‘นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม’ จี้รัฐบาลหยุดมรดกทางมลพิษจากกากอุตสาหกรรม เร่งแก้ไขกฎหมายโรงงานหยุดเอื้อโรงงานรีไซเคิล-กำจัดกากมลพิษที่มาตรฐานต่ำ พร้อมเร่งคลอดกฎหมาย PRTR รายงานเคลื่อนย้ายสารมลพิษ “กระทรวงอุตสาหกรรม” รับลูกชงร่างพ.ร.บ จัดการกากอุตสาหกรรมเข้าครม.สัปดาห์หน้านี้
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ทำการชั่วคราว ห้อง 501 ชั้น5 อาคาร The Rice (สะพานควาย) กทม. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติขยะพิษกับชีวิตประชาชน” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ นำเสนอปัญหามลพิษจากกากอุตสาหกรรม และแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างจริงจังจากภาครัฐ
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศติดตามผลกระทบมลพิษจากอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี2541 ทำให้เห็นปัญหากากอุตสาหกรรมส่งผลกระทบคุกคามสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอันนำมาซึ่งการสังหารผู้นำชุมชนที่ร่วมกันต่อต้านคัดค้านปัญหากากของเสียอุตสาหกรรมมากที่สุด ทั้งยังมีการคุกคาม และทำร้ายอันมีความสัมพันธ์กับปัญหากากอุตสาหกรรมค่อนข้างชัดเจนมาตลอดในหลายพื้นที่
สิ่งนี้เป็นปัญหาสะท้อนถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ไม่ได้ทำควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ธุรกิจการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ควบคู่กับการทุจริตคอรัปชั่น การออกกฎหมายที่เอื้อต่อการทำโรงงานรีไซเคิล และโรงงานกำจัดกากของเสียอย่างเสรี เพื่อประกอบกิจการได้ในทุกจังหวัด อีกทั้งยังยกเลิกกฎระเบียบที่ให้การกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมทำได้โดยวิธีฝังกลบเท่านั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการอนุญาตให้นำมารีไซเคิลได้
โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือคำสั่ง คสชที่ 4/2559 อนุญาตให้โรงงานประเภท 105 คือ โรงงานคัดแยกฝังกลบขยะ และโรงงานประเภท 106 ที่ดำเนินกิจการรีไซเคิลขยะจากอุตสาหกรรมดำเนินกิจการได้ โดยระงับการใช้กฎหมายผังเมืองจนทำให้ผู้ประกอบการจากประเทศจีนจำนวนมากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัยก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้งการละเลยการตรวจสอบการบังคับใช้กฏหมายจากหน่วยงานท้องถิ่นทำให้สถานการณ์แย่ลง
“ทั้งหมดนี้คือมรดกมลพิษที่เกิดจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่คำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คิดถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องเร่งรีบแก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ใบอนุญาตประกอบโรงงานต้องมีการต่ออายุ และควรสนับสนุนการออก พ.ร.บ การรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือกฎหมาย PRTR ที่ร่างโดยภาคประชาชนและกำลังนำเข้าสู่สภา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษที่ต้นเหตุ” น.ส. เพ็ญโฉม กล่าว
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวอีกว่าอยากเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมระงับการออกใบอนุญาตการจัดดำเนินกิจการโรงงานประเภท 105 และ 106 เพราะพบว่ามีบริษัทนายหน้ามาขอใบอนุญาต และปล่อยให้ผู้ประกอบกิจการจากจีนมาขอเช่าพื้นที่ทำกิจการ เมื่อมีความผิดใดๆ ก็ไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นเพียงผู้เช่าพื้นที่เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากให้กับชุมชน
นางขนิษฐนันท์ อภิหรรษากร รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับชุมชน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 หน้าที่ของรัฐ หมวดที่ 5 ในการทำให้สิทธิของประชาชนเป็นสิ่งจับต้องได้ ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดยขอข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข
โดยสามารถส่งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือคณะรัฐมนตรี จะต้องมีข้อสั่งการให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผล เช่น กรณีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากโรงงานแว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่จ.ราชบุรี ได้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เป็นต้น ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการสั่งการได้โดยตรง มีเพียงหน้าที่ในการให้คำเสนอแนะเท่านั้น
ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะจากกากอุตสาหกรรมประมาณ 25 ล้านตัน ซึ่ง 19.8 ล้านตันสามารถนำไปกำจัดได้อย่างเหมาะสม ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งกำจัดที่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามว่าขยะเหล่านี้ไปไหน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีข่าวการเกิดเพลิงไหม้ในโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมและโรงงานรีไซเคิลในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะโรงงานรีไซเคิล วิน โพเสส ที่อำเภอบ้านค่าย จ. ชลบุรี ส่งผลกระทบให้กับชุมชนกว่าร้อยหลังคาเรือนจากมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่เก็บไว้ในโรงงาน และภาพรวมประเทศไทยมีโรงงานที่รับกำจัด คัดแยกและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 2,500 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีเงินลงทุนน้อย ประสิทธิภาพต่ำ และระบบการบำบัดมลพิษไม่มีประสิทธิภาพ บางส่วนลักลอบฝังกากอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงงานเอง หรือในพื้นที่ดินที่ซื้อไว้ใกล้แหล่งชุมชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการลักลอบการนำเข้ากากอุตสาหกรรม ขยะอิเลกทรอนิกส์ และขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกำกับดูแล ตรวจสอบสั่งการและดำเนินคดีได้ ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้
“สิ่งเร่งด่วนที่ควรจะทำในตอนนี้คือ รัฐบาลต้องยกเลิกคำสั่งคสชที่ 4/2559 ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อยับยั้งการขยายตัวของโรงงานประเภท 105 และ 106 นอกจากนี้ยังต้องเร่งการแก้ไขข้อกฏหมายให้มีการวางเงินประกัน และการจัดตั้งกองทุนโดยเก็บเงินจากโรงงานเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที”นายสนธิ กล่าว
นายสนธิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะต้องมีการปฏิรูประบบอนุญาตตั้งโรงงานประเภทดังกล่าวให้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพในการขจัดมลพิษ รวมทั้งปฏิรูประบบอนุญาต และการเคลื่อนย้ายกาก ให้มีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งการจัดเก็บ การขนย้าย การจัดการกากของแต่ละโรงงานให้สาธารณชนรับทราบด้วย อีกทั้งควรกำหนดให้โรงงานไฟฟ้าความร้อนทุกขนาดที่ผลิตจากเชื้อเพลิงขยะ รวมถึงโรงงานรีไซเคิลกากของเสียอุตสาหกรรมทุกขนาดต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยุคใหม่ต่างให้ความใส่ใจกับประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยมีนโยบายในการปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อลดผลกะทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ จัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ... เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยเนื้อหาสำคัญให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับโรงงานประเภท 105 และ 106 โดยให้โรงงานประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ .ร.บ ฉบับนี้ และกากอุตสาหกรรมยังหมายรวมถึง กากอุตสาหกรรมจากการผลิต และกากอุตสาหกกรมที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ เช่น ขยะอิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น
ดร.อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ร่าง พ .ร.บ ดังกล่าวยังมีเรื่องการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยใช้เงินตั้งต้นจากกองทุน SME ประชารัฐ จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งกองทุน SME ประชารัฐจะยังคงอยู่เพียงขยายการดูแลไปยังผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ซึ่งคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ และมั่นใจว่าจะกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมที่สะอาดมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี