เจาะศึกเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์เดือด ฟันธง “ภูษิต” หลาน “เนวิน ชิดชอบ” เข้าวิน นายกฯ “ค่ายส้ม”โดดแย่งเก้าอี้ ส.อบจ.
สำหรับศึกเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 42 เขตเลือกตั้ง 2,645 หน่วยเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอ 2,546 หมู่บ้าน มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 5 คน ถูกตัดสิทธิรับสมัคร 1 คน เหลือผู้สมัครนายก อบจ. 4 คน ประกอบด้วย หมายเลข 1 นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์, หมายเลข 2 นางสาวพิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ, หมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 และ หมายเลข 4 นายภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา เป็นหลานชายของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ลงสู้ศึกในนามทีมกลุ่ม “ฅนบุรีรัมย์”
ส่วนผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขตเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอของ จ.บุรีรัมย์ มีทั้งสิ้น 182 คน ถูกตัดสิทธิรับสมัคร 2 คน เหลือผู้สมัคร ส.อบจ.บุรีรัมย์ 180 คน ได้แก่ ผู้สมัคร ส.อบจ.บุรีรัมย์ ในนามทีมกลุ่ม “ฅนบุรีรัมย์” 42 คน ลงสมัครครบทั้ง 42 เขตเลือกตั้ง เป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ กว่า 30 คน และผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนาม “พรรคประชาชน (ปชน.)” จำนวน 9 คน ส่งสมัครใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ที่เหลือเป็นผู้สมัคร ส.อบจ.บุรีรัมย์ ในนามอิสระ จำนวน 129 คน ใน 42 เขตเลือกตั้ง 23 อำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง อดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ รวมทั้งข้าราชการบำนาญ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร และ ผู้นำชุมชน
มาวิเคราะห์เจาะลึก ผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ทั้ง 4 คน ว่ามีดีเด่นดังอะไรบ้าง และกระแสประชาชนชาวบุรีรัมย์จะเลือกใครเข้ามาเป็นนายก อบจ.บุรีรัมย์ ในครั้งนี้
เริ่มที่ “นายการุณ ใสงาม” อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมาตลอดและเป็นการลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งแรก เพราะต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่นของบุรีรัมย์ รวมถึงเข้าไปทำหน้าที่ปราบทุจริตในทุกรูปแบบ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครปราบปรามการกระทำทุจริตอย่างจริงจัง รวมถึงอยากเข้ามาดูแลสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ด้านคู่แข่งที่คาดว่าจะเปิดศึกสู้กันอย่างเข้มข้น คือ “นายภูษิต เล็กอุดากร” อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์สมัยที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหลานชายของ “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้สมัครนายก อบจ.หมายเลข 4 ในนามทีมกลุ่ม “ฅนบุรีรัมย์” ขออาสามารับใช้พี่น้องประชาชนอีกครั้ง ที่มีฐานคะแนนแน่นปึ้กในแทบทุกพื้นที่ของ จ.บุรีรัมย์ ฐานคะแนนหลักเป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ นายกเทศมนตรี และ อบต. โดยการเลือกตั้งคราวที่แล้วได้คะแนนมาท่วมท้น 439,547 คะแนน แต่ศึกครั้งนี้การเลือกตั้งยังไม่จบสิ้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
นายภูษิต กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และไม่รู้สึกหนักใจเพราะการเมืองต้องมีคู่แข่งอยู่แล้ว เราแข่งขันกันโดยประชาธิปไตยไม่มีอะไร ส่วนเรื่องนโยบายจะสานต่อนโยบายเก่าที่ได้ทำไว้ และเพิ่มอีกนโยบายในเรื่องน้ำดื่ม น้ำสะอาด ของพี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ และมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะไม่มีความรุนแรง เพราะเราหาเสียงโดยความชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จ.บุรีรัมย์เราหาเสียงกันแบบแฮปปี้ ไม่มีอะไรที่จะต้องมาใช้ความรุนแรง
ส่วนในตัวผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขต มั่นใจเพราะว่าผู้สมัครของเราแต่ละคนลงพื้นที่หนัก โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดี ส่วนจะมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาหาเสียงในพื้นที่หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่เราหาเสียงในนามของ “ฅนบุรีรัมย์”
ขณะที่ผู้สมัครนายก อบจ.อีก 2 คน แม้ชื่อเสียงไม่โด่งดัง และไม่เคยผ่านสนามการเมืองท้องถิ่นมาเลยอย่าง หมายเลข 2 “นางสาวพิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ” ผู้สมัครอิสระ กับ หมายเลข 3 “นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์” อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 ได้คะแนน 21,697 คะแนน ที่ไม่ค่อยคาดหวังอะไรมากนักกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ขออาสามาเป็นตัวเลือกใหม่ในการตัดสินใจของพี่น้องชาวบุรีรัมย์ ซึ่งหลายคนมองว่าทั้ง 2 คนเป็นเพียงไม้ประดับ หวังคะแนนสงสารจากประชาชนทั้ง 23 อำเภอ เลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหาร อบจ.บุรีรัมย์
ดังนั้น ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.บุรีรัมย์ครั้งนี้ จึงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง “นายภูษิต” กับ “นายการุณ” ซึ่งทั้งสองต่างเป็นนักการเมืองในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบนั้นต้องฟันธงไปที่เต็งหนึ่ง อย่าง “นายภูษิต” หลาน “เนวิน” ที่มีภาษีดีกว่าเกือบทุกด้าน แต่ “นายการุณ” ถือได้ว่าเป็นผู้สมัครอิสระที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน
ขณะที่ ศึกชิงเก้าอี้ ส.อบจ.บุรีรัมย์นั้น พรรคประชาชน (ปชน.) แม้ไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ แต่ได้ส่งผู้สมัคร ส.อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 9 คน ใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ทำให้มีการแข่งขันดุเดือดในหลายเขตเลือกตั้ง ระหว่างผู้สมัคร “กลุ่มคนบุรีรัมย์” ของนายภูษิต หลานเนวิน กับผู้สมัครของ “พรรคประชาชน” เพราะมีการแบ่งขั้วการเมืองกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 ทางพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันคือพรรคประชาชน ก็มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใน จ.บุรีรัมย์มากเป็นอันดับหนึ่งด้วย จึงโดดลงสนามแบ่งเก้าอี้สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในครั้งนี้
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.บุรีรัมย์ และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ครั้งนี้ ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง จะมีการส่งทีมงานเข้าไปเจาะหาผู้นำในชุมชน หมู่บ้านให้ช่วยเป็นหัวคะแนน เพื่อเจาะฐานเสียงคู่แข่งโดยอาศัยญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิด ซึ่งเป็นระบบคะแนนจัดตั้งที่ใช้ได้ผลมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ผลการเลือกตั้งจะออกมาในรูปใด คงต้องรอในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าพี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์จะเลือกใครเป็น “นายก อบจ.บุรีรัมย์” เข้ามาทำงาน และเลือกสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 คน เข้ามาเป็นปากเสียงในสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี