กทม.ใช้“ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ” ช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 / ปลัดสั่งเพิ่มความเข้มงวดแผนลดฝุ่น ช่วงวิกฤต
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีมีข้อวิจารณ์ถึงกรุงเทพมหานครว่าไม่ใช้ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้นั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตต่างๆ ได้เคยมีการออกประกาศ เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และมีการใช้บังคับแล้วในปี 2566 ซึ่งเมื่อสถานการณ์ภายในเขตพื้นที่นั้นๆ ได้มีการระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนแล้ว สำนักงานเขตได้ออกประกาศเพื่อยกเลิกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญดังกล่าว ส่วนในปี 2567 - 2568 หลายสำนักงานเขตได้ออกประกาศเพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขต โดยมีสำนักงานเขตหนองจอก สำนักงานเขตทวีวัฒนา และสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ออกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พร้อมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
สำหรับการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้จัดทำแนวทางการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นแนวทางให้กับสำนักงานเขตพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมและป้องกันปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่เขต โดยสำนักงานเขตต้องพิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญเมื่อในพื้นที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน
โฆษก กทม.กล่าวว่า นอกจากการใช้ยาแรง โดยการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งจะต้องมีการประกาศเพื่อยกเลิกเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว กรุงเทพมหานครยังดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 โดยได้มีการฉีดล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างใบไม้ในพื้นที่เขตและในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครทุกวัน เข้มงวด ตรวจตรา ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท ทั้งยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ “แผนลดฝุ่น 365 วัน” ในระยะปกติ ค่าฝุ่นสีฟ้า - เขียว ดำเนินการ 1. ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน 1 ครั้ง/วัน Sensor ตรวจวัด 1,000 จุด 2. กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ (รถยนต์ อู่รถเมล์ รถบรรทุก) ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก รถอัดฟาง Feeder พัฒนาทางเท้า จัดการจุดฝืด Bike Lane ส่งเสริม EV 3. ป้องกันประชาชน ได้แก่ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ ปลูกต้นไม้ล้านต้น 4. สร้างการมีส่วนร่วม ได้แก่ แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสภาลมหายใจ ส่วนในระยะวิกฤต ค่าฝุ่นสีเหลือง - ส้มขึ้นไป ยังคงดำเนินการตามแผนต่อเนื่อง แต่เพิ่มมาตรการให้เข้มข้นยิ่งขึ้น 1. ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ เพิ่มการจัดตั้ง War Room เพิ่มการแจ้งเตือนเป็น 3 ครั้ง/วัน เพิ่มการแจ้งเตือนผ่าน Line Alert รวมทั้งเพิ่มการติดตาม Hot Spot 2. กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ 3 ครั้ง/สัปดาห์ (เพิ่มการตรวจบริเวณท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม) ประสานวัด/ศาลเจ้างดจุดธูปเทียน ห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง หยุดก่อสร้าง ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ดำเนินมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) มาตรการ WORK FROM HOME 3. ป้องกันประชาชน ได้แก่ เพิ่มการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพิ่มการแจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก แก่ประชาชนทั่วไป เด็กนักเรียน และกลุ่มเปราะบาง ให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศ โรงเรียนสู้ฝุ่น และประสานความร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
นอกจากนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินการตามมาตรการและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 ดังนี้ 1. เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด 2. ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขัน ห้ามจอดรถในถนนสายหลักและสายรองตลอดเวลา 3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ จอดรถให้ดับเครื่อง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 4. ควบคุมสถานประกอบกิจการ โรงงาน แพลนท์ปูน และสถานที่ก่อสร้างในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 5. ขอความร่วมมือศาลเจ้า มูลนิธิ และวัด งดจุดธูปและเผากระดาษ 6. เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท 7. เพิ่มความถี่ในการล้างถนนและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง 8. พิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในกรุงเทพมหานคร และบังคับใช้ประกาศอย่างเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการในประกาศฯ 9. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้พร้อมแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัย จากฝุ่นละออง PM2.5 ให้กับประชาชน และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue 10. ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมทั้งให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศดูแลสุขภาพประชาชน 11. ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน
ทั้งนี้ ในส่วนของผลการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 - 24 ม.ค. 68 (ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ 2 ครั้ง/เดือน) ได้มีการตรวจสถานประกอบการ/โรงงาน สะสม 14,604 ครั้ง ผลไม่ผ่าน 8 แห่ง จาก 236 แห่ง ได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจแพลนท์ปูน สะสม 2,437 ครั้ง ผลไม่ผ่าน 17 แห่ง จาก 105 แห่ง ได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจสถานที่ก่อสร้างในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต สะสม 4,956 ครั้ง ผลไม่ผ่าน 33 แห่ง จาก 231 แห่ง ได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจสถานที่ก่อสร้างในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา สะสม 5,762 ครั้ง ผลไม่ผ่าน 1 แห่ง จาก 361 แห่ง ได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจถมดิน/ท่าทราย จำนวน 17 แห่ง ผลการตรวจสะสม 523 ครั้ง ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง สะสม 3,680 คัน เกินค่ามาตรฐาน 19 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ สะสม 263,631 คัน สั่งห้ามใช้ สะสม 3,096 คัน โดยตรวจ ณ วันที่ 24 ม.ค. 68 จำนวน 518 คัน สั่งห้ามใช้ 13 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง สะสม 56,638 คัน สั่งห้ามใช้ สะสม 145 คัน และตรวจรถบรรทุก สะสม 141,345 คัน สั่งห้ามใช้ สะสม 724 คัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี