27 ม.ค. 2568 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการจัดเวทีรณรงค์สาธารณะเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อกฎหมาย “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้ พ.ศ. ..” โดย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในปี 2497 ซึ่งประเทศไทยมีการออกประมวลกฎหมายที่ดิน โดยกำหนดให้ประชาชนแจ้งการครอบครองที่ดินภายใน 180 วัน
ซึ่งเมื่อประชาชนมาแจ้งแล้วรัฐจะออกเอกสารเรียกว่า สค.1 ให้ แต่ปัญหาคือมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน ด้วยเหตุผล เช่น ชาวบ้านทำประโยชน์ในที่ดินนั้นไปโดยไม่มีบุคคลใดมารบกวนสิทธิ์ เพราะชาวบ้านในละแวกนั้นก็รู้จักกันหมดจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องไปแจ้ง หรือไม่ได้รับการสื่อสารว่าต้องไปแจ้งเนื่องจากอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร
“ยกตัวอย่างเช่นที่ป่าตองภูเก็ต สมัยก่อนไปยากมากเพราะไม่มีเส้นทางจากอำเภอเมืองข้ามภูเขาไป ใครเดินทางจากอำเภอเมืองข้ามภูเขาไปตายหมด เพราะมีเสือ ใครข้ามไปเจอเสือกัดตายหมด จะต้องเดินทางทางเรือเท่านั้น ฉะนั้นส่วนที่ป่าตอง ถ้าไม่ได้ไปแจ้ง สค.1 ก็ต้องบอกว่าเสียดายมาก แล้วหลายคนก็ไมได้ไปแจ้งจริงเพราะอาจจะเกิดจากถิ่นทุรกันดาร แต่ถ้าใครถือ สค.1 จนถึงปัจจุบันนี่ผมว่าเป็นมหาเศรษฐีนะ เพราะที่ดินราคาไม่ต่ำกว่า 70 ล้าน” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล
พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อประชาชนไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินในระยะเวลาที่กำหนดก็ทำให้เสียสิทธิ์ เท่ากับเสียสิทธิ์ในครั้งที่ 1 ต่อมาเมื่อรัฐประกาศกฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายอุทยาน กำหนดให้ไปแจ้งคัดค้านภายในเวลา 90 วัน ขณะที่รัฐก็ไปทำแผนที่ขนาด 1 ต่อ 50,000 ขึ้นมาติดในชุมชน คำถามคือชาวบ้านจะรู้หรือไม่ว่าที่ดินของตนเองอยู่ในแผนที่ประกาศเป็นเขตป่าหรืออุทยาน แต่การไม่มาแจ้งสิทธิ์คัดค้านการประกาศพื้นที่ป่าหรืออุทยานก็เท่ากับเสียสิทธิ์เป็นครั้งที่ 2 ที่ดินนั้นกลายเป็นของรัฐทันทีและชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็ถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ หากไปดูกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ จะพบนิยามที่ระบุว่า ป่า หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงหมายความว่าพื้นที่ใดที่ออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ก็ถือเป็นป่าทั้งหมด และมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบันและยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ประชากรจำนวนเพิ่มขึ้น และแม้จะมีการประกาศพื้นที่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ชั่วคราว เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. แต่ก็ไม่เพียงพอ
แม้กระทั่งแนวปฏิบัติของแต่ละแห่งก็ยังแตกต่างกัน เช่นที่ จ.ภูเก็ต มีกรณีป่าเขารวก-เขาเมือง มีการสำรวจจำนวนประชากรที่อาศัยในพื้นที่ ให้ทางเลือกว่าสำหรับผู้ที่ยินดีย้ายออกจะได้รับค่าชดเชย ส่วนผู้ที่ไม่ย้ายออกก็จะกันพื้นที่จุดนั้นออกจากเขตป่าสงวน หรือขอให้ย้ายจากบริเวณกลางป่ามาอยู่บริเวณริมขอบแนวเขตป่า เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ซึ่งตามหลักการแล้วควรทำแบบนี้ แต่อีกหลายพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการแบบเดียวกัน
“ผมยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในหมู่บ้านเดียวกันถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนทั้งหมู่บ้าน ในขณะที่ประกาศเขตป่าสงวนชุมชนเกิดขึ้นแล้ว เป็นหมู่บ้านแล้ว บ้านหลังหนึ่งมีการไปแจ้ง สค.1 ไว้ ช่วงปี 2497 อีกหลังหนึ่งข้างๆ ไม่ได้ไปแจ้ง พอเขาประกาศเป็นเขตป่าสงวนก็ไม่มีใครไปคัดค้าน กลายเป็นว่าที่ดินตรงนั้นกลายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่คนที่ได้ สค.1 สามารถไปออกโฉนดได้เพราะเขาถือว่ารัฐให้ประโยชน์คุณก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน ในขณะที่ข้างบ้านออกโฉนดไม่ได้แถมยังเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนอีก” พ.ต.ท.ประวุธ ระบุ
พ.ต.ท.ประวุธ ยังกล่าวอีกว่า บ้านติดกัน อยู่มาพร้อมๆ กัน หลังหนึ่งออกโฉนดได้แต่อีกหลังออกไม่ได้ นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยภาคประชาชนต้องการให้นิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากกนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) แต่ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ควรย้อนไปถึง 2497 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประชาชนเสียสิทธิ์เนื่องจากการไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือแจ้งคัดค้านการประกาศพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อุทยาน
ประการต่อมา กลุ่มเป้าหมายแรกของการนิรโทษกรรมคือผู้ที่อยู่มาก่อน และควรได้สิทธิ์ในที่ดินนั้นคืนด้วย ไม่ว่าจะครอบครองเนื้อที่เท่าใดก็ตาม หากพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าอยู่มาก่อนจริง ซึ่งการพิสูจน์ก็ไม่ยาก ในฐานะที่ตนเคยอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาก่อน เรื่องนี้สามารถใช้ภาพถ่ายทางอากาศซึ่งเริ่มถ่ายกันมาตั้งแต่ปี 2493 และถ่ายทุกๆ 10 ปี มาเปรียบเทียบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินแปลงนั้นมีการใช้ประโยชน์มาก่อนหรือไม่ นอกจากนั้นยังจะมีการล้างมลทิน เพื่อไม่ให้มีประวัติอาชญากรรมติดตัวซึ่งจะกระทบต่อการไปหางานทำ
อย่างไรก็ตาม มีภาคประชาชนเรียกร้องเข้ามาว่าอยากให้เพิ่มเติมกลุ่มคนที่มาทีหลังการประกาศเขตป่าสงวนหรืออุทยาน ซึ่งด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้เป็นผู้กระทำผิด แต่อีกด้านหนึ่งสาเหตุอาจมาจากความยากจน ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จึงใส่กลุ่มนี้ไปด้วย แต่ให้เฉพาะการนิรโทษกรรมและล้างมลทินเท่านั้น ไม่ให้สิทธิ์ในที่ดิน และไมได้ให้กับทุกคน เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำคดีมา การบุกรุกที่เป็นจำนวนมากๆ มักเป็นผู้มีอิทธิพล
“เราก็เลยมองว่าจำนวนเนื้อที่เท่าไหร่ดีถึงจะเป็นแนวขีดเส้นที่เราจะนิรโทษกรรม เราก็เลยไปมองที่กฎหมาย บอกว่าถ้าบุกรุกเกิน 25 ไร่ ถือว่าเป็นเหตุเพิ่มโทษ ก็แสดงว่าคนที่บุกรุกเกิน 25 ไร่ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนรายใหญ่ เราไม่ต้องการให้นายทุนแทรกซึมเข้ามาในกลุ่มนี้ เราก็เลยไปขีดเส้นไว้ที่ 25 ไร่ ว่าใครบุกรุกเกิน 25 ไร่เราไม่นิรโทษกรรมให้ เราไม่ล้างมลทินให้” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า คำสำคัญมากคือการนิรโทษกรรมกรณีป่าไปรุกคนไม่ใช่กรณีคนไปรุกป่า และอย่าเพิ่งพ่วงอะไรเข้ามา เช่น พวกที่เข้ามาหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิ.ย. 2541 เพราะต้องทำให้ขบวนรถไฟนี้มีความชอบธรรม คำว่านิรโทษกรรมพยายามใช้ให้เป็นคำคำเล็กหน่อย แต่เป็นคำที่ว่าด้วยการทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมาก่อนหรือมาหลังการประกาศเขต
อย่างที่พูดถึงคือ 1.เขตการออก สค.1 แล้วประชาชนก็ไมได้เข้าไปซึ่งก็ไม่แปลก ขนาดทุกวันนี้หน่วยงานราชการมีสื่อสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าประชาชนจะเห็น ในยุคอดีตที่ไม่มีอะไรนอกจากกระดาษ A4 ไปแปะประกาศที่หมู่บ้าน จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะตกสำรวจ บางคนก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก และยังมาย้ำอีกใน 2.อะไรที่ไม่ได้ออกโฉนดคือพื้นที่ป่า และ 3.สำทับไปอีกคือการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตป่า มีการขีดเส้นบนแผนที่ที่รายละเอียดน้อยมาก ทับใครไปบ้างแม้แต่คนขีดก็ยังไม่รู้
“เราต้องชวนให้คนในเมือง และคนที่กำลังอยู่ในเส้นทางที่เราจะต้องไปคุยกับเขาด้วยว่าเรามาสนใจ 3 เส้น 3 เวลานี้กันเถอะ แล้วคุณจะเรียกมันว่านิรโทษหรือไม่ แล้วแต่คุณ ไปบัญญัติมาก็แล้วกัน เพราะถ้าคุณเห็น 3 เส้นนี้ แล้วคุณจะเห็นแล้วว่าไม่เป็นธรรมยาวนานต่อเนื่องมาตลอดทุกครั้งที่มีการขีดเส้น 3 เส้น ฉะนั้นเรื่องเล่าต้องย้อนไปถึง 3 เส้นนั้นให้ได้ อย่าเพิ่งเล่าเฉพาะวันถูกจับ เพราะวันที่ถูกจับแปลว่าท่านไม่สามารถแยกแยะตัวท่านเองจากพวกหลังมิถุนา’41 ต้องแยกให้ได้เพื่อให้เราเกี่ยวข้องกับ 3 เส้นนั้น เส้นใดเส้นหนึ่งก็ยังดี” นายวีระศักดิ์ กล่าว
(ซ้าย) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ , (ขวา) ศ.(กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว
ศ.(กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชีวิตของประเทศไทยมีหรือเปล่า สังคมที่เราอยู่มีชีวิตร่วมกันหรือไม่ ซึ่งชีวิตของประเทศจะไม่มีหากเราไม่สามารถร่วมทุกข์กันได้ ในขณะที่กฎหมายถูกใช้เพื่อความสะดวกของนักกฎหมาย ไม่ใช่ความสะดวกของการทำความเข้าใจความทุกข์ของประเทศ หากประเทศไม่สามารถจะร่วมทุกข์กันได้ ก็ต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าประเทศเรามีชีวิตร่วมกันอยู่ตรงไหน
“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราอยากจะร่วมทุกข์กันได้ในบางแง่มุมที่เราเข้าใจกันได้ แล้วอันนี้ผมก็พูดเพราะมีความหมายต่อมหาวิทยาลัยด้วย มีความหมายว่ามหาวิทยาลัยร่วมทุกข์กับพี่น้องที่เผชิญกับการประกาศเรื่องซึ่งสำคัญมาก ก็คือป่าถูกทำลายเยอะ มันต้องทวงคืน นี่ก็ถูก แต่ว่าการประกาศบนภาษาที่คนยอมรับแต่ลึกๆ ไปกลายเป็นใช้ประกาศนั้นไปรังแกคนที่ยังฟังไม่ทันเลยว่าเราอยู่กันมาปู่ย่าตายาย ประเด็นแรกคือความทุกข์ร่วมกันเป็นคำซึ่งในศาสนธรรมที่เรารู้จักตั้งแต่เด็ก นั่นละคือความทุกข์ร่วม เรารู้สึกถึงโอกาสที่จะคิดข้างหน้าร่วมกัน” ศ.(กิตติคุณ) สุริชัย กล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีอะไรมาก คือตอนขีดเส้นกับแผนที่ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ตอนขีดใช้ดาวเทียมโดยไม่ได้ดูว่าจะไปกระทบกับประชาชนที่อยู่มาก่อนหรือไม่ และเมื่อประกาศออกไปประชาชนก็กลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่ป่าสงวนหรืออุทยานต่างหากที่มาบุกรุกประชาชน เพราะการบุกรุกคือคนมาทีหลังมาบุกรุกคนมาอยู่ก่อน นี่คือปัญหาของประเทศไทยที่เอากฎหมายไปบุกรุกประชาชนแต่บอกว่าประชาชนบุกรุก
แต่การที่จะทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จออกมาได้ก็ต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งหลักการที่สำคัญคือสิ่งที่จะถูกย้อนกลับมาว่าทำแบบนี้คนบุกรุกป่าก็พ้นผิดกันหมดแล้วก็จะเกิดการบุกรุกกันอีกใหญ่โต ก็ต้องพูดให้ชัดว่าเราแก้ปัญหาป่าหรืออุทยานบุกรุกคน รวมถึงลูกหลานของเจ้าของที่ดิน ที่เป็นการสืบมรดกอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กับคนที่มาซื้อที่ดินต่อจะครอบคลุมหรือไม่ เรื่องนี้จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ยิ่งซื้อต่อไปทำอย่างอื่น เช่น ทำรีสอร์ท ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่เพื่อทำกิน สิทธิ์นี้ก็ไม่ควรครอบคลุมไปถึง
“นี่เป็นรายละเอียด แต่ผมเพียงชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้จะสำเร็จถ้าเราชูเรื่องความเป็นธรรม เราแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน อุทยานบุกรุกคน ตรงไหนป่าบุกรุกคน ตรงไหนอุทยานบุกรุกคน ก็ต้องไม่ผิด ความจริงไม่ควรเกิดการจับกุมแต่แรกอยู่แล้ว แต่ในเมื่อมันยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียทีก็ต้องนิรโทษกรรมเลยแล้วกัน แต่ว่าภายใต้หลักการนี้ นิรโทษกรรมคนซึ่งไม่ผิด ที่ไม่ผิดเพราะว่าป่าบุกรุกคน อุทยานบุกรุกคน คืออยู่มาก่อนการประกาศเขตทั้งหลาย ถ้าหากเราชัดเจนในการสื่อสารออกไปอย่างนี้ เรื่องของชื่อ 1 หมื่นชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี