แพทย์ห่วงชายไทย!! พบมะเร็งต่อมลูกหมากพุ่งสูงเป็นอันดับ 4 เตือนผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองเป็นประจำ เผยปัจจุบันมีพัฒนาการยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่NHT ในมะเร็งระยะลุกลาม มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อยส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
วันที่ 27 ม.ค.2568 บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด จัดเสวนาหัวข้อ"รอบรู้เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก"โดยมีศ.นพ. กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบ ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.นพ. ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เข้าร่วมและพญ. ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ผศ.นพ.ปองวุฒิ กล่าวว่า ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะของเพศชายมีรูปร่างคล้ายเกาลัดขนาดเล็ก อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและด้านหน้าทวารหนัก ทำหน้าที่สร้างของเหลวที่เป็นส่วนประกอบของน้ำอสุจิ ฮอร์โมนเพศชายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญของต่อมลูกหมาก แต่หากเซลล์ในต่อมลูกหมากมีความผิดปกติและแบ่งตัวไม่หยุดยั้ง จะกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม หากมีญาติสายตรง เช่น พ่อ ปู่ พี่ชาย หรือน้องชายที่มีพ่อแม่เดียวกันเป็นโรคนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ เชื้อชาติ โดยชาวยุโรปและสหรัฐฯ มีอุบัติการณ์มากกว่าคนเอเชีย อีกทั้งภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ เช่น มีการใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อการกีฬา หรือการออกกำลังกาย ซึ่งไม่จำเป็นเพราะทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้โดยปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยจากกลุ่มนี้มีอัตราเพิ่มมากขึ้น
ผศ.นพ.ปองวุฒิ ระบุด้วยว่าปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 ชี้ให้เห็นว่ามะเร็งต่อมลูกหมากในไทยพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย รองจาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,829 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 7,830 ราย ในขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก 397,430 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 1,467,854 ราย พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย รองจากมะเร็งปอด
ทั้งนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะแรกมะเร็งจะอยู่ภายในต่อมลูกหมาก ขนาดเล็กมาก มักไม่แสดงอาการ ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งมีการเติบโตมากขึ้น แต่ยังจำกัดในต่อมลูกหมาก ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายออกไปถึงชั้นนอกของต่อมลูกหมาก และระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่ระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง ไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก โดยผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว จึงทำให้การรักษายากขึ้น
ผศ.นพ.ปองวุฒิ กล่าวด้วยว่า ฮอร์โมนเพศชาย เป็นตัวกระตุ้นหลักให้มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโต สำหรับมะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย จำเป็นต้องใช้ “การกดฮอร์โมนเพศชาย” หรือ “ADT (Androgen Deprivation Therapy)” เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ปัจจุบันมี “ยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่” แบบรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยใช้ร่วมกับการกดฮอร์โมนเพศชาย สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชายได้หลายกลไก จึงช่วยชะลอการลุกลามของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำ เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาอื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวขึ้นพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี
ส่วนการรักษาแบบเข้มข้นซึ่งหมายถึงการให้ยาและวิธีการหลายชนิดร่วมกัน เช่น การกดฮอร์โมนเพศชาย เพียงอย่างเดียว การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับเคมีบำบัด การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่ การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่และเคมีบำบัด
โดยปัจจัยสำคัญในการพิจารณา คือ1. ระยะของโรค ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามหรือมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจเสนอการใช้ยาแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
2. ภาวะสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ที่อาจจำกัดหรือส่งผลต่อการใช้ยา 3. อายุและสมรรถภาพร่างกาย ผู้ป่วยสูงอายุมักมีการประเมินด้านสมรรถภาพ และปัจจัยความพร้อมอื่น ๆ 4. ความเห็นจากทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา นักรังสีรักษา ฯลฯซึ่งแพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบกันเพื่อวางแผนการรักษาและเลือกแนวทางที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ควบคุมโรค ลดการแพร่กระจาย ยืดอายุ และรักษาคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยการกดฮอร์โมนเพศชาย อาทิ อาการคล้ายวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย ความต้องการทางเพศลดลง ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง เสี่ยงกระดูกบางหรือกระดูกพรุน หรือหากใช้เคมีบำบัด
ก็อาจ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดขาวลดลง ติดเชื้อง่าย ส่วนการฉายรังสี อาจเกิดการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนัก ทำให้ปัสสาวะบ่อย อุจจาระผิดปกติ หรือผิวหนังในบริเวณฉายรังสีระคายเคือง ขณะที่การผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือการผ่าตัดอัณฑะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ติดเชื้อ หรือปัญหาการกลั้นปัสสาวะ ซึ่งแม้จะมีผลข้างเคียง แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบยาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถทนการรักษาได้ดีขึ้นและยังมีคุณภาพชีวิตที่น่าพึงพอใจ
ด้าน ศ.นพ.กิตติณัฐ แนะนำให้ผู้ชายสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย 1. การปัสสาวะที่ผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก 2. อาการปวดรุนแรง บริเวณบั้นเอว อุ้งเชิงกราน ต้นขาอยู่ตลอดเวลา 3. อาการอื่นที่เกิดขึ้นได้ในระยะแพร่กระจาย ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย ชา หรืออ่อนแรง กระดูกเสื่อม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ
ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจคิดไม่ถึงว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะอาการใกล้เคียงกับภาวะต่อมลูกหมากโตในผู้สูงวัย หรือกระเพาะปัสสาวะมีปัญหาหรือภาวะเป็นนิ่ว ดังนั้น เพื่อให้ชัดเจนควรตรวจคัดกรองเบื้องต้น 2 วิธีควบคู่กัน ได้แก่ 1. การซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยการให้แพทย์คลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก และ 2. การตรวจเลือดหา ค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) หรือสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด ซึ่งโดยทั่วไป ค่า PSA ควรน้อยกว่า 4 ng/mL และหากค่า PSA มากกว่า 10 ng/mL จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ MRI หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อทำการวินิจฉัย
“ผู้ป่วยระยะแรกจะมีก้อนขนาดเล็กในต่อมลูกหมาก และมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน เมื่อเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้นก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แพร่กระจายตามระบบเลือดและน้ำเหลือง ส่วนใหญ่มะเร็งต่อมลูกหมากจะแพร่กระจายไปยังกระดูก หากตรวจพบเร็วมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเจอในระยะที่มะเร็งกระจายนอกต่อมลูกหมากแล้วการรักษาจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจต้องให้การรักษาเป็นสหสาขาวิชาชีพเพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้นานที่สุดอย่างมีคุณภาพ”
สำหรับแนวทางการรักษาขึ้นกับระยะของโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยระยะแรกที่มะเร็งยังไม่ลุกลามจะเน้นรักษาเฉพาะที่ การเฝ้าระวังเชิงรุก ติดตามการเจริญเติบโตของมะเร็งอย่างใกล้ชิด โดยการรักษาเฉพาะที่ทำได้ทั้งการฉายรังสีและการผ่าตัดต่อมลูกหมากซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย แต่ถ้าโรคเริ่มลุกลามและแพร่กระจายการใช้ยาจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และอาจทำการรักษาหลายวิธีร่วมกัน
"สำหรับผู้ป่วยระยะแรกที่ได้รับการผ่าตัดแพทย์จะติดตามตรวจค่า PSA หากอยู่ในมาตรฐานแสดงว่าการผ่าตัดมีประสิทธิภาพหายจากโรคมะเร็ง แต่ถ้าค่า PSA ยังสูงต้องใช้วิธีการฉายรังสี เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระดูก และให้ยาเข้ามาเสริมผสมผสานกับการผ่าตัดด้วย"
ศ.นพ.กิตติณัฐ ยังย้ำว่า มีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงหรือยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้นผู้ชายควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเริ่มคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ แต่หากมีประวัติครอบครัวสายตรงป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ควรคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่อายุ 40-45 ปี
ด้าน ผศ.พญ. ปานียา กล่าวว่า บ.ไบเออร์ เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก สนับสนุนการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้เพื่อให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำ เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากที่สุด ซึ่งมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นภัยเงียบที่ผู้ชายควรใส่ใจ รู้เร็ว รักษาไว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างชัดเจน แม้จะมีผลข้างเคียงจากการรักษา แต่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่ (NHT) ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี