สทนช.จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามครั้งที่ 3 ขณะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบออกออกแถลงการณ์คัดค้านหวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมสุนีแกรนด์ จ.อุบลราชธานี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) ได้จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ซึ่งเป็นการจัดเวทีครั้งที่ 3 จากทั้งหมด 4 เวที โดยมีว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์นาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเปิดงานว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นและหารือล่วงหน้า (PNPCA) ได้เริ่มเมื่อปี 2563 แต่ชะลอมาเนื่องจากขาดข้อมูล ขณะนี้มีข้อมูลค่อนข้างเพียงพอที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 และจะจัดอีกครั้งคือวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ที่ จ.บึงกาฬ จากนั้นก็จะจัดทำเอกสาร reply form ของประเทศไทยส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS)
ท้าวสีวันนะกอน มะนีวัน ผู้แทนสำนักงานแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว (LNMC) กล่าวว่า เวทีนี้สำคัญที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ 4 ประเทศ ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา ที่มีสัญญาแม่น้ำโขง 1995 (ข้อตกลงแม่น้ำโขง Mekong Agreement) ซึ่งระเบียบ PNPCA กำหนดให้แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง MRCS ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนสานะคาม ว่าเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า มี turbine ผลิตไฟฟ้า 12 ตัว น้ำไหลผ่านประมาณตัวละ 500 ลบม. เมื่อเดินเครื่อง มีช่องระบายตะกอน ทางผ่านปลาแบบจำลองธรรมชาติ สมมุติฐานในเหตุการณ์รุนแรง หากผู้พัฒนาโครงการฯ ดำเนินการระบายน้ำพร้อมๆ กันทุกเครื่อง จะเกิดผลกระทบท้ายน้ำรุนแรง จากแบบจำลองคณิตศาสตร์จะพบว่าหากเขื่อนพยายามกักเก็บน้ำ จะทำให้น้ำในแม่น้ำโขงท้ายน้ำจากเขื่อนจะลดลง 1.5 เมตร และเมื่อระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า แม่น้ำโขงจะเพิ่มระดับขึ้น 1.2 เมตร ดังนั้นในหนึ่งวันอาจเกิดการผันผวนของระดับน้ำโขงถึง 2.7 เมตร การกรรโชกของน้ำจะมีผลต่อตะกอนแม่น้ำโขง ทั้งการทับถมและกัดเซาะ กรณีน้ำไหลเร็วจะสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของตลิ่ง ปัจจัยความปลอดภัยลดลงทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (คือ อ.เชียงคาน จ.เลย ลงไปจนถึง จ.หนองคาย)
สำหรับการนำเสนอข้อคิดเห็นรายการทบทวนด้านเทคนิคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นำเสนอโดยผู้แทน MRCS ระบุว่าจะมีประชาชนอย่างน้อย 27,490 คน จาก 41 หมู่บ้าน ตลอดริมฝั่งโขง ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนสานะคาม มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจะได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ของประชาชน คือ แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน และพันโขดแสนไคร้ อ.สังคม จ.หนองคาย ข้อคิดเห็นคือต้องศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งกลไกสื่อสารที่ชัดเจนกับชุมชนท้ายน้ำ เพื่อความปลอดภัยทั้งในระหว่างการก่อสร้างและใช้งานเขื่อน
รศ.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอออนไลน์ว่าเขื่อนสานะคามจะกระทบต่อนิเวศแม่น้ำโขง การอพยพของประชาชน เกิดผลกระทบทางสังคม ความเหลื่อมล้ำของรายได้เนื่องจากผู้ที่เคยมีรายได้จากแม่น้ำโขงต้องสูญเสียรายได้ และอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น ผลกระโยชน์ของชาติ คือเขตแดน สันดอนที่เป็นข้อตกลงระหว่าง
ประเทศเสียหาย กระแสน้ำโขงที่ผันผวน (เนื่องจากการใช้งานเขื่อน) กระทบต่ออาชีพ รายได้ และหนี้สินของครัวเรือนที่ยากจน ผลกระทบต่อสุขภาวะ อาจเกิดโรคอุบัติใหม่จากการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน แรงงานที่เข้ามา ควรมีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสุขภาวะ มีข้อเสนอให้ทบทวนจัดทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันประเมินมูลค่าว่าผลได้ผลเสียเป็นอย่างไร ประมาณการว่าปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีงบประมาณแก้ไขอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่ในห้องประชุมดำเนินรายการไปตามกำหนดการ มีประชาชนกว่า 150 คนจากเครือข่ายจับตาน้ำท่วมอุบลและเครือข่ายชุมชนริมน้ำโขง ได้รวมตัวกันอยู่ที่โถงนอกห้องประชุม เนื่องจากห้องประชุมที่ได้จองไว้ถูกโรงแรมขอเลื่อนออกไปทั้งที่จ่ายเงินครบทั้งหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านสวมผ้าสีเขียว มีป้ายข้อความต่างๆ เช่น หยุดเขื่อนน้ำโขง หยุดค่าไฟแพง ปกป้องน้ำโขงคนและปลา หยุดเวทีจอมปลอมหลอกคนแม่น้ำโขง ฯลฯ โดยที่หน้าห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ อส. ประมาณ 10 นาย ยืนกันพื้นที่ไว้ไม่ให้เข้าไปได้
เวลาประมาณ 10.45 น. นายสุรสีห์ และรองผู้ว่าราชการฯ ได้ออกมาพบกับประชาชนกลุ่มดังกล่าวและแจ้งว่า (สำหรับกรณีที่โรงแรมได้แจ้งยกเลิกเวทีคู่ขนานของประชาชน ที่ได้จองห้องประชุมติดกันกับสทนช.) มีข้อกังวลว่า เป็นเวทีของ MRC สมาชิก 4 ประเทศ จะถูกมองว่าทำไมประเทศไทยจัดเวทีแล้วมีอีกเวทีอยู่โรงแรมเดียวกัน ภาพลักษณ์จะดูไม่ดี นอกจากนี้เรามีช่องทางต่างๆ หลายช่องทางที่จะเข้าร่วม
“การทำเวทีไม่สามารถเอาคนเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านเข้าไปได้ เรามีช่องทางออนไลน์ให้ท่านสามารถแสดงความคิดเห็น จะบอกว่าให้หยุดสร้างเขื่อนก็แสดงความคิดเห็นได้ ว่าด้วยเหตุผลอะไรอย่างไร” เลขา สทนช.กล่าว
ขณะที่น.ส.ธัญญาภรณ์ สุรภักดี หัวหน้าโครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย(JET in Thailand) ซึ่งเดิมทีจะมาเป็นวิทยากรในเวทีคู่ขนาน แต่เวทีดังกล่าวถูกยกเลิก กล่าวว่า ตนมองว่าประเด็นสำคัญที่ควรหารือในเวที คือ ความจำเป็นของการสร้างเขื่อนสานะคามซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทย หากพิจารณาข้อมูลจะพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยล้นเกินค่ามาตรฐาน (ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15%) มาโดยตลอด นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้โฆษกกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่าปัจจุบันกำลังการผลิตสำรองอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ไม่ใช่ 50% เพราะจะนำพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมารวมเต็มกำลังการผลิตไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ในแง่การนำมาคำนวณต้นทุนค่าไฟ ได้รวมกำลังการผลิตทุกประเภท ทั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนเข้ามาทั้งหมด
น.ส.ธัญญาภรณ์กล่าวว่า หากในอนาคตพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตสำรองลดลง และจำเป็นต้องจัดหาไฟฟ้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความมั่นคง ก็ยังมีทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีศักยภาพและประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ผลิตได้ โดยไม่ต้องผูกขาดอยู่กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เท่านั้น หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
“สำคัญที่สุด คือกระบวนการรับฟังความเห็นต่อเขื่อนสานะคาม ไม่ได้นำทางเลือกของการไม่มีโครงการมาพิจารณาร่วมด้วย ทั้งที่เป้าหมายสูงสุดของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าคือเพื่อหลีกเลี่ยง/ลด/บรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน วันนี้เวทีเราจึงเห็นว่าเป็นการรับฟังความเห็นแบบที่จำต้องเลือกทางนี้เท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กล่าว
ขณะที่เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักและน้ำสาขาได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า ในเวทีนี้ประชาชนไม่สามารถจะส่งเสียงว่า “หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะข้อตกลงใด ๆ ภายใต้เอ็มอาร์ซี ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้เสียงข้ามพรมแดน แต่เป็นกลไกสนับสนุนการสร้างเขื่อนอย่างชอบธรรม
“เลวร้ายไปมากกว่านั้น การมาของพวกเรา เพื่อจัดเวทีคู่ขนานเพื่อใช้สิทธิ์ของเราในการส่งเสียง กลับถูก สทนช. ใช้วิธีสกปรก บอกโรงแรมให้กีดกันคนอุบลและพี่น้องพันธมิตรไม่ให้ทำเวทีแสดงความคิดเห็นของเราเองในจังหวัดของเราเอง การกระทำที่ไร้ยางอายนี้ ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่า เวทีที่อ้างว่าอยากฟังเสียงประชาชนนี้คือนี้คือเวทีอะไรกันแน่ และทำเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่แค่ทำให้เขื่อนสานะคามสร้างขึ้นได้อย่างมีความชอบธรรมเท่านั้นเอง”แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ระบุว่า ชาวบ้านขอประกาศว่า 1. ขอคัดค้าน ทุก ๆ กระบวนการที่จะไปจบลงที่การสร้างเขื่อนสานะคาม เขื่อนพูงอย และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักเพื่อผลิตไฟฟ้า 2.หากมีการสร้างเขื่อนใหม่ในพื้นที่ประเทศลาว การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคงยิ่งเป็นไปไม่ได้ หรือยากลำบากขึ้นเป็นพันเท่า 3. เวทีของสทนช.ในวันนี้ เป็นกระบวนการในกรอบข้อตกลงแม่น้ำโขงของเอ็มอาร์ซี ที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมมาแต่แรก สร้างความสับสนและแตกแยกในหมู่ประชาชน
“พวกเราประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงและน้ำสาขา จึงขอประกาศคัดค้านและขอปฎิเสธเวทีจอมปลอม หลอกลวงประชาชนเวทีนี้อย่างเด็ดขาด ข้อมูลผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงที่ สนทช. เองก็รู้อยู่แก่ใจ และมีอยู่มากที่สุด จะต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องหยุดการสร้างเขื่อนทำลายแม่น้ำโขงให้ได้ และหยุดให้ได้ทันที”แถลงการณ์ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี