ปลัดกทม.เผยพร้อมแล้วสำหรับการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ดีเดย์ 23 ม.ค. นี้ โดยร่วมจัดงานเป็นกรณีพิเศษที่สยามพารากอน
วันที่ 22 ม.ค. 68 พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครพร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์และครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568
โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีความพร้อมในทุกด้านในการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแก่ประชาชนในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.68) ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ซึ่งหลายสำนักงานเขตได้จัดเตรียมของที่ระลึก เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักที่ได้รับความเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมจัดงานและให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่สยามพารากอน เป็นกรณีพิเศษ โดยเปิดให้บริการเวลา 08.00 - 18.00 น. ซึ่งจะมีสำนักงานเขตปทุมวันเป็นหน่วยงานหลักและประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง 3 - 4 เขต มาร่วมให้บริการ มีการจัดเตรียมแบบฟอร์ม อุปกรณ์ และสัญญาณการสื่อสาร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของกิจกรรม “Marriage Equality - สมรสเท่าเทียม” ณ Paragon Hall ชั้น 5 สยามพารากอน เขตปทุมวัน จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบกับพิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรก เสวนาเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวหลากหลาย นิทรรศการเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินแนวหน้า และงานเฉลิมฉลองบนพรมแดงสีรุ้ง Pride Carpet สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและการยอมรับ พร้อมแสดงออกถึงตัวตนผ่านการแต่งกายที่สะท้อนอิสรภาพทางความคิดและจิตวิญญาณแห่งความรัก
สำหรับคุณสมบัติของผู้จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีดังนี้ 1. บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล 2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ 3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา 4. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น 5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ 6. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ สมรสกับคู่สมรสเดิม
โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม กรณีคนไทยกับคนไทย ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD กรณีคนไทยกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส และกรณีคนต่างชาติกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ทั้ง 3 กรณี จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี