วันที่ 22 ม.ค.68 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง
นางอนงค์ เพชรทัต สก.เขตดินแดง ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ความคืบหน้าการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกคนตระหนักดีว่ากรุงเทพฯ ผจญปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่พบประจำทุกปี จึงมีความเป็นห่วงนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และต้องการให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการปิดโรงเรียนทั้งหมดในวันที่สถานการณ์ฝุ่นหนาแน่น นอกจากนี้ต้องการให้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานครก่อนที่จะดำเนินการในหน่วยงานราชการอื่น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนเป็นอันดับแรก
และสืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ซึ่งในระยะที่ 3 เป็นการสำรวจและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าภายในพื้นที่อาคารศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยการดำเนินการกรุงเทพมหานครต้องประสานการไฟฟ้านครหลวงลงพื้นที่สำรวจการใช้ไฟฟ้าของสถานศึกษา ความแข็งแรงของจุดติดตั้ง รวมทั้งด้านสภาพแวดล้อม ทิศทางของการรับพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคา บนผิวน้ำ หรือหาพื้นที่เพิ่มเติมในการติดตั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนให้ใช้งานอย่างเหมาะสม เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะช่วยประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าจำนวนมาก จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าได้มีการดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแล้วหรือไม่อย่างไร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การปิดโรงเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง จึงเป็นเงื่อนไขให้ผู้อำนวยการเขต มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจปิดโรงเรียนได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัญหาในแต่ละพื้นที่ ส่วนเรื่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องเป็นตัวอย่างที่ดี โดยต้องประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงว่าจะดำเนินการอย่างไร จุดไหนบ้าง ส่วนที่ต้องดำเนินการติดตั้งในโรงบำบัดน้ำเสีย สำนักงานเขต หรือโรงพยาบาลก่อนนั้น สืบเนื่องมาจาก กฟน. วิเคราะห์แล้วเห็นว่า หน่วยงานเหล่านี้ต้องใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าตลอดเวลาเป็นหลักมากกว่าโรงเรียนที่มีการปิดภาคเรียน และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ แต่อย่างไรก็ตามจะเร่งประสานการไฟฟ้านครหลวง ให้เร่งดำเนินการในโรงเรียนที่มีความเหมาะสมเป็นอันดับแรกก่อน และจะเร่งดำเนินการในภาพรวมให้เร็วที่สุด
ในส่วนนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ จะใช้พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับพลังงานสะอาด ในปีนี้ได้มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องกรองอากาศให้กับโรงเรียนที่มีเด็กเล็กชั้นอนุบาลครบถ้วนทุกโรงเรียนแล้วและจะพัฒนาต่อไป โดยวิเคราะห์ถึงความสอดคล้องระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้ากับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ใช้งานด้วยกันอย่างเหมาะสมต่อไปด้วย ซึ่งหากดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบถ้วนทุกโรงเรียนก็ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สอดคล้องกันควบคู่ไปด้วย
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การไฟฟ้านครหลวงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจจุดที่ติดตั้งแล้ว ตามที่กทม. เสนอไป ได้แก่ โรงเรียน โรงบำบัดน้ำเสีย และสำนักงานเขต ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดมีการสำรวจจุดติดตั้งที่โรงบำบัดน้ำเสียและสำนักงานเขตเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามสัญญาซึ่งสัญญาได้ผ่านการพิจารณาจากทาง กฟน. แล้ว เหลือเพียงทางกทม.พิจารณาลงนามภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นภายใน 6 เดือน ก็จะได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ระยะแรก โดยติดตั้งที่โรงบำบัดน้ำเสีย ในระยะที่ 2 จะดำเนินการติดตั้งที่สำนักงานเขต จากนั้นจะเป็นระยะที่ 3 คือ ส่วนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยการติดตั้งห้องปลอดฝุ่นตามงบประมาณที่ได้รับของปี พ.ศ. 2568 ซึ่งต้องมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและมีการเสียค่าไฟฟ้าที่มากขึ้น ส่วนความคืบหน้าการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา ได้ดำเนินการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล จำนวน 995 ห้อง โดยมีการนำร่องติดตั้งระบบ Solar Cell เพื่อจ่ายไฟให้ระบบเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนปลอดฝุ่น ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวน นร. น้อยกว่า 200 คน) เพื่อบรรเทาปัญหาค่าไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ จำนวน 51 โรงเรียน รวม 118 ห้อง ในปี 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้าง นอกจากนี้ กทม. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำ MOU ในภาพรวมด้านพลังงานทดแทน ส่วนของสำนักการศึกษาจัดทำแผนการติดตั้ง Solar Cell ในโรงเรียน ปี 2568 ประมาณ 50 โรงเรียน ซึ่งมีสำนักการโยธาเป็นเจ้าภาพเรื่องพิจารณาสัญญา (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และต้องพิจารณาร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง อีกครั้ง
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี