของจีน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี