กทม.ฝุ่นแดงเถือก
อันตรายต่อสุขภาพ
ยืด WFH ถึง 24 ม.ค.
สธ.ออก 5 กฎคุมเข้ม
ฝุ่น PM2.5 แดงเถือก ทั่วกทม.เขตหนองแขม หนักสุด 146 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เตือนงดกิจกรรมกลางแจ้ง ด้าน‘สมศักดิ์’ สั่ง สธ.ทั่วประเทศ รับมือฝุ่น PM2.5 เข้ม 5 มาตรการ พร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง จ่อชง ครม. ให้หน่วยงานรัฐนำร่อง WFH ขณะที่ กทม.ขยายเวลา WFH ตั้งแต่ 22-24 ม.ค.นี้
เมื่อวันที่ 21 มกราคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือGISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม รายชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชั่น“เช็คฝุ่น” พบว่าทุกพื้นที่ของ กทม.มีค่าฝุ่นPM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ (สีแดง) โดยค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด คือเขตหนองแขม 146.5ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ด้านของภาพรวมประเทศไทยพบค่าฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง และพบค่า PM2.5 เริ่มผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
ด้านศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 43.2-94.6 มคก./ลบ.ม.เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 75.1 มคก./ลบ.ม.) 3 พื้นที่คือ 1.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม81มีค่าเท่ากับ 94.6 มคก./ลบ.ม.
2.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 มีค่าเท่ากับ 78.5 มคก./ลบ.ม.และ 3.เขตสายไหม ป้ายรถโดยสารประจำทาง หน้าสำนักงานเขตสายไหม มีค่าเท่ากับ 76.1 มคก./ลบ.ม.แนะประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ ให้เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม คือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) รวม 67 พื้นที่
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อความถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนี้1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2568 เตรียมความพร้อม และดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2172/2567 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2567อย่างเคร่งครัด 2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น
3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสียง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชนในพื้นที่ 4.ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น รวมทั้งจัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่องทางต่างๆและ5.ให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูก จึงขอให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้เตรียมนำแนวทางป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าและหากประชาชนไม่ทำงานในที่โล่งแจ้ง หรือประชาชนได้ Work From Home (WFH) เชื่อว่าฝุ่น PM2.5 จะลดลง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการ หากแสบตา ตาแดง คัดจมูก มีน้ำมูก แสบคอ ไอแห้ง ผื่นขึ้นหรือคันตามร่างกาย อาจเกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณมากเกิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มจะให้ WFH หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จะเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมครม.ซึ่งเราดูปริมาณฝุ่นที่มากเป็นสีแดง ระดับ 75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเตรียมพร้อมและคิดว่าจะทำเป็นแนวทางไว้เพื่อให้หน่วยงานราชการอื่นตัดสินใจ เมื่อถามว่าหากนำเข้า ครม.หน่วยงานรัฐจะนำร่องก่อน เพื่อให้ภาคเอกชน ร่วมดำเนินการใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานราชการไม่มีคำสั่ง หรือเป็นมติ ครม.ชัดเจน การตัดสินใจให้ WFHอาจจะผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคเอกชน ก็คงจะตามกันมา เรื่องฝุ่นละอองและความปลอดภัยตรงนี้ไม่ใช่ของส่วนราชการดำเนินการเพียงอย่างเดียวภาคเอกชนและผู้ประกอบการก็มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ต้องดำเนินการไม่ให้ประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วย
ต่อข้อถามว่า จะประกาศ WFHทั่วประเทศหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าไม่เกินระดับสีแดงขึ้นไป ก็สามารถใส่หน้ากากป้องกันได้ ส่วนระยะเวลา work from home ขึ้นอยู่กับตัวเลขค่าฝุ่น ซึ่งดูจากแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีการตรวจวัด
ขณะที่ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานคุณภาพอากาศภาพรวมปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศ พบเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลพบบางพื้นที่ฝุ่นละอองเริ่มอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สำหรับพื้นที่ภาคกลาง/ตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์โดยรวมเกินเกณฑ์มาตรฐานหลายจังหวัดเช่นเดียวกัน โดยภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 12.5-86.3มคก./ลบ.ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 33.6-66.4มคก./ลบ.ม.ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 33.5–93.2มคก./ลบ.ม.ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 33.5-74.7มคก./ลบ.ม.ภาคใต้ ตรวจวัดได้ 15.0 – 59.9มคก./ลบ.ม.กทม.และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 46.1–107.4มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ ศกพ.ขอย้ำการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม 2568 มีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่อื่นซึ่งต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ได้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
อีกด้านหนึ่งนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติม ในวันที่ 22-24 มกราคม 2568 เพื่อลดการเดินทาง ลดปริมาณรถยนต์ในภาคการจราจรซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของฝุ่นในกทม.เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยพบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขต ดัชนีคุณภาพอากาศระดับสีส้ม 50 เขต ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศ มีระดับสีแดง 2 เขต สีส้ม 48 เขต และจากการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 22-24 มกราคมนี้ พบว่า1.มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2.อัตราการระบายอากาศไม่ดี คืออยู่ระหว่าง 875 - 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) โดยวันที่ 22 มกราคม คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,750 m2/s วันที่ 23 มกราคม คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,125 m2/s วันที่ 24 มกราคม คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 2,125 m2/s
3.คาดการณ์ทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4.จุดเผาภาคกลาง/ตะวันออก 5 วันติดต่อกัน (11- 15 มกราคม 2568) เกินวันละ 80 จุด ทั้งนี้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่ยังคงปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว และเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 25-27 มกราคม 2568 เนื่องจากมีอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น
ด้านความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ปัจจุบันมีหน่วยงานร่วมเป็นเครือข่าย WFH กับทางกรุงเทพมหานคร 278 บริษัท รวม 96,307 คน คิดเป็น 48% จากเป้าหมาย 200,000 คน โดยหน่วยงานที่สนใจร่วมเป็นเครือข่าย WFH เพื่อลดฝุ่นจากการเดินทางสามารถลงทะเบียนผ่านลิงก์https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2951
ในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษาได้จัดทำแนวปฏิบัติและแนวทางการป้องกันฝุ่นและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยให้ผู้บริหารใช้ดุลยพินิจปิดโรงเรียนตามสถานการณ์ฝุ่นและเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของนักเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครประกาศคำสั่งปิดโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูง และคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว รวม 21 โรงเรียน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี