ฝุ่นกทม.ยังหนักระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 12 เขต ค่าฝุ่นสูงสุด“หนองจอก” ยังรั้งแชมป์ นิด้าโพลเผยผลสำรวจมาตรการให้ปชช.ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีไม่ช่วยแก้ปัญหา และเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ด้านรบ.ลุยสู้ฝุ่นระยะยาวสั่งเข้มผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องมีใบรับรองปลอดเผา
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครประจำวัน เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นPM 2.5 ได้ 40.1 - 71.1 โมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมี 70 พื้นที่ วัดค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 56.1 มคก./ลบ.ม.
กทม.ยังส้มทุกเขต-หนองจอกแชมป์
ส่วน 12 อันดับเขตที่ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุดในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ อันดับ 1 เขตหนองจอก 70.7 มคก./ลบ.ม. 2 เขตลาดกระบัง 70.6 มคก./ลบ.ม. 3 เขตทวีวัฒนา 68.6 มคก./ลบ.ม. 4 เขตหนองแขม 68.2 มคก./ลบ.ม. 5 เขตคันนายาว 66.9 มคก./ลบ.ม. 6 เขตบึงกุ่ม 66.6 มคก./ลบ.ม. 7 เขตมีนบุรี 66.6 มคก./ลบ.ม. 8 สวนหนองจอก เขตหนองจอก 66.6 มคก./ลบ.ม. 9 เขตคลองสามวา 65.8 มคก./ลบ.ม. 10 เขตวังทองหลาง 65.3 มคก./ลบ.ม. 11 เขตบางนา 64.8 มคก./ลบ.ม. 12 เขตบางกอกน้อย 63.3 มคก./ลบ.ม.
สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก
โพลชี้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีไม่ช่วยแก้ฝุ่น
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “กรุงเทพฯเมืองในฝุ่น” สำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตกทม. ปรากฎว่า จากการสำรวจประชาชนถึงความรุนแรงของวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ช่วงหลายวันที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ74.43 ระบุมีความรุนแรงมาก ถัดมาร้อยละ 18.55 เห็นว่าค่อนข้างรุนแรง ถามความคิดเห็นต่อการสั่งการหรือขอความร่วมมือให้ปิดสถานศึกษาและทำงานที่บ้าน (Work from Home ) ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในกทม.ได้หรือไม่อย่างไร กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.82 ระบุ ช่วยแก้ปัญหาได้พอสมควร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างจำนวนใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 33.21 เห็นว่าแก้ปัญหาได้น้อยมาก ส่วนร้อยละ 24.50 เห็นว่าไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย
ถามถึงมาตรการให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า BTS-MRT ฟรี 7 วัน ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครได้หรือไม่อย่างไรพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.89 เห็นว่า ช่วยแก้ปัญหาได้น้อยมาก รองลงมาร้อยละ 33.89 เห็นว่า ไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย อีกร้อยละ 24.50 ระบุช่วยแก้ปัญหาได้พอสมควร มีเพียงร้อยละ 6.72 ที่เห็นว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
รัฐแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ
ส่วนประสิทธิภาพการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ร้อยละ 41.15 เห็นว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ อีกร้อยละ 35.34 เห็นว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย ส่วนร้อยละ 20.38 ระบุค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 3.13 ระบุ มีประสิทธิภาพมาก
ท้ายที่สุดถามถึงหน่วยงานที่ประชาชนคาดหวังให้แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 41.15 ระบุกรมควบคุมมลพิษ รองลงมาร้อยละ 34.27 ระบุ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 27.02 ระบุว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร้อยละ 20.23 ระบุ กรมการขนส่งทางบก มีเพียงร้อยละ 17.56 ระบุ ไม่มีความหวังกับหน่วยงานราชการใด ร้อยละ 16.34 ระบุ กระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยละ 13.89 ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้อยละ 12.67 ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 12.44 ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 10.46 ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 9.39 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 8.70 ระบุว่า กระทรวงกลาโหมร้อยละ 8.47 ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ และร้อยละ 7.79 ระบุ กระทรวงการคลัง
คาดสัปดาห์หน้าอากาศดีขึ้น
ด้านศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยา และสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พบว่าวันนี้คุณภาพอากาศยังคงอยู่ในระดับสีส้มคือระดับที่เริ่มมีส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดได้ช่วง 40.1-71.1 มคก./ลบ.ม. โดยมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อวาน (1 กุมภาพันธ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน คาดการณ์ว่า สัปดาห์หน้า วันจันทร์และวันอังคาร คุณภาพอากาศยังคงอยู่ในระดับสีส้ม แต่หลังจากนั้นวันพุธเป็นต้นไปการระบายอากาศดีขึ้น แต่จะมีลมจากใต้หอบเอาความชื้นเข้ามาเพิ่ม ทั้งฝุ่น ไอน้ำผสมกัน ต้องติดตามใกล้ชิด จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนบริเวณกรุงเทพมหานคร ส่วนมากต้นตอของฝุ่นมาจากนอก กทม. ในเรื่องการเผาไหม้
รบ.เข้าห้ามนำเข้าข้าวโพดมาจากเผา
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นทุกมิติ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นจากการเผา ในแหล่งเพาะปลูกทั้งในและนอกประเทศ ด้วยการสนับสนุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปราศจากการเผา โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเพื่อกำหนดแนวทางลดปัญหาฝุ่น ข้ามพรมแดน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบหลักการที่จะดำเนินการกับข้าวโพด ที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นลำดับแรก โดยจะออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการนำเข้าข้าวโพดที่มาจากการเผา
ต้องแสดงเอกสารนำเข้ายันไม่ได้เผา
นายอนุกูลกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่เตรียมประกาศใช้ ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ต้องแสดงเอกสารประกอบการนำเข้า ทั้งแบบฟอร์มการแจ้งข้อมูลประกอบการนำเข้าตามที่กำหนด เอกสารรับรองจากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ (Competent Authority : CA) ของประเทศผู้ส่งออกว่าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้า เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีการเผา และพิสูจน์ได้ว่า ผู้เพาะปลูก ผู้ส่งออก ผู้รวบรวมมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และต้องมีภาพแผนที่แสดงถึงแปลงที่ใช้เพาะปลูกให้ชัดเจน ซึ่งแนวทางทั้งหมดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และพันธกรณีตาม FTAs รวมทั้งไม่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จับมือเพื่อนบ้านเร่งแก้PM2.5
ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้ประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ประมาณ 8-9 ล้านตันต่อปี จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าประมาณปีละ 1.3-1.8 ล้านตัน แต่ปี 2567 นำเข้าถึง 2 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากเมียนมา มากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 87 ของปริมาณการนำเข้า รองลงมาคือ ลาวร้อยละ 12.61 และกัมพูชา ร้อยละ 0.39 ตามลำดับ โดยกรมการค้าต่างประเทศจะร่วมกับทูตพาณิชย์ในเมียนมา รวบรวมรายชื่อผู้ส่งออกที่ไม่ใช้การเผาและเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประเทศเพื่อนบ้านทราบถึงมาตรการดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ
“รัฐบาลมุ่งสร้างมาตรฐานสินค้านำเข้า ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทยในการค้าระหว่างประเทศ โดยสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกที่ปลอดการเผากับผู้นำเข้าที่ต้องการสินค้าเกษตรคุณภาพ สำหรับมาตรการดังกล่าว จะเริ่มจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อนขยายสู่สินค้าเกษตรอื่น เพื่อช่วยส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันอย่างสมดุล ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวโพดอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” นายอนุกูล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี