กลุ่มชาติพันธุ์ไทแสก ต.อาจสามารถ เตรียมงานบวงสรวง ‘โองมู้’ บรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ร่วมตกแต่งปากซอยสวยงาม รับวันปีใหม่ชนเผ่า ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ทุกปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (ชยางกูร) ช่วงบริเวณ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม โดยมีพื้นที่ติดกับเขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทแสก ชาวบ้านต่างขะมักเขม้นพร้อมใจกันตกแต่ง ประดับประดา ปากซอยของตนเองอย่างสวยงาม เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชนเผ่าตน ณ ศูนย์กลางริมแม่น้ำโขง ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ บ้านอาจสามารถ หมู่ 4 ต.อาจสามารถ ซึ่งเป็นงานประเพณีวันรวมใจไทแสก ประจำปี 2568 ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 30 มกราคม เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีชาวไทแสก 1 ใน 9 ชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ที่มีบันทึกถึงถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม ก่อนจะอพยพถอยร่นลงมาถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว แล้วข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม
สอบถามนางคมสิน กวดลาว อายุ 65 ปี หัวหน้าซอยบุตรดีปฐม เล่าว่าซอยบ้านอาจสามารถมีทั้งหมด 11 ซอย ทะลุเข้าไปถึงริมแม่น้ำโขงได้ทุกซอย โดยศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้อยู่ที่บ้านอาจสามารถ หมู่ 4 ถือเป็นประจำทุกปีที่ลูกหลานของโองมู้ จะพร้อมใจกันตกแต่งปากซอยของตน เพื่อร่วมฉลองวันปีใหม่ชาวไทแสก เดิมทีก็ประดับประดารับปีใหม่กันเฉพาะในชุมชน ต่อมาทางราชการเห็นความสำคัญ จึงแนะนำให้มีการประกวดซอยชิงรางวัล จึงกลายเป็นจุดเช็คอินในยามค่ำคืนด้วยแสงไฟหลากสี
วันงานจะเริ่มในวันที่ 29 มกราคม ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันตรุษจีนของชาวจีน ลูกหลานโองมู้จะตั้งขบวนแห่ตรงปากซอยเพื่อเคลื่อนไปยังศาล แสดงออกถึงความเคารพและนับถือซึ่งดวงวิญญาณโองมู้ บรรพบุรุษที่ชาวไทแสกให้ความเคารพสักการะ ร่วมประกอบพิธีกรรมการกินเตรดเดน เป็นภาษาไทแสกหมายถึงพิธีไหว้บรรพบุรุษ คล้ายประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน ชาวไทแสกมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ก่อให้เกิดความรักความผูกพัน สร้างจิตสำนึกและหวงแหนในวัฒนธรรมของตน มุ่งสอนให้ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่กว่า มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเป็นการพบปะสังสรรค์กันทุกครัวเรือน โดยในวันที่ 30 มกราคม ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ชาวชาติพันธุ์ไทแสก ก็จะแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า เฉลิมฉลองวันปีใหม่ของตนอย่างสนุกสนาน
ตามประวัติไทแสกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดในภาษาไต คำว่า ‘แสก’หมายความว่าแจ้งหรือสว่าง เป็นภาษาตระกูลไตที่เก่าแก่ที่สุด และปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบของภาษาดั้งเดิมไว้ปัจจุบันยังมีชนชาติพันธุ์แสกที่ยังอยู่แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และตามคำบอกเล่าของชาวไทแสก ต.อาจสามารถ เผยว่ายังมีชาวแสกที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองสอง ประเทศเวียดนาม คาดว่าถิ่นฐานดั้งเดิมชาวแสกน่าจะอยู่แถบบริเวณลุ่มน้ำโขงในประเทศจีนและเวียดนาม ภายหลังได้อพยพหาภูมิประเทศเหมาะสมกับการทำมาหากิน เนื่องจากเป็นชนชาติพันธุ์ที่มีความอุตสาหะบากบั่นในการประกอบอาชีพมาตั้งแต่อดีต
ชาวไทแสกยังคงยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิม โดยเฉพาะภาษาชาวไทแสกส่วนใหญ่ก็ยังใช้ภาษาของตนเองในการสื่อสาร ยึดมั่นในประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และยังคงมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์โด่งดังไปทั่วโลก คือประเพณีเต้นสาก ที่เป็นที่รู้จักไปว่าแสกเต้นสาก ส่วนอาหารจะเน้นเมนูปลาเป็นหลัก และของว่างที่นิยมทำต้อนรับแขกผู้มาเยือนคือเมี่ยงตาสวด
ต่อมารำแสกเต้นสาก ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานราชการ เพื่อให้ดำรงคงอยู่เป็นสมบัติของชาวไทแสกตลอดไป ปัจจุบันมีให้ชม ในวาระสำคัญของ จ.นครพนม เช่นมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน หรือเทศกาลอื่นๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
- 026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี