'เศรษฐา-ชัชชาติ' ร่วมเปิดงาน 'สมรสเท่าเทียม' พารากอน ยินดีชาวไพรด์ กทม.รับไม้ต่อ โอบกอดไปด้วยกัน ครึ่งวันจดไปแล้วกว่า 70 คู่ ทั้ง กทม.รวม 140 คู่
23 ม.ค.68 นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Marriage Equality ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน
นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ของไทยต้องจารึกไว้ว่าการเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ปี ได้มาถึงจุดที่พวกเราทุกคน สามารถแสดงออกถึงความรักซึ่งมีต่อกันโดยไม่จำกัดเพศสภาพ สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ปาฐกถาในวันนี้อาจไม่ต้องมีบทพูดมากนัก เพราะว่ามาจากใจ แต่มีไว้เพื่อเตือนความจำเท่านั้น เพราะมีหลายเรื่องอยากจะพูด
คำว่าสมรสเท่าเทียม ขอเน้นคำว่าเท่าเทียม พี่น้องชาว Pride ของเราทุกคน เชื่อว่าเราเรียกร้องสิทธิให้มีความเท่าเทียม ไม่ใช่เหนือกว่าคนอื่น แต่คิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ผ่านมาใช้เวลานาน เพราะมีการเบียดเบียน ไม่เข้าใจ คิดว่าพวกเราเรียกร้องสิทธิที่เหนือกว่า ความเท่าเทียมเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนไม่ว่าจะเพศสภาพใดสมควรที่จะได้ ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง มาอยู่กับพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลหลัก ไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยมีความชำนาญเท่านั้น แต่ สส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ต่างให้ความสำคัญกับสมรสเท่าเทียม ไม่อยากจะใช้คำว่าชุบมือเปิบกับความสำเร็จที่พี่น้องทุกคนได้เดินทางมาไกล มีหลายพรรคการเมืองหลายรัฐบาลพยายามช่วยกันผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้
วันนี้เราจะได้เป็นอย่างที่เราอยากจะเป็น ความรักที่เรามีให้กัน ไม่ต้องแอบข้างหลังแล้ว เราสามารถเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็น อยู่อย่างที่เราอยากจะอยู่ แสดงออกอย่างที่เราอยากจะแสดงออกมาได้อย่างเต็มตัว
"ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเข้ารับตำแหน่งของผู้นำประเทศใหญ่ท่านหนึ่ง ผมฟังก็ตกใจที่ท่านประกาศชัดเจนว่าเพศมี 2 เพศเท่านั้น คงไม่เหมาะสมที่ผมจะมากล่าวขัดแย้งหรือสร้างประเด็นในที่นี้ แต่ประเทศไทยเรามีประชากรคน 68 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจเราไม่ได้ใหญ่เท่าประเทศของเขา แต่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ผมเชื่อว่า เราหัวใจใหญ่กว่า เรายอมรับคนที่อยากจะเป็น เราให้เกียรติ ให้เวที ให้พื้นที่ของเขาอย่างที่เขาสมควรต้องได้รับ ถึงแม้ว่าจะต้องรอคอยนานกว่า 20 ปี" นายเศรษฐากล่าว และว่าเมื่อครู่นี้ตนเองได้เจอคู่สมรสอายุ 63 ปี กับ 78 ปี อยากจะขอได้แสดงความยินดี และขอโทษในเวลาเดียวกันว่า "Better late than never สายกว่ายังดีกว่าไม่มา"
นายเศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียมเป็นที่แรกๆ ของเอเชีย และเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว เชื่อว่ากลุ่มเพศหลากหลายจากทั่วโลกจะสามารถหลั่งไหลเข้ามาสร้างเศรษฐกิจสีรุ้งให้กับประเทศไทย สร้างความอุดมสมบูรณ์ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยทุกคนด้วย
นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆในการผลักดัน แต่หลังจากนี้จะรับไม้ต่อ แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด วันนี้ มิติที่สำคัญคงไม่ใช่แค่เรื่องสมรสเท่าเทียม แต่แสดงถึงจิตวิญญาณของเรา ที่เราโอบกอดไปด้วยกัน ไม่ว่าจะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ความเชื่อ ศาสนาวัฒนธรรม เชื้อชาติ คือจุดแข็งของสังคมไทยที่ทุกคนมาแล้วรู้สึกปลอดภัย พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย แล้วเราโอบกอดทุกคนไว้ด้วยกัน ขอขอบคุณสำหรับทุกคนที่ช่วยกันเดินทางมายาวนานนี้ เราจะเดินต่อไปด้วยกันเพื่อกรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมการจดทะเบียนสมรสในพื้นที่ทั้ง 50 เขตว่าจากที่ได้รับรายงานก็พบว่าเรียบร้อยดีเพราะคือการจดทะเบียนสมรสทั่วไปแต่วันนี้ที่มีการจัดงานเหมือนเป็นการแสดงสัญลักษณ์หลังจากนี้ทุกคู่รักก็สามารถไปจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักงานเขต และจากการสอบถามคู่รักที่มาจดทะเบียนสมรสที่พารากอนบอกว่าสะดวกและเรียบร้อย
"วันนี้เป็นมิติที่แสดงถึงว่าเราโอบกอดคนที่มีความหลากหลายไม่ใช่เฉพาะทางเพศสภาพแต่ความเชื่อศาสนาและเชื้อชาติต่างๆ ซึ่งผมมองว่านี่คือจุดแข็งของสังคมไทยและกรุงเทพมหานคร ว่าคนที่มาเมืองไทยและมากรุงเทพมหานครจะรู้สึกว่าปลอดภัยไม่ถูกเหยียดหยามหรือมีความแตกต่างอะไร ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นจุดแข็งของเราอีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน"
หลังกล่าวในพิธีเปิดผู้ว่าฯได้ตรวจเยี่ยมการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในพารากอนฮอลล์ แบะได้ถ่ายรูปแสดงความยินดีกับคู่ที่มาจะทะเบียนด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานยอดรวมผู้ที่มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมใน50 เขตครึ่งวันกว่า 140 คู่ ส่วนที่สถานที่จัดงานนะพารากอนฮอลศูนย์การค้าสยามพารากอนมีผู้ลงทะเบียนมาจบที่นี่ 193 คู่จดไปแล้ว 70 คู่
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์และครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีผลใช้บังคับวันที่ 23 มกราคม 2568 โดยสำนักงานเขต 50 เขต เริ่มให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแก่ประชาชนในวันแรกนี้ (23 ม.ค.68) ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. โดยหลายเขตได้จัดเตรียมของที่ระลึก เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักที่ได้รับความเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี