รศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) ในฐานะประธานคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตหนองจอก (คคพ.เขตหนองจอก)จัดพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดสร้าง-ส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ ระหว่าง คคพ.เขตหนองจอก กับโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก จำนวน 37 แห่ง” เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 อาคาร MIIX มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
โดย รศ.ดร.ภานวีย์ กล่าวว่า การเผาขยะครั้งเดียวอาจจะดูเป็นการกระทำเพียงเล็กน้อยแต่อาจส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ได้ เหมือนทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก ที่ผีเสื้อกระพือปีกจากซีกโลกหนึ่งอาจก่อให้เกิดพายุในอีกซีกโลกได้ การเผาก็เช่นกันหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดหมอกควัน ปริมาณมาก ก่อมลพิษในอากาศ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวชุมชน
ดังนั้น การใช้เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษจึงเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยคุณวรเกียรติ สุจิวโรดม นักธุรกิจเจ้าของชาวนามหานคร’ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ได้นำร่องโครงการนี้ โดยการถ่ายทอดองความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และการระดมทุนเพื่อสร้างและส่งมอบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ โดยเน้นการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ทั้งการคัดแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภท และการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด
“ถ้าถามว่าทำไมต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างและส่งมอบเตาเผาให้โรงเรียน ผมในฐานะที่เป็นภาคส่วนด้านการศึกษา มีหน้าที่รับช่วงเยาวชนจากโรงเรียน มาปั้นแต่งให้เป็นอนาคตที่มีศักยภาพของสังคมประเทศชาติ หากเยาวชนได้รับการปลูกฝัง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมใด งานของผมจะง่ายขึ้น” รศ.ดร.ภานวีย์ กล่าว
อาจารย์โกศล แสงทอง ผู้นำเสนอแนวคิดนำเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษมาใช้ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการออกแบบเตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ กล่าวว่า เตาเผาขยะชีวมวลลดมลพิษ ถูกออกแบบให้มีผนังสองชั้น ชั้นในจะมีช่องเติมอากาศทั้งสี่ด้านและตะแกรงด้านล่างของเตาที่ยกสูงขึ้นเพื่อให้อากาศไหลผ่านช่องด้านล่างเข้าไปช่วยในกระบวนการเผาไหม้ ผนังชั้นนอกจะเป็นฉนวนเป็นตัวช่วยให้อากาศร้อนหมุนเวียนและนำควันกลับมาเผาซ้ำในห้องเผาไหม้ชั้นใน
ซึ่งเมื่อมีการหมุนเวียนความร้อนภายในเตาระยะหนึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิภายในเตาเพิ่มขึ้นประมาณ 350 องศา ซึ่งเพียงพอที่จะสลายสารพิษในขยะก่อนปล่อยออกภายนอก โดยปล่องควันเจาะช่องเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ โดยรอบเพื่อดึงอากาศมาช่วยเผาไหม้ควันที่มีก๊าซพิษปะปนอยู่ที่ปลายปล่องอีกครั้ง ทำให้เหลือควันน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับความชื้นของขยะเป็นสำคัญ
“การใช้งานจะเติมขยะด้านบนโดยจะเน้นเผาขยะแห้งทั่วไปประมาณ 3% ของขยะที่มีอยู่ในโรงเรียนหรือชุมชน เตาจะก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน สามารถสร้างได้ ซ่อมบำรุงได้ วัสดุประกอบด้วย อิฐแดง 1,100 ก้อนปูนก่อ 5 ลูก ปูนฉาบ 3 ลูก หิน 1 ลบ.ม. ทรายหยาบ 1 คิว เหล็กเส้น 2 หุนเต็ม 7 เส้น เหล็กข้ออ้อย 4 หุนเต็ม 3 เส้น กระเบื้องแผ่นเรียบ 1 แผ่นอิฐบล็อก 20 ก้อน ลวดผูก 1/2 กก. เหล็กปล่องควันรวมต้นทุนประมาณ 7,500-8,000 บาท” อาจารย์โกศลระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี