‘อิ๊งค์’ตื่น!ดัน6มาตรการรับมือPM2.5
ฝุ่นพิษถล่มไทย
ขึ้น‘รถเมล์-รถไฟฟ้า’ฟรี7วัน
เริ่ม25-31ม.ค./ลดใช้รถส่วนตัว
มท.1เข้ม15จังหวัดห้ามเผา
กทม.ยังอ่วม-ปิดรร.352แห่ง
ค่าฝุ่นยังวิกฤตต่อเนื่อง 60 จังหวัด PM2.5พุ่งเกินร้อย ส่งผลให้ไทย ติดอันดับ 4 ของโลกคุณภาพอากาศแย่ ส่วนกทม.แดงโร่แทบทุกเขต“หนองแขม” รั้งแชมป์ นายกฯสั่งด่วนทุกหน่วยงานเดินหน้า 6 มาตรการระยะสั้นแก้ปัญหาฝุ่นเฉพาะหน้า โดยขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน WFH ลดใช้รถส่วนตัว ให้กรมฝนหลวงฯทำฝนเทียม เข้มกฎหมายพบการเผาดำเนินคดีทันที-กวดขันไซต์ก่อสร้าง-ตั้งด่านตรวจรถควันดำ ด้านคมนาคมเด้งรับ เจรจาเอกชนให้ปชช.ขึ้นรถไฟฟ้า-รถเมล์ฟรี 7 วันตั้งแต่ 25-31 มค. โดยใช้งบกลางชดเชยรายได้ 140 ล้าน ส่วน ‘มท.1’ ยันมีมาตรการเข้มแก้ฝุ่นพิษ เผย 15 จว.ประกาศเขตห้ามเผา ขันน๊อตใช้กม.เด็ดขาด ฮึ่มผวจ.ปล่อยให้มีการเผาอยู่ ต้องถูกเด้งเข้ามาอบรมที่กระทรวง
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวัน ช่วงเวลา 07:00 น.ว่า ภาพรวมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม หรือ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน 60 จังหวัด อาทิ
60จว.อ่วมค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.ชุมพร จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์
โดยภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ วัดได้ 16.0 – 82.2 ไมโครกรัม (มคก.) / ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ตรวจวัดได้ 34.9 – 85.6 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.8 – 113.5 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 55.8 – 105.0 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19.0 – 41.5 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพฯและปริมณฑลเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ วัดได้ 61.2 – 112.4 มคก./ลบ.ม.
กทม.แดงโร่ทุกเขตวัดได้เกินร้อยมคก.
ด้านศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครประจำวัน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 68.7-109.6 มคก./ลบ.ม.เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 67 พื้นที่ สูงสุด 10 พื้นที่แรกคือ 1.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 109.6 มคก./ลบ.ม. 2.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 109.1 มคก./ลบ.ม. 3.เขตคันนายาว บริเวณปากทางถนนสวนสยามตัดกับถนนรามอินทรา : มีค่าเท่ากับ 108.5 มคก./ลบ.ม. 4.เขตประเวศ ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ : มีค่าเท่ากับ 107.1 มคก./ลบ.ม. 5.เขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตรงข้ามสำนักงานเขตมีนบุรี : มีค่าเท่ากับ 104.9 มคก./ลบ.ม. 6.เขตหลักสี่ มีค่าเท่ากับ 104.7 มคก./ลบ.ม. 7.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม : มีค่าเท่ากับ 104.0 มคก./ลบ.ม. 8.เขตบางนา บริเวณหน้าห้าง สรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา : มีค่าเท่ากับ 103.8 มคก./ลบ.ม. 9.เขตคลองสามวา ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา : มีค่าเท่ากับ 101.8 มคก./ลบ.ม. 10.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี : มีค่าเท่ากับ 100.3 มคก./ลบ.ม.
“หนองแขม”รั้งแชมป์ต่อเนื่อง
ส่วน 5 เขตแรกที่มีค่า PM 2.5 สูงสุด คือ 1. เขตหนองแขม มีค่าเท่ากับ 108.0 2. เขตคันนายาว มีค่าเท่ากับ 107.7 3. เขตมีนบุรี มีค่าเท่ากับ 105.0 4. เขตทวีวัฒนามีค่าเท่ากับ 103.8 5. เขตหลักสี่ มีค่าเท่ากับ 102.6 คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นตั้งแต่วันนี้ถึง 1 กุมภาพันธ์ วันที่ 24 - 26 มกราคม การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน” ประกอบกับเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศเป็นไปได้อย่างจำกัด คาดว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อย จากนั้นในวันที่ 27 - 28 มกราคมแนวโน้มลดลงมากขึ้น เนื่องจากการระบายอากาศ “ดี” ก่อนจะกลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
กรุงเทพฯอากาศแย่ติดอันดับ4โลก
เว็บไซต์ IQAir จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด เมื่อเวลา 09.27 น. วันนี้ (24 มกราคม)พบว่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ติดอันดับ 4 ของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากสุดของโลก โดยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) วัดได้ 188 อยู่ในระดับสีแดง เป็นระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน ขณะที่ 1-3 อันดับแรกของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด อันดับ 1 เมืองธากา บังกลาเทศ วัดได้ 228 อยู่ในระดับสีม่วง อันดับ 2 นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม วัดได้ 220 อยู่ในระดับสีม่วง และอันดับ 3 กรุงเดลี ประเทศอินเดีย วัดได้ 190
ไทยพบจุดความร้อน521จุด
ส่วน GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ VIIRS และจากข้อมูลดาวเทียมดวงอื่นๆ ของเมื่อวันที่ 22 มกราคม พบว่าไทยมีจุดความร้อนรวม 521 จุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าจุดความร้อนในประเทศไทยเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 178 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 109 จุด พื้นที่เขต สปก. 108 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 63 จุด พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่นๆ 59 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด ขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่กัมพูชา 923 จุด เวียดนาม 363 จุด พม่า 273 จุด ลาว 269 จุด มาเลเซีย 5 จุด ด้านภาพรวมประเทศไทยพบค่าฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจในระดับสีแดง 11 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบค่า PM2.5 เริ่มผลกระทบต่อสุขภาพในระดับสีส้มกว่า 40 จังหวัด กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
นายกฯอิ๊งค์สั่ง6มาตรการด่วนแก้ฝุ่น
ท่าทีรัฐบาล โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตผ่าน X ถึงมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นที่น่ากังวล ตนจึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานสามารถทำงานแบบ WFH เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และสั่งการกระทรวงคมนาคมให้สนับสนุนยกเว้นค่ารถไฟฟ้า-ค่ารถเมล์ ภายใต้กำกับของรัฐเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมเป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เกิดจากรถยนต์
2.ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดูอากาศ หากความชื้นมากเพียงพอ ขอให้ปฏิบัติการฝนเทียมเจาะช่องบรรยากาศทั่วกรุงเทพฯ 3.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากพบเห็นการเผา ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที 4.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับรับแจ้งเหตุการเผา ให้ประชาชนรายงานจุดที่เกิดการเผาให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาได้ทันที 5.ขอความร่วมมือผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้กวดขันไซต์ก่อสร้างที่ไม่คลุมผ้าป้องกันฝุ่นตามกฏหมายโดยเคร่งครัด และช่วงอากาศปิด ขอความร่วมมือให้เลื่อนการก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองออกไปก่อน 6.ให้ตำรวจกวดขันรถควันดำโดยเคร่งครัด ขอยืนยันว่ารัฐบาลยังมุ่งมั่นแก้ปัญหาฝุ่นควันเต็มที่ มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว
ให้ปชช.ขึ้นรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี7วัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคมแถลงว่า จากข้อสั่งการของนายกฯ
ให้กระทรวงคมนาคมดูแลโครงข่ายคมนาคม เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ตนจึงสั่งการทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนทันที โดยเจรจาผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า ที่ให้บริการประชาชน ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด(มหาชน)และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าฟรีทุกสาย 7 วันตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม สำหรับรายได้ของเอกชนที่สูญเสียไปรัฐบาลจะชดเชยตามค่าเฉลี่ย 7 วันประมาณ 140 ล้านบาท โดยใช้งบกลาง รวมถึงให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ให้บริการรถเมล์ฟรีทุกสาย 7 วันเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม
ตั้ง8จุดตรวจควันดำรอบกทม.
ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายหน่วยงาน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่ตรวจค่าควันดำรถโดยสารสารธารณะและรถบรรทุก เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น Pm 2.5 ในกรุงเทพมหานคร 8 จุด 1.หน้าพิวเจอพาร์ครังสิต 2.ท่าเรือคลองเตย 3.หน้าสวนจตุจักร ถ.พหลโยธิน 4. ถ.บางนา-ตราด กม.1 5. ถ.สุวินทวงศ์ หน้าการปะปามีนบุรี 6. ถ.พระรามสอง ขาออก หน้าแขวงการทางบางขุนเทียน 7.ถ.รังสิต-นครนายก กม.4 หน้าโลตัส 8. ถ.บรมราชชนนี ขาเข้า -ออก โดยจะให้เจ้าพนักงานกระจายตามจุดต่างๆต่อเนื่อง เพื่อเข้าควบคุมมลภาวะทางรถยนต์ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟท.) และหน่วยงานที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเข้าจัดการพื้นที่ทันที เบื้องต้นให้ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า – ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย และจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด
มท.สั่งทุกจว.ใช้กม.คุมเผาเด็ดขาด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการป้องกันและแก้ไข ปัญหาฝุ่นว่า มีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ อะไรมีอยู่ในมือต้องใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ จะปล่อยให้มีการเผาไม่ได้ เมื่อก่อนจะให้ใช้มาตรการเบาไปหาหนัก แต่ปัจจุบันต้องว่าตามกฎหมาย เพราะพูดกันมาบ่อยแล้ว ส่วนท้องถิ่นอย่างกำนัน ผู้ใหญ่ บ้านตนสั่งให้ช่วยกันดูแล แก้ปัญหา ตั้งแต่สาเหตุ ซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น การเผาทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย ควันดำจากรถยนต์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ไซต์งานก่อสร้างต้องเข้าไปดูเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ยืนยันรัฐบาล พยายามจัดการเรื่อง PM 2.5 มาตลอด นายกฯไม่ได้เพิกเฉย เรามีคณะกรรมการภัยพิบัติแห่งชาติบูรณาการทำงาน แต่ข้อเท็จจริงคือ เรื่องฝุ่นมีปัจจัยเยอะ ขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ในภาคเหนือ มีการประกาศให้เป็นพื้นที่งดเผา เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น และอำนวยความสะดวก ต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ นี่ไม่ใช่เวลามาผ่อนปรน ใครทำผิด ต้องเข้าไปจัดการ
มท.เข้มแก้ฝุ่น-15จว.ประกาศเขตห้ามเผา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยกล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย (มท.)ว่า มท.มีมาตรการอยู่แล้ว โดยผู้ว่าฯราชการ 15 จังหวัดได้ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ห้ามเผา ให้ใช้วิธีฝังกลบ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่ ผู้ว่าฯทราบอยู่แล้วว่าเมื่อพ้นเดือนธันวาคมต้องเตรียมรับมือในเรื่องดังกล่าว ขณะที่จ.เชียงใหม่ เชียงรายก็ดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือใช้รถให้น้อยลง มีมาตรการเวิร์คฟอร์มโฮม ลดฝุ่นในสถานที่ก่อสร้าง ถ้าคอนโทรลเรื่องเหล่านี้ได้ปริมาณฝุ่นจะลดลง
ย้ำผวจ.ใช้มาตรการ-กม.เข้มข้น
ส่วนระยะยาวจะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น นายอนุทินกล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องธรรมชาติจะห้ามไม่ได้ แต่สามารถบอกคนได้ เช่น ลดใช้รถยนต์ ให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ผู้ว่าฯต้องใช้มาตรการเข้มข้น ไม่ใช่แค่เพียงแปะป้ายเตือนไม่ให้เผา แต่ต้องมีมาตรการ เช่น การปรับหรือบังคับใช้กฎหมาย ถ้าแจ้งเตือนแล้ว ยังไม่เลิกต้องส่งดำเนินคดีให้หลาบจำ ที่ผ่านมาเราปลูกต้นไม้และใช้พลังงานสะอาด จนจะล้นเกิน 3,600 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเตรียมการลดมลพิษ ร่วมปฏิญญา สหประชาชาติลดโลกร้อน ลดขยะ ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชน และขออนุญาตใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ขณะนี้ทุกจังหวัดกำหนดช่วงวันห้ามเผา ถ้าใครเผาถือว่าผิดกฎหมาย
ฮึ่ม!ผู้ว่าฯยังมีเผาเจอเด้งเข้ากรุ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุ การแก้ปัญหาฝุ่นในกทม. ต้องขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลด้วย เพราะยังพบว่าจ.นครนายกยังมีการเผาอยู่ และเมื่อได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่รู้จะแก้อย่างไร นายอนุทินย้อนถามว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงไหน คงไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเพราะมท.ติดต่อผู้ว่าฯ คงติดต่อเจ้าหน้าที่ทุกระดับไม่ได้ ซึ่งมท.ออกคำสั่งไปนานแล้ว ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดในเรื่องการเผา
“ถ้ายังเผาอยู่ผู้ว่าฯต้องถูกย้าย ซึ่งจ.นครนายก สระบุรี พระนครศรีอยุธยาก็เป็นจังหวัดที่มีการประกาศ ถ้ายังปล่อยให้มีการเผา ผู้ว่าฯต้องมาเข้าห้องอบรมที่กระทรวงมหาดไทยสักพัก”นายอนุทินกล่าว
3เหล่าทัพผนึกแก้ฝุ่น-ไฟป่า17จว.เหนือ
ที่กระทรวงกลาโหม พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงหลังประชุมสภากลาโหมว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเน้นย้ำ การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ โดยรัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติ ภาค และจังหวัด จึงสั่งการหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม 3 เหล่าทัพ บูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ป้องกันแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ 17จังหวัดภาคเหนือ บูรณาการร่วมกันของ 3 เหล่าทัพ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนโดยประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกลไกความร่วมมือทุกระดับ (ระดับอาเซียน ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้ อาทิ GBC, HLC, TBC, RBC และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนาน) การจัดตั้งห้องปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ไฟป่าให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ดำเนินการแล้ว 3 แห่ง เมียนมา ลาว และกัมพูชา คาดว่าจะลดปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านได้ในระยะยาว
กทม.ยังอ่วม-แนะงดกิจกรรมกลางแจ้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวระหว่างลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กทม.ว่า สถานการณ์ฝุ่นวันนี้แย่กว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม วัดได้ระดับสีแดง 67 พื้นที่ หวังว่าจะเบาลงในช่วง 2 วันนี้ เพราะสภาพอากาศน่าจะเปิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าเป็นปัญหาไม่ใช้แค่กทม. แต่กินพื้นที่กว้างทั้งปริมณฑล ภาคลาง ภาคตะวันออก และอีกหลายจังหวัด ตอนนี้จึงอยากให้ระวังเรื่องสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง
“เรื่องการเผายังเป็นปัญหาหนักอยู่ โดยเฉพาะจากพื้นที่รอบนอก ยิ่งเมื่อลมพัดพาฝุ่นเข้ามาเมื่อเจอตึกสูงในกทม. ก็ชะลอความเร็วลงทำให้ฝุ่นเก็บกักอยู่ในเมือง จึงส่งทีมงานไปดูพื้นที่จ.นครนายก ก็ได้เห็นว่ามีการเผาเยอะ ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้การว่า พื้นที่ที่เผาเป็นนาปลูกข้าวนาปี ซึ่งมีตอซังใหญ่กำจัดวิธีอื่นยาก เกษตรกรจึงใช้การเผา และหน่วยงานท้องที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร”นายชัชชาติกล่าว
ปิดรร.352แห่ง-เข้มรถบรรทุกสีเขียว
นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) จำกัดโซนการวิ่งรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ลงทะเบียนสีเขียว ห้ามเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก รวม 9 เขต และแนวถนนผ่าน 13 เขต ที่เริ่มบังคับใช้ไปแล้ว ข้อมูลระหว่างวันที่ 23 มกราคมหลังประกาศ มีรถบรรทุกเข้าพื้นที่ 3,017 คัน ลงทะเบียนสีเขียว 305 คัน ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะโดนปรับทั้งหมด ตามพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งตรงนี้มีเสียงประชาชนว่าโทษเบา ต้องบอกว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. เราทำได้เท่าที่อำนาจจะมี การตรวจควันดำรถเราทำต่อเนื่อง กฎหมายตรงนี้มีพ.ร.บ. 3 ตัวคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก และพ.ร.บ. จราจรทางบก ซึ่งกทม. มีอำนาจแค่พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หลายอย่างจึงต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ด้านการสั่งปิดโรงเรียนสังกัด กทม.วันนี้ปิดแล้วรวม 352 แห่ง
ป่วยฝุ่นพิษพุ่ง3สัปดาห์144,000คน
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงการแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นพิษว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรค จากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พิจารณาแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยฝุ่นในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 มคก. ต่อลบ.ม.ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอความเห็นชอบมาที่อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณาประกาศ ซึ่งจะทำให้สามารถออกมาตรการที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานและพื้นที่ ไม่กระทบทั้งธุรกิจของนายจ้างและรายได้ของลูกจ้าง โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบต่อไป
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) ช่วงเดือนมกราคม ตัวเลขประมาณ 500,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 214,180 คน กลุ่มโรคตาอักเสบ 190,889 คน กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 126,553 คน โรคหืด 11,221 คน และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 2,171 คน ส่วนข้อมูลที่รายงานผ่านระบบด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) รายสัปดาห์ที่เข้ารับบริการในเดือนมกราคม 2568 ยังไม่เป็นปัจจุบัน แต่ภาพรวม 144,000 คน เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากที่สุด รองลงมา กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ฝุ่นพิษคลุ้งเกินเดือนกระทบศก.3พันล.
วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุสถานการณ์ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานปกคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน สะท้อนจาก ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เฉลี่ยสูงกว่าระดับ 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 18-26 มกราคม ทำให้คนบางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ศูนย์ฯคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาส โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท หากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน การท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะสูงกว่านี้ เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM 2.5 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี