22 มกราคม 2568 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมด้วย นางสาวสุนิสา เอกธิการ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ และคณะ ร่วมประชุมคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ครั้งที่ 1/2568 โดยมี พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1214 อาคาร 1 กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
การประชุมครั้งนี้เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา ตามมติที่ประชุมกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ประจำปี พ.ศ.2567 และเพื่อพิจารณาแผนการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญาในปี 2568 ตามแผนโครงการปฏิบัติการเกษตรวิชญาระยะ 5 ปี โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการในพระราชดำริ พระะบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) รัชกาลที่ 10 เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริเมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร โครงการแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ทรงมีพระราชประสงค์พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ รวม 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน และเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่
จากเดิมที่พื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเขาและภูเขาสูงลาดเทลงสู่หุบเขาเล็ก ๆ มีความลาดชัน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการบุกรุกพื้นที่ไปทำไร่หมุนเวียนและพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ทำการสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการเกษตร คัดเลือกพันธุ์พืชเพาะปลูกอย่างเหมาะสม ได้กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พุทธศักราช 2545
ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ทำให้ปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติลดลง ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่วนเกษตรและธนาคารอาหารชุมชน เนื้อที่ 123 ไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี