“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” นโยบายที่พลิกโฉมประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง จากในอดีตที่คนระดับฐานรากไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะกลัวไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ขณะที่ชนชั้นกลางก็อาจสิ้นเนื้อประดาตัวได้หากสมาชิกในครอบครัวสักคนหนึ่งเจ็บป่วยรุนแรง แต่การผลักดันของ “หมอหงวน-นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” จนรัฐบาลยอมรับและเกิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขึ้น ได้ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วบางชาติก็ยังไม่สามารถทำได้ จนไทยได้รับเสียงชื่นชมในระดับโลก
หลังการเสียชีวิตของ นพ.สงวน เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2551 มีการจัดกิจกรรมรำลึกอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคืองาน “รำลึก 17 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา จัดโดย มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมี ศ. (เกียรติคุณ) นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบ “รางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประจำปี 2567” โดยมีผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และภาคประชาสังคมด้านสุขภาพ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
นายชัยณรงค์ ศรีปราโมช ชมรมผู้ไร้กล่องเสียงรามาธิบดี ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทที่ 1 ผู้ป่วยจิตอาสา มิตรภาพบำบัดดีเด่น เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นผู้ช่วยฝึกสอนการพูดด้วยหลอดอาหารที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2554 ก่อนเข้าร่วมกับชมรมผู้ไร้กล่องเสียงรามาธิบดีในปี 2556 ภายหลังเห็นว่ากระบวนการที่ผู้ป่วยช่วยเหลือกันเองมีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ไร้กล่องเสียง เนื่องจากมีความเข้าใจ รู้ถึงสภาวะที่ต้องเผชิญ ทั้งความทุกข์และสุขที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การเกิดขึ้นของชมรมฯ ทำให้การช่วยฝึกสอนการพูดด้วยหลอดอาหารขยายไปในพื้นที่ที่มีผู้ฝึกสอนฯ จำนวนไม่มาก และเมื่อผู้ไร้กล่องเสียงที่ได้รับการฝึกสอนฯ ในจำนวนนี้สามารถพูดด้วยหลอดอาหารได้ ทั้งยังขยายวงของบริการให้มีขอบเขตกว้างขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากยิ่ง ไม่คิดว่าจะได้รับ เราไปช่วยฝึกสอนการพูดด้วยหลอดอาหารไม่ได้หวังอะไร เพียงช่วยให้เขาคลายทุกข์มีคุณภาพชีวิต แค่นี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราแล้ว” นายชัยณรงค์ กล่าว
กภ.หยาดอรุณ กิจสวน นักกายภาพบำบัดชำนาญการโรงพยาบาลนาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ผู้ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ งานมิตรภาพบำบัดดีเด่นเล่าว่า รพ.นาดี อยู่ห่างจากตัวเมืองของจังหวัด 60 กม.ไม่มีรถโดยสารประจำทาง หากจะเข้ามาที่ รพ. มีค่าใช้จ่าย 500-1,000 บาท กลายเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงบริการกายภาพบำบัดที่ รพ. ขณะเดียวกันใน อ.นาดี ก็มีนักกายภาพบำบัดเพียงคนเดียวเท่านั้นจึงเกิดการสร้างเครือข่ายพร้อมจัดระบบ “3 ร.” คือ รุก รับ และร่วมมือ
โดย “รุก” คือทำงานเชิงรุก เช่น ให้บริการกายภาพบำบัดเชิงรุก เน้นผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีโอกาสเป็นผู้มีภาวะพึ่งพิงสูง ส่วน “รับ” จะเป็นการรับส่งต่อและพัฒนาระบบบริการ เช่น นำโทรเวชกรรม (Telemedicine) และแอปพลิเคชั่นมาใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สต. และ รพ.จังหวัด สุดท้าย “ร่วมมือ” สร้างความร่วมมือในชุมชน เช่น ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กลุ่มผู้นำชุมชน สนับสนุนทรัพยากรดูแลผู้ป่วย อาทิ รถเข็น ผ้าอ้อม ฯลฯ
“เหล่านี้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น มีความสุขจากที่มีคนมาคอยดูแล โดยนักกายภาพจะมาให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมี อสม. ที่ฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยฯ มาให้บริการฟื้นฟูอีก 1 ครั้ง ช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทาง ส่วนรางวัลนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นแรงผลักดันให้ตัวเราและคนอื่น มีแรงใจทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น” กภ.หยาดอรุณ กล่าว
นางประกายดาว สุนทร ตัวแทนชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา) ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทที่ 4 องค์การพัฒนาเอกชน/องค์กรชุมชน องค์การสาธารณประโยชน์/กลุ่มบุคคล งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับชุมชน กล่าวว่า ชมรมฯ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่านการรักษาจนหายแล้ว และได้รับการแนะนำจากแพทย์ร่วมเป็นจิตอาสา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ให้ความรู้ และช่วยดูแลผู้ป่วยที่พึ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมที่มักสับสน วิตกกังวล และรับมือไม่ถูก
ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยผู้ป่วยแล้ว ยังลดภาระงานดูแลรักษาผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย โดยในปี 2558 ชมรมฯ ได้จดทะเบียนเป็น “องค์กรสาธารณประโยชน์” กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปัจจุบันมีจิตอาสาที่ทำหน้าที่ประมาณ 30 คน และมีสมาชิกมีราว 400 คน โดยมีทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแลและบุคลากรทางการแพทย์
“ผลจากการทำงานของชมรมฯ คือทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ มีความสุขมากขึ้น ซึ่งแสดงออกผ่านสีหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยทุกปีชมรมฯ จะมีการประชุมใหญ่เพื่อสร้างกิจกรรมให้ผู้ป่วยที่เป็นสมาชิกมาพบปะกัน ซึ่งบางคนที่รักษาหายแล้วก็มาร่วมเป็นจิตอาสาเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ต่อ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชมรมเตรียมยื่นขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการมาตรา 3 กับ สปสช. ด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากแรงผลักดัน รวมถึงรางวัลที่ได้รับนี้ด้วย ทำให้รู้สึกดีใจและมีกำลังใจในการทำงานนี้ต่อไป” นางประกายดาว กล่าว
ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thailand Cancer Society) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง”ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทที่ 5 สื่อสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น กล่าวว่า พอทราบถึงแนวคิด “มิตรภาพบำบัด” อยู่บ้าง ประกอบกับประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย รวมถึงดูแลคุณแม่ที่เป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 ทำให้รู้สึกว่าเพียงการรักษาไม่สามารถประคับประคองผู้ป่วยในเส้นทางการรักษาได้ดีมากนัก
เนื่องจากมะเร็งมีระยะเวลา จึงจำเป็นต้องมีเพื่อนที่มีประสบการณ์ เคยเป็นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมาก่อนเพื่อให้คำแนะนำ แบ่งปันประสบการณ์และแก้ไขความเข้าใจผิด นอกจากจะทำให้เกิดกำลังใจแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลรู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิดเพจ “สู้สิแม่ก็แค่มะเร็ง” เมื่อ 11 ปีที่แล้ว และต่อมาเกิดการรวมกลุ่มกันเป็นของเครือข่ายของผู้ป่วยและผู้ดูแลผ่านเพจขึ้น
“รางวัลที่ได้วันนี้มีความหมายมากและดีใจมากไม่น้อยกว่าการได้รับรางวัลต่างๆ มาในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เหมือนพิสูจน์การทำงานของเราในอีกด้านหนึ่ง และสะท้อนถึงมุมมองและทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ที่มองเห็นความสำคัญของกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย ไม่ทิ้งกัน” ดร.พญ.ประกายทิพ กล่าว
สำหรับรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นฯ มี 5 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 ผู้ป่วยจิตอาสา มิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทที่ 3 หน่วยงาน/องค์กรและทีมงานสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับตติยภูมิประเภทที่ 4 องค์การพัฒนาเอกชน/องค์กรชุมชน องค์การสาธารณประโยชน์/กลุ่มบุคคล งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับชุมชน และประเภทที่ 5 สื่อสนับสนุน งานมิตรภาพบำบัดดีเด่น
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี