22 ม.ค. 2568 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ที่ทำการชั่วคราว ห้อง 501 ชั้น 5 อาคาร The Rice สะพานควาย) มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “วิกฤติขยะพิษกับชีวิตประชาชน” โดย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนและนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 4 เดือนเศษ งานแรกที่ทำคือไปดูกรณีวินโพรเสส จ.ระยอง นำมาสู่การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม
โดยใช้เวลาราว 200 ชั่วโมงในการร่าง เพิ่งเสร็จเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 และจริงๆ จะนำเข้าสู่กลไกรัฐสภาในวันที่ 22 ม.ค. 2568 แต่ตนขอรัฐมนตรีว่าให้เลื่อนไปอีก 1 สัปดาห์ เพราะมาขอรับฟังความคิดเห็นในงานนี้ก่อน ซึ่งสืบเนื่องจากในช่วง 10 ปีล่าสุด ประเทศจีนมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากในเรื่องอุตสาหกรรม ทำให้โรงงานจำนวนมากย้ายเข้ามาตั้งในประเทศไทย
ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เคยพยายามร่างกันสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนอ่านดูก็ยังมีช่องโหว่ เพราะเป็นกฎหมายที่อยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีวิธีคิดเรื่องขั้นตอนตั้งแต่การตั้งกรรมการชุดใหญ่ ตามด้วยกรรมการชุดเล็ก และการรวมกลุ่มเพื่อให้มีโรงกำจัดขยะที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งแม้ผู้ร่างจะเข้าใจปัญหา แต่การนำไปปฏิบัติจริงทำได้ยาก ตนเลยเสนอกับนายเอกนัฏไปว่า ในเมื่อต้นเหตุของเรื่องมาจากกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องให้จบที่กระทรวงอุตสาหกรรมดีกว่า
โดยวิธีคิดของร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม คือแยกกิจการกำจัดกากของเสียออกจากกิจการปกติทั่วไป กล่าวคือ หากเป็นโรงงานทั่วๆ ไป ให้อยู่บนหลักความง่ายในการประกอบธุรกิจ ในขณะที่โรงงานกำจัดกากของเสียต้องมีการควบคุมที่เข้มงวด กิจกการการกำจัดกากอุตสาหกรรมจึงต้องถูกแยกออกมาจากกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน ที่ใช้มาตรา 8 ออกกฎหมายลูก แต่ปัญหาคือบทลงโทษในส่วนนี้ค่อนข้างเบาสำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงสูง แต่จะออกกฎหมายคุมเข้มกับกิจการทุกประเภทก็ถูกมองว่าเข้มเกินไปอีก
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม อย่างแรกคือกำกับกากของเหลือใน 2 ด้าน ทั้งจากการผลิต เช่น เศษเหล็กเหลือจากการผลิตรถยนต์ในโรงงาน และจากครัวเรือน หมายถึงสินค้าที่ซื้อมาใช้สอยแล้วต่อมากลายเป็นขยะ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สายไฟ แผงวงจร ซากรถยนต์ เนื่องจากกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดกากของเสีย ทั้งโรงงานประเภท 101 (โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม) 105 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535)
และ 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม) ผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการคือกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นหากกำหนดให้การออกใบอนุญาตโรงงานทั้ง 3 ประเภท ไปอยู่ภายใต้กฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ก็จะไปดูตอนจบของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด อีกทั้งการขออนุญาตก็จะยกระดับเกณฑ์ควบคุมให้มีความยากมากขึ้น
ประการต่อมา ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม กำหนดห้ามนำเข้ากากอุตสาหกรรม เว้นแต่เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในเรืองอัตราโทษจะเทียบเท่ากับกฎหมายศุลกากร ซึ่งการสำแดงเท็จจะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี แต่ในส่วนของโทษปรับนั้น ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ตั้งไว้ที่สูงสุด 1 ล้านบาท และโทษปรับจะหนักขึ้นเป็นสูงสุด 2 ล้านบาท กรณีเป็นกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย มากกว่ากฎหมายศุลกากรซึ่งอยู่ที่ 5 แสนบาท เพื่อป้องปรามไม่ให้นำเข้ามา เพราะเมื่อนำเข้ามาแล้วการผลักดันออกไป การจัดการนั้นมีต้นทุนสูงมาก
นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม เขียนไว้ให้มีอำนาจบังคับแม้อยู่ในเขตปลอดอากร (Free Zone) เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหามาก เพราะเขตปลอดอากรอยู่ภายใต้กรมศุลกากร แต่กฎหมายนี้ใช้หลักคิดเรื่องความปลอดภัย เพราะเขตปลอดอากรก็ยังอยู่ในประเทศไทย แบบเดียวกับเรื่องโรคติดต่อของสัตว์หากมีโรคระบาดออกมายังพื้นที่รอบๆ กากอุตสาหกรรมก็สามารถซึมออกมาภายนอกได้เช่นกัน ดังนั้นหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อตรวจยึดแล้วจะผลักดันออกหรือทำลาย ไม่มีปล่อยค้างอีกต่อไป
“ส่วนกระบวนการเยียวยาก็มีการเปลี่ยนรูปแบบไป จะมีการตั้งกองทุน ชื่อว่ากองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย การเยียวยาพี่น้องประชาชนทุลักทุเลมาก งบจังหวัดของแต่ละจังหวัดมีงบภัยพิบัติอยู่แค่ 10 ล้าน ท่านรู้ไหมในระยอง เฉพาะเอางบภัยพิบัติไปขุดบ่อน้ำรอบๆ วินโพรเสส ใช้ไป 9 ล้าน จ็อบเดียวนะ ดังนั้นแปลว่าการตั้งงบประมาณของประเภทไทย ตั้งงบแก้เยียวยาไว้แค่จังหวัดละ 10 ล้าน มันไม่มีทางพอ วินโพรเสสที่เดียวบ้านค่าย ยังไม่รวมในเมือง ทำอะไรไม่ได้แล้ว” นายอรรถวิชช์ กล่าว
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อถึงเวลากระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องไปของบกลางจากนายกรัฐมนตรี ก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนอีก ดังนั้นกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนก็จะเข้าไปทำหน้าที่ฟ้องดำเนินคดีเป็นตัวแทนชาวบ้านก่อน แต่ในส่วนของการเยียวยาไม่ต้องรอ เพราะกองทุนจะใช้เงินของตนเองไปดำเนินการก่อน ระหว่างรอเงินจากการไปฟ้องคดีแล้วเรียกกลับมา นอกจากนั้นกองทุนยังทำหน้าที่ของบอุดหนุนประจำปีด้วย
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน จะไม่ใช่การตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ใช้กลไกที่มีอยู่แล้วคือกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ ที่มีเงินอยู่แล้วราว 2 หมื่นล้านบาท โดยร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม จะเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนดังกล่าวเข้าไปเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเป็นตัวกลางในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม
ขณะที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรม จะถูกกำหนดให้ต้องวางเงินประกันและทำประกันภัย ซึ่งในส่วนของประกันภัย นอกจากจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่าเก็บกวาดกรณีเกิดเหตุแล้ว ยังรวมถึงการเยียวยาประชาชนด้วย แต่ก่อนจะจ่ายต้องมีการตรวจสอบโรงงานด้วย อีกทั้งการขอใบอนุญาตโรงงานประเภทนี้ จะไม่ใช่การขอครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป แต่กำหนดให้ต้องต่ออายุเป็นระยะๆ เพื่อเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทั้งจากภาครัฐหรือผู้ตรวจสอบของเอกชนเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของโรงงานได้
“เราไม่ได้ให้เป็นธุระของบริษัทประกันภัยอย่างเดียว เราให้เขาวางประกัน สมมติ 100 คน ให้วางเงิน 5 ล้าน เราก็มี 500 ล้าน แล้วถ้าโรงไหนมีปัญหาก็หยิบเงินนี้ไปใช้ก่อนแล้ววนกลับมา ผมจะบอกว่าเราสร้างบรรยากาศให้บริษัทประกันภัยรับภาระน้อยลงด้วยจากเงินประกันที่วาง เพราะหากทำแบบนี้ก็เกิดการประกันได้จริง หัวใจคือให้ทำประกัน แต่หัวใจสำคัญคือวางประกัน การรวมเงินประกันตรงกลาง สมมติมีคนหนึ่งเป็นเด็กเกเร คิดว่าจะโดนฟ้องไหม? จะโดนรังเกียจไหม? เพราะมันเป็นตัวยำเงินกองทุนเราออกไป” นายอรรถวิชช์ ระบุ
นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ยังจะดูลักษณะการประกอบกิจการเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับขนาดของโรงงาน โดยแยกใบอนุญาตระหว่างสถานที่รวบรวมกับสถานที่กำจัด กล่าวคือ หากขอใบอนุญาตเป็นสถานที่รวบรวม จะทำได้เพียงรวบรวมเท่านั้นไม่สามารถแกะแยกชิ้นส่วนได้ โดยการแกะแยกชิ้นส่วนจะเป็นใบอนุญาตสถานที่กำจัด ซึ่งสถานที่ตั้งกิจการประเภทกำจัดก็จะต้องถูกควบคุม เพื่อแก้ปัญหา เช่น การมาแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน
นอกจากนั้น จะส่งเสริมให้มีสถานที่รวบรวมและกำจัดกากอุตสาหกรรมของโรงงานภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมออกไปนอกพื้นที่ โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้กำกับดูแล แต่หากเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม การเคลื่อนย้ายและกำจัดกากอุตสาหกรรมก็จะต้องมีระบบการแจ้งและตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น
นายสนธิ คชวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 3 ประเภท ประมาณ 2,500 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ลงทุนน้อยและมีประสิทธิภาพในการบำบัดต่ำ บางส่วนเก็บไว้ในโรงงาน และบางส่วนก็ไปลักลอบทิ้ง ซึ่งหากเป็นไปได้ โรงงานกลุ่มนี้ควรตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพราะเป็นพื้นที่ปิด ต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
และควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเมื่อบวกกับกฎหมายอำนาจความสะดวก ให้ปิดประกาศ 15-30 วัน ในหน่วยราชการ 3 แห่ง หากไม่มีใครคัดค้านก็ตั้งได้ เอื้อให้เกิดการตั้งโรงงานกลุ่มนี้ติดชุมชนเต็มไปหมด อีกทั้งการประกอบกิจการกลุ่มนี้จะทำได้ก็ต้องกำหนดให้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนสูงและมีระบบที่บำบัดมลพิษได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
“กำหนดว่าโรงงานทุกแห่งจะต้องทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม พวกนี้มีความเสี่ยงสูง เรารู้อยู่แล้ว เดี๋ยวไฟไหม้ เดี๋ยวแอบทิ้ง แล้วบริษัทประกันภัยจะมาตรวจสอบแทนหน่วยราชการเอง นี่คือถ้าเกิดปัญหาเมื่อไรประกันภัยจ่ายชดเชยแก่ประชาชน ไฟไหม้หรือแอบเผาเมื่อไร อย่างนี้จ่ายหรืออะไรก็ว่าไป อีกอันคือตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม ให้โรงงานทั้งหลายจ่ายเงินเข้ากองทุนตามข้อกำหนด เมื่อเกิดอุบัติภัยสิ่งแวดล้อม รัฐเอาเงินจากกองทุนจ่ายเยียวยา ไม่ใช่ไปรอให้ชาวบ้านฟ้องศาลหลายปี” นายสนธิ กล่าว
น.ส. เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มเอาจริงเอาจัง มีการดำเนินการตามกฎหมาย แม้โทษจะเบาแต่ก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มวางใจมากขึ้น และหากมีกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมออกมาบังคับใช้ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่สำคัญอันหนึ่งในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นสิ่งที่รอกอยู่คือการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน รวมถึงการมีกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ส่งเสริมให้ทุกประเทศมีกฎหมายนี้
นอกจากนั้น การเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งไทยก็พยายามจะเข้าร่วม ก็มีเงื่อนไขว่าชาติที่จะเข้าร่วมต้องมีกฎหมาย PRTR ซึ่งการไม่มีกฎหมายนี้ การแก้ไขปัญหามลพิษก็ยังมีช่องโหว่อยู่ ซึ่งภาคประชาชนได้ผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่กลไกรัฐสภาแล้ว และรออยู่ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเรียกตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้าไปนำเสนอเมื่อใด
“เรื่องของกากอุตสาหกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษในประเทศไทยเยอะมาก หากประเทศไทยกล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ออกมา ทำอย่างที่อเมริกา ยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เขาทำแผนที่ออกมาเลย เป็น Hotspot (จุดเสี่ยง) ว่าแต่ละพื้นที่ของแต่ละประเทศมี Hotspot เกิดขึ้นในกี่พื้นที่ สถานภาพของ Hotspot เหล่านี้อยู่ที่ระดับใด เพื่อที่จะได้วางแผนที่จะทำความสะอาดพื้นที่ ตั้งงบประมาณที่จะแก้ไข และพยายามที่จะผลักดันขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สีเขียวมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น เราไม่มีฐานข้อมูลนี้เลย” น.ส. เพ็ญโฉม กล่าว
นางขนิษฐนันท์ อภิหรรษากร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปีล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องขยะพลาสติก ขยะสารเคมีและกากอุตสาหกรรม ก็จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งหนึ่งในข้อค้นพบคือเรื่องต้นน้ำ หมายถึงการอนุญาตให้ประกอบกิจการกลุ่มนี้ บางครั้งประชาชนอาจไม่ได้รับรู้ อาทิ การทำประชาพิจารณ์ ได้ดำเนินการสอบถามประชาชนแล้วหรือยัง หรือผู้ที่อนุญาตให้ประกอบกิจการ ได้รับรู้และเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดแล้วหรือไม่
“ปัญหาหนึ่งที่เราพบโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนมากผู้ประกอบการมักจะเป็นผู้ที่ต้องเรียกว่ามีอิทธิพลในพื้นที่พอสมควร บางครั้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ก็จะไม่ค่อยกล้าลงไปยุ่งอะไรมากนัก หรือว่าเราเคยเจอเคสว่ามีการขออนุญาตจัดตั้งหรือประกอบการประเภทหนึ่ง แล้วทางจังหวัดมองว่าไม่น่าทำได้ บอกว่าไม่อนุญาตได้ไหม? คือจังหวัดบอกว่าไม่อนุญาต ผู้ประกอบการก็ไปอุทธรณ์กับรัฐมนตรีบ้างอะไรบ้าง ไปอุทธรณ์เสร็จ ในกรณีที่เราเจอ รัฐมนตรีก็อนุญาตกลับมา” นางขนิษฐนันท์ กล่าว
นางขนิษฐนันท์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรัฐมนตรีอนุญาต ผู้ประกอบการก็มาประกอบกิจการในพื้นที่ แต่เมื่อทำแล้วเกิดปัญหา มีคนร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ลงไปตรวจสอบทั้งสถานที่ประกอบการ พูดคุยกับประชาชน ในกรณีที่เจอคือกิจการอยู่ติดกับหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงรัฐมนตรีคนใด แต่จะบอกว่ามีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้น โดยมีหน่วยงานรัฐให้ข้อมูลว่าที่กิจการเปิดได้เพราะอะไร
อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจไปสั่งการให้ดำเนินการใดๆ ได้ โดยทำได้เพียง 1.มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เสนอแนะให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน กับ 2.จัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นหน้าที่ของรัฐ ตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งเสนอได้ถึงระดับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ครม. จะมีอำนาจในการแจ้งหรือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ
ขณะที่การติดตามภายหลังที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะไปแล้ว เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งเหตุที่ต้องใช้งบประมาณของรัฐเพราะเมื่อเกิดเรื่องขึ้นโรงงานก็ปิดตัวหายไป แม้จะมีการฟ้องต่อศาลจนมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการเยียวยาผลกระทบ แต่สิ่งที่พบคือบริษัทแจ้งล้มละลาย แม้จะยึดทรัพย์สินที่มีอยู่มาได้ก็ยังไม่เพียงพอจะเยียวยาประชาชน ยังไม่นับบางรายที่หัวหมอ หาช่องทางอุทธรณ์ต่างๆ นานา เวลาผ่านไปตานคดีก็ยังไม่ถึงที่สุดเสียที
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี