กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ถือเป็นหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม
โดยในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นถูก บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งมีรายละเอียดประเภทคดีดังนี้
“มาตรา 21 คดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่ คดีความผิดทางอาญาดังต่อไปนี้
(1) คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. โดยคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
(ข) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
(ค) คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
(ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
(จ) คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
ทั้งนี้ ตามรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่ กคพ. กำหนด
(2) คดีความผิดทางอาญาอื่นนอกจาก (1) ตามที่ กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่”
โดยคดีพิเศษประเภทแรก ตามมาตรา 21(1) ที่ท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีกำหนดไว้แล้ว 22 ประเภท ได้แก่
(1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
(2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
(3) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(4) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(5) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์
(6) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
(7) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
(8) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม
(9) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
(10) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
(11) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
(12) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร
(13) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(14) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย
(15) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
(16) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(17) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(18) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
(19) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
(20) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(21) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
(22) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ
ส่วนคดีพิเศษประเภทที่ 2 ในมาตราดังกล่าว (2) คือคดีที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นสมควรรับเป็นคดีพิเศษ
ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษนั้นมีที่มาจาก มาตรา 5 คือ ให้มีคณะกรรมการคดีพิเศษ เรียกโดยย่อว่า “กคพ.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนเก้าคน และในจำนวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศหรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
ซึ่งขั้นตอนก่อนจะรับเป็นคดีพิเศษนั้นจะมีขั้นตอนทั้งรับคำร้อง การตรวจสอบคำร้อง ทำความเห็นเบื้องต้น มอบหมายและแต่งตั้งพนักงานคดีพิเศษ คณะพนักงานสืบสวน คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ควบคุม กำกับ ตรวจสอบ เร่งรัด ซึ่งรายละเอียดเป็นไปตาม ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการ บริหารงานคดีพิเศษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี