‘อิ๊งค์’เต้น! ดันPM2.5วาระอาเซียน
ฝ่นพิษถล่มไทย
สั่งกต.ถกเพื่อนบ้านหยุดเผา
กทม.อันดับ8เมืองมลพิษโลก
ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานทั้งเมือง
ตงศูนย์ฉุกเฉินทางการแพทย์
นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ระบุ ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระอาเซียน ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน เผยเดินหน้าคุยเพื่อนบ้าน พร้อมเตรียมแผนรับมือระยะยาวไว้แล้ว รับมาตรการ Work From Home เป็นแนวทางแก้ปัญหา ขอหารือก่อน “คุณหญิงสุดารัตน์”เผยข้อมูลธนาคารโลก ชี้ คนไทยตายปีละกว่า 5 หมื่นคน จากฝุ่นพิษ PM2.5แนะรัฐบาลเร่งทำ 4 ข้อ ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 8 เมืองมลพิษโลก ฝุ่นเยอะสุดที่นครปฐม ส่วนสถานการณ์ของ กทม. ยังจมฝุ่น PM2.5เกินค่ามาตรฐานระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงประเทศไทย หลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าเรื่องฝุ่นไม่ใช่เฉพาะเป็นวาระแห่งชาติ แต่เป็นวาระของอาเซียน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ต้องทำตามกระบวนการ ขั้นตอนของต่างประเทศ ต้องไปคุยขอความร่วมมือจากอาเซียน ซึ่งมีการพูดคุยเรียบร้อยแล้วกับประเทศที่มีการเผา ขณะที่ในประเทศเราก็มีการเผา ทุกประเทศต้องมีมาตรการที่จะช่วยกัน ต้องขอความร่วมมือ เพราะสภาพอากาศที่มีลมพัดไปมา ต้องลดปริมาณการเผาในแต่ละพื้นที่ เช่น ในไทยทุกกระทรวงต้องมีมาตรการ มีการเตรียมการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ว่าถ้าหากมีการเผาจะต้องมีการปรับหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างไร
ขณะที่ด้านอุตสาหกรรมการเผาก็ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ส่วนฝุ่นเป็นเรื่องของการสะสมมันถึงเวลาแล้วไม่ใช่คนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำคือการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นให้ทันการณ์ ให้ดีที่สุด ระยะกลาง ระยะยาวก็ทำแล้ว ระยะสั้นก็ทำอยู่
รับ WFH เป็นแนวทางแก้ปัญหา
ส่วนการให้ Work From Home จะต้องมีประกาศจากหน่วยงานราชการหรือไม่ จากเดิมที่ให้มีการพิจารณาเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ สามารถคุยกันได้ว่าที่ไหนที่ Work From Home แล้วไม่กระทบกับการทำงานมากเกินไป จะช่วยลดเรื่องการเดินทางได้เยอะ
เมื่อถามย้ำว่าหน่วยงานราชการที่ไม่ต้องบริการประชาชน และสามารถทำงานผ่านออนไลน์ได้ รัฐบาลควรจะประกาศให้ Work From Home หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าข อไปคุยรายละเอียดก่อน แต่จากที่คุยกันเบื้องต้น คิดว่าเป็นไปได้ เพราะช่วงนี้ฝุ่นเยอะจริงๆ
สำหรับภาคเอกชนจะมีมาตรการจูงใจเพื่อ Work From Home อย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายที่ก็ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ขณะที่รัฐบาลก็มีมาตรการเร่งด่วน เช่น การขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ใช้งบฯ 140 ล้านบาท ซึ่งเอกชนหลายที่ก็ได้ใช้ด้วย ถือเป็นภาพรวมในการแก้ปัญหา
อุตฯใช้มาตรการหักเงินอ้อยลอบเผา
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ว่า ได้เดินหน้า 3 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มข้น มาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.มาตรการลดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อย ซึ่งประกอบด้วย 1.1 มาตรการงดรับซื้ออ้อยเผา โดยขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลหยุดรับอ้อยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2567 ถึง 2 ม.ค.2568 และขอความร่วมมือให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบช่วงวันที่ 2 - 12 ม.ค.2568 เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เยาวชนของชาติในช่วงวันเด็กแห่งชาติ
1.2 มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยที่ถูกเผา โดยให้โรงงานมีสิทธิปฏิเสธการรับอ้อยที่ถูกเผา และเห็นชอบอัตราการหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยที่ถูกเผาในแต่ละวันเป็นรายโรงงาน หากปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 0.01 – 25.00% หักเงินชาวไร่อ้อย ในอัตราตันละ 30 บาท และปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาตั้งแต่ร้อยละ 25.01 -ขึ้นไป หักเงินชาวไร่อ้อยเพิ่มอีกตันละ 100 รวมเป็นอัตราตันละ 130 บาท
1.3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568 กำหนดจ่ายเงินสนับสนุนในการรับซื้อใบและยอดอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ควบคู่กับการจ่ายเงินช่วยเหลือการตัดอ้อยสดคุณภาพดีให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งเข้าหีบในอัตราร้อยละ 100 เท่านั้น
ลดปล่อยฝุ่นโรงงาน-มลพิษยานยนต์
2. มาตรการลดการปล่อยฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย มาตรการกำกับและตรวจสอบโรงงานเพื่อเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ปล่อยจากปล่องอัตโนมัติแบบ Real Time หรือระบบ CEMs (Continuous Emission Monitoring Systems) ซึ่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบ CEMS จึงนำไปสู่การตรวจสอบและสั่งระงับการผลิตโรงงานไฟฟ้า/โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงงานน้ำตาล ที.เอ็น ลพบุรี รวมทั้งการสั่งปรับปรุงแก้ไขโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 17 โรงงาน
3. มาตรการลดการปล่อยมลพิษของยานยนต์ ประกอบด้วย การยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เป็นระดับยูโร 5 และระดับยูโร 6 เพื่อลดการปล่อยปล่อยฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งเร่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล
‘คุณหญิงหน่อย’ชี้ฝุ่นทวีความรุนแรง
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี กระทบประชาชน 45 จังหวัดกว่า 38 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของธนาคารโลกรายงานว่า มีคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากปัญหาฝุ่นพิษกว่าปีละ 50,000 คน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเดือนละหลายพันล้านบาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบในมิติของการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาล ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับปัญหานี้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่ออกเพียงมาตรการระยะสั้นที่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่ค่าฝุ่นสูงเท่านั้น โดยต้องมีแผนแก้ไขระยะยาว ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การลดระดับฝุ่นภายใน 2-3 ปี
แนะรัฐบาลเร่งทำ4ข้อ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้สูงอายุ หลายคนมีอาการเลือดกำเดาไหล ผื่นคัน และเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอื่นตามมา เช่น โรคมะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง จึงขอให้รัฐบาลเร่งทำงาน และวางแผนงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้ 1.) รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับแหล่งกำเนิดมลพิษ 2.) ขอให้รัฐบาลเร่งการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการควบคุมการเผาไหม้ 3.) เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและต่างจังหวัด จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างสวนสาธารณะ และปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างเปล่า 4.) รัฐบาลต้องส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และสนับสนุนประชาชนให้หันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกเงินสนับสนุนหรือให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดมลพิษในระยะยาว ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก ปลอดภัย และครอบคลุม
ฝุ่นกทม.ระดับสีแดง23พื้นที่
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอสรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 ประจำ วันที่ 25 ม.ค.2568 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 55.5-96.1 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 73.5 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 55.5 – 96.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีแนวโน้มลดลงพบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐาน 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ) จำนวน 23 พื้นที่ คือ สวนหนองจอก เขตหนองจอก : มีค่าเท่ากับ 96.1 มคก./ลบ.ม. เขตลาดกระบัง ด้านหน้า รพ.นคราภิบาล : 94.0 มคก./ลบ.ม. เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม : 93.4 มคก./ลบ.ม. เขตหนองจอก บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก : 93.1 มคก./ลบ.ม. เขตคันนายาว บริเวณปากทางถนนสวนสยามตัดกับถนนรามอินทรา : 92.2 มคก./ลบ.ม. เขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตรงข้ามสำนักงานเขตมีนบุรี : 91.9 มคก./ลบ.ม. เขตคลองสามวา ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา : 89.5 มคก./ลบ.ม. เขตบางนา บริเวณหน้าห้าง สรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา : 86.4 มคก./ลบ.ม. เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : 86.2 มคก./ลบ.ม. เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : 84.9 มคก./ลบ.ม.
สถานการณ์มีแนวโน้มทรงตัว
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 25 ม.ค. – 2 ก.พ. 2568
วันที่ 25-26 ม.ค. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน” ประกอบกับเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศเป็นไปได้อย่างจำกัด คาดว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มทรงตัว จากนั้นในวันที่ 27-28 ม.ค. จะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการระบายอากาศ “ดี” ก่อนที่จะกลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในระยะถัดไป
ขณะที่ แอปฯ IQAir ตรวจสอบคุณภาพอากาศ รายงานว่า เมื่อเวลา 07.32 น. พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 10 อันดับแรกของไทย ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ยังติดอันดับ 8 เมืองมลพิษโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ เมืองธากา ของบังกลาเทศ
ทอ.เตรียมเครื่องบินโรยน้ำแข็งแห้ง
พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงการสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ส่วนใหญ่กองทัพอากาศสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์และอากาศยาน โดยใช้เครื่องบินทางธุรการที่สามารถกระจายเสียงให้ประชาชนรับทราบ ในการขอความร่วมมืองดทำลายด้วยการเผา ปัจจุบันมีเครื่องบินแบบพีซเมคเกอร์ ในเฟสแรก นอกจากนี้ยังมีดาวเทียมนภา 2 ซึ่งมีความละเอียดค่อนข้างดี และยังมีกล้อง MX15D ที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6 และ DA-42 โดยเมื่อได้ภาพมาแล้ว สามารถสกรีนจุดความร้อน และจับจาก 1000 จุด ให้เหลือ 40-50 จุดได้ ที่ผ่านมาเราก็ใช้วิธีการแบบนี้ ซึ่งภาพที่ได้มีความแม่นยำสูงทำให้สามารถวางแผนในการนำเครื่องบินไปทิ้งสารหรือปล่อยสารสกัดจุดความร้อน ในเส้นทางที่อาจจะลุกลามซึ่งเป็นการประหยัด รวดเร็ว และทันท่วงที
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบิน BT-67 ที่ใช้ในการปล่อยสารยับยั้งไฟป่า รวมทั้งมีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังมี ฮ. ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีการฝึกซ้อมร่วมกัน และมีการพัฒนาให้มีความแม่นยำในการยับยั้งไฟป่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
ส่วนปัญหาฝุ่นแบบภาวะฝาชีครอบ จะดำเนินการอย่างไรนั้น ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า จากที่ได้พูดคุยมา จะมีการนำเครื่องบินโรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อจะเจาะรูโดยจะทำที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการพูดคุยกับทาง กทม. แล้ว และมีการเตรียมเครื่องบินสำรองไว้ให้คือ BT-67 และ AU-23 หรือพีชเมคเกอร์ หากมีการร้องขอ
ไฟป่าระยองทำค่าฝุ่น PM2.5 พุ่ง
ไฟป่าระยองที่เขาจอมแห อ.นิคมพัฒนา ลุกลามต่อเนื่อง หลายวัน จิตอาสาและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำงานสุดกำลัง เรียกร้องหน่วยงานหลักเข้าช่วยเหลือด่วน ขณะที่ค่าฝุ่นPM 2.5 สูงอันตราย
ที่จังหวัดระยอง เกิดปัญหา ไฟป่าลุกลามบริเวณ เขาจอมแห ซึ่งมีพื้นที่ป่า กว่า 20,000 ไร่ กินพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอบ้านฉาง และอำเภอเมือง ระยอง โดยไฟได้ลุกลามเผาใหม้พื้นที่ป่ามาแล้ว 5 วันกินเนื้อที่ป่าไปแล้วประมาณ 30% ยังไม่สามารถดับได้
นายกิตติพงษ์ บำรุงพงศ์ อายุ 57 ปี ทีมออฟโรดจิตอาสาที่ลงพื้นที่เปิดเผยว่าตั้งแต่เกิดไฟปะทุมาแล้ว 5 วันที่ผ่านมาการเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะเป็นเขาที่ลาดชันต้องใช้รถออฟโรดใต่เขาขึ้นไปเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ ทีมดับไฟหลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อเข้าไปซึ่งยังไม่สามารถที่จะดับได้ 100% ประจวบกับถ้ามีลมกระโชกก็จะทำให้ไฟลุกโหมขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะไฟลามมาตั้งแต่ฝั่งอ.เมือง จนมาถึงฝังของ อ.นิคมพัฒนา รวมทั้ง อ.บ้านฉาง โดยเฉพาะฝั่งเขาจอมแห มีบ้านเรือนของประชาชนอยู่เกรงว่าจะลามจนเอาไม่อยู่จึงอยากขอประสานหน่วยงานที่มี ฮ.ลงมาช่วยดับให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ค่าพีเอ็ม 2.5 ในจ.ระยองสูงเกินมาตรฐานทำให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจแล้วหลายรายอีกด้วย
โดยค่า PM 2.5 เวลา 8:00 น. ของวันเดียวกันนี้อยู่ที่ 198 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ควรสวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และควรสังเกตอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
กทม.รับมือด้านสาธารณสุข
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องด้วยปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคและผลกระทบสุขภาพที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ต้องมีการติดตามสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพและติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เพื่อเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละออง สร้างสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รองปลัดกทม. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง พร้อมกำชับให้สถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน
อันตรายระดับสีแดง
สำหรับในช่วงที่ฝุ่นหนาแน่นระดับสีแดง (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) กรุงเทพมหานครขอแนะนำประชาชน ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่น หลีกเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้านและงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือ วิงเวียนศีรษะให้รีบไปพบแพทย์ โดยสามารถเข้าไปที่คลินิกมลพิษทางอากาศทั้ง 8 แห่ง ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลนคราภิบาล และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ตลอดจนศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
“พิธา”จับผิดมติอาเซียน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ฝากไปถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เท่าที่นายกฯ ระบุว่าจะให้เป็นวาระอาเซียนนั้น ต้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี ว่า Asean Agreement ในการตกลงเรื่องมลพิษข้ามแดน มีมาตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งในสิงคโปร์ ปี 2013 มีค่าฝุ่นอยู่ที่ 400 กว่า มาจากการเผาที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปาล์มและอุตสาหกรรมกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกันก็จะเห็นว่าประเทศไทยก็มีอะไรคล้ายกัน ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านและจากการเผาการเกษตรเหมือนกัน ทั้งนี้ ที่สิงคโปร์ทำ 2 อย่าง คือ พรบ.อากาศสะอาด และ พรบ.ฝุ่นข้ามชาติ โดยสภาของสิงคโปร์ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ในการผลักดันกฎหมายนี้ แต่ พรบ.อากาศสะอาดของไทย ใช้เวลานานพอสมควร ทั้งที่ควรจะเป็นวาระเร่งด่วน
นายพิธา กล่าวต่อว่า เมื่อ พรบ.อากาศสะอาดเสร็จ ควรจะจะต้องมีพรรคการเมืองเสนอ พรบ.ฝุ่นข้ามชาติ ที่ให้อำนาจรัฐบาลลงโทษบริษัทต่างชาติ ที่ทำธุรกรรมในไทย ถือเป็นกฎเหล็กที่สามารถใช้บังคับกฎหมายได้ ส่วนในระดับประเทศก็ต้องมีกฎหมาย โครงสร้างทางอำนาจมากำกับดูแล และในท้องถิ่นควรมีงบประมาณเข้ามาบริหารจัดการเยอะๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย
มติอาเซียนมีนานแล้ว
“มันมีทั้งมิติในระดับอาเซียน ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น นายกฯ ต้องทำให้ได้ เพราะเรื่องพวกนี้ป้องกันง่ายกว่าการรักษา PM 2.5 มันทำนายได้ คิดว่าวันที่ 1 ก.พ. บางพื้นที่ก็ยังยังจมฝุ่นอยู่ คราวนี้คุณมาแก้ปัญหาครึ่งทางแล้ว เผลอๆ รอเวลาไปเรื่อยๆ ลมมันพัดไปคุณก็มาเคลมว่า ฉันแก้ได้แล้ว อย่างที่เคยพูดไว้ว่าใครที่จะมาเป็นรัฐบาลในปี 70 ต้องแก้ฝุ่นไฟฝน แล้วกลับมาฝุ่นอีกรอบหนึ่ง” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า เรื่องพวกนี้ต้องแก้ปัญหาล่วงหน้า ถ้ามาคิดตอนนี้มันก็สายไป ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าเตรียมการมาแล้ว จริงๆ รัฐบาลเพื่อไทยก็มีนายกฯ 2 คน ก่อนที่มันเป็นนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ก็เป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ข้อสั่งการที่สั่งการไว้มันกลายเป็นฝุ่นไปหมดแล้ว
“ผมก็ไปนั่งไล่ดู ให้ อว. ไปติดตาม ให้คนทำอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วตอนนี้ผลงานมันอยู่ที่ไหน ถ้าคุณจะมีข้อสั่งการผมไม่ว่า แต่ถามว่าผลงาน ที่ต่อเนื่องมาจากข้อสั่งการเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา มันอยู่ที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูว่าพูดแล้วทำจริงหรือไม่” นายพิธา กล่าว
แก้ไขปัญหาไม่ได้เต็มที่
เมื่อถามว่ามาตรการเร่งด่วนให้ขึ้นรถไฟฟ้า-รถสาธารณะ ฟรี โดยเอาเงิน 140 ล้านบาทไปอุดหนุน นายพิธา กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องไปดูว่าในกรุงเทพฯ มาจากการคมนาคม หรือ การเผาไหม้มาจากที่อื่น จะรู้เลยว่า 80% มาจากต้นตออะไร คราวนี้เรื่องคมนาคมก็จะเป็นแค่เรื่องเดียว ซึ่งไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะรถเมล์ก็ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นควันเยอะพอสมควร ซึ่ง ส.ก. พรรคประชาชนก็ได้ผ่านข้อบัญญัติเรื่องรถเมล์ไฟฟ้าไปแล้ว ต้องไปดู ขสมก. ที่เป็นแบบเก่า พร้อมแนะนำว่า มาตรการนี้อาจบังคับใช้ช่วงเช้าและช่วงเย็นก็ได้ เป็นช่วงที่คนใช้ขนส่งมวลชน ดังนั้น ควรเกาให้ถูกที่คัน ตนยังไม่มีข้อมูลในมือว่า ฝุ่นในกรุงเทพฯ 70% มาจากการเผา ไม่ได้มาจากการคมนาคมสักเท่าไหร่ อาจจะแก้ไขปัญหาได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี