วันแรกสุดคึกคัก
‘สมรสเท่าเทียม’
LGBTQชื่นมื่น
จูงมือจดทะเบียน
วันประวัติศาสตร์ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีผลใช้บังคับวันแรก“เศรษฐา-ชัชชาติ”ร่วมเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่สยามพารากอน ยินดีชาวไพรด์ โอบกอดไปด้วยกัน ด้าน นายกฯ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจนสำเร็จลุล่วง ทำลายอคติฝังรากลึกขณะที่ คู่รัก LGBTQ ทั่วประเทศ แห่จดทะเบียนสมรสอย่างคึกคัก ยอดจดทะเบียนสมรสวันแรกมากกว่า1.5 พันคู่
เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 23มกราคม 2568 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร บริษัท นฤมิตไพรด์ จัดงาน “วันสมรสเท่าเทียม” (Marriage Equality Day) จดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQIAN+ เป็นวันแรกใน กทม. ภายหลังพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับใช้ในวันนี้
โดยภายในงานมีการตั้งขบวนนางรำ กลองยาว ต้นกล้วย ที่บริเวณปาร์คพารากอน เพื่อรอแห่สมรสเท่าเทียม จากนั้นเวลา 10.40 น. ขบวนแห่สมรสเท่าเทียมได้เคลื่อนขบวนจากปาร์คพารากอนไปยังพารากอนฮอลล์ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวอรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด นักแสดงดัง อิงฟ้า วราหะ และ ชาล็อต ออสติน พร้อมด้วย คู่รัก LGBTQIAN+ และเพื่อนชาว LGBTQIAN+ นับร้อย เข้าร่วม
ต่อมา ได้มีการเคลื่อนขบวนมาถึงเวทีเปิดสายรุ้งภายในพารากอนฮอลล์ โดยมีการแสดงจากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานและอบอุ่น เต็มไปด้วยการประดับสายรุ้งและบับเบิ้ล (ฟองสบู่) โปรยปรายทั่วงาน
เวลา 11.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวิดีโอว่า ในนามของรัฐบาลขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ต่อจากนี้ ทุกความรักของคนไทย จะถูกรับรองทางกฎหมาย ทุกคู่จะมีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 2 ทศวรรษของการต่อสู้ทั้งในทางกฎหมาย การเผชิญหน้ากับอคติ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม ชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ จากความร่วมมือของทุกคน พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นทำงานร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน
พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวขอบคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ผ่านกลไกของรัฐสภา ขอขอบคุณ สื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ช่วยทำลายมายาคติและอคติที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้เรามาถึงวันนี้ และสำคัญที่สุด ขอบคุณภาคประชาชน พี่น้อง LGBTQIA+ แกนนำสำคัญที่ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในวันนี้ได้สำเร็จ
“รัฐบาลให้ความสำคัญและยึดมั่นเสมอว่า คนไทยทุกเพศ และความรักทุกรูปแบบควรได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยรับรู้และเคารพในความแตกต่างหลากหลายทั้ง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพราะความแตกต่าง ไม่ใช่ข้ออ้างในการเลือกปฏิบัตินายกฯ เชื่อมั่นพลังความรักของทุกคนที่ทำให้ในวันนี้ประเทศไทยได้บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ทำให้ทั้งโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยโอบรับความรักทุกรูปแบบ ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย พร้อมเชิญชวนให้คนไทยมาร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จนี้ไปด้วยกัน และขอแสดงความยินดีกับคู่สมรสใหม่ทุกคู่” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day” ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ไทยจารึกไว้ จากการเดินทางมา 20 ปี เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความรัก โดยไม่จำกัดเพศสภาพ สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมเป็นสิ่งพื้นฐานของทุกคน ทุกคนควรมีความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจ ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตนเองไม่อยากใช้คำว่าชุบมือเปิบกับความสำเร็จที่พวกเราได้เดินทางมาไกล เพราะมีหลายพรรคการเมืองหลายรัฐบาลที่พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ความรักที่มีต่อกันไม่ต้องแอบอีกแล้ว สามารถเชิดหน้าชูตา เป็นอย่างที่เราอยากเป็น อยู่อย่างที่เรา อยากอยู่ แสดงออกอย่างที่เราอยากแสดงออกได้อย่างเต็มตัว
ส่วนบรรยากาศการจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางรักเป็นไปอย่างคึกคักโดยคู่รักคู่แรกที่มาจดทะเบียนคือ คุณสุมาลี สุดสายเนตร อายุ 64 ปี และคุณธนพร สุดสายเนตร อายุ 59 ปี ที่เดินทางมาจาก จ.เพชรบูรณ์ ขณะที่บรรยากาศการจดทะเบียนสมรสในต่างจังหวัดก็เป็นไปอย่างคึกคักเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับใช้ในวันนี้(23ม.ค.) ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการจดทะเบียนสมรส ได้สร้างวันประวัติศาสตร์สำคัญ โดยการเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมทั้ง 878 อำเภอใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร
สำหรับตัวเลขเบื้องต้นของผู้ที่เดินทางมาจดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ ตั้งแต่การเปิดให้บริการ จนถึงเวลา 15.30น.รวม 2,465คู่ เป็นการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 1,595คู่ แยกเป็นคู่ ชาย-ชาย 534คู่ หญิง-หญิง 1,061คู่และสมรส ชาย-หญิง 870คู่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี