3 ก.พ. 2568 บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย - Social Media) เรื่องเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงวันที่ 1-31 มกราคม 2568 โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล DXT360 ซึ่งเป็นระบบติดตามและรวบรวมข้อมูลแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งโซเชียลมีเดียและสื่อดั้งเดิม (เว็บไซต์ข่าว โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร) เนื้อหาดังนี้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ปัญหามลพิษทางอากาศจาก “ฝุ่น PM2.5” กลายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าฝุ่นมักเกินมาตรฐานบ่อยครั้ง ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน เช่นการท่องเที่ยวและการประกอบอาชีพต่าง ๆ จึงทำให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้น มาตรการการแก้ไขจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงกระแสความสนใจที่เพิ่มขึ้นในยุคที่วิกฤตการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและมาตรการที่มีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น “โดยมีการกล่าวถึง (Mention) รัฐบาล มากที่สุด (35%)” ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นและบังคับใช้มาตรการจัดการมลพิษอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหา
- หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม (25%) อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกกล่าวถึงในเรื่องการติดตามและรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ดูเหมือนเป็นเพียงการแจ้งเตือนค่าฝุ่นและให้คำแนะนำในการป้องกันตัว แต่ขาดมาตรการเชิงรุกในการป้องกัน ควบคุมและติดตามแหล่งกำเนิดมลพิษ
- หน่วยงานด้านการขนส่ง (15%) อาทิ กระทรวงคมนาคม, ขสมก., รฟม. ถูกกล่าวถึงในประเด็นการจัดการระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะมาตรการเดินทางฟรีตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของการบริการที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น เส้นทางยังไม่สามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ รวมถึงรถเมล์พลังงานไฟฟ้าหลายสายไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้บริการรถเมล์พลังงานเชื้อเพลิงซึ่งก็ก่อให้เกิดมลพิษอยู่ดี
- กรุงเทพฯ และหน่วยงานท้องถิ่น (10%) ถูกกล่าวถึงในแง่ของการนำนโยบายไปปรับใช้และการดูแลพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงกล่าวถึงมาตรการอื่นๆของ กทม. ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
- หน่วยงานด้านสาธารณสุข (7%) อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และ โรงพยาบาล ประชาชนต้องการเพิ่มมาตรการแจ้งเตือนข้อมูลเรื่องสุขภาพและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเมื่อพบเจอฝุ่น PM2.5 โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลและป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ (8%) ที่ถูกกล่าวถึงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5
เสียงสะท้อนโซเชียลกับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นของภาครัฐ มีดังนี้
- รถไฟฟ้าฟรีตอบโจทย์จริงหรือ? : รถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะฟรี: ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มองว่าเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณสูงและแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา PM2.5 อย่างแท้จริง อีกทั้งประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เนื่องจากเส้นทางมีจำกัด แม้จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวได้บางส่วน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา ซึ่งประชาชนมองว่าควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในระยะยาวมากกว่า
- เรียน Online กระทบหนัก! ผลักภาระให้ทั้งผู้ปกครองและโรงเรียน : มาตรการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักเรียนได้ แต่กลับพบปัญหาหลายประการ ทั้งเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต ผล กระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน และการสร้างภาระให้ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่ต้องการการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ อีกทั้งบางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้เรียนออนไลน์หรือหยุดการเรียนการสอน ส่งผลให้มีเด็กนักเรียนและผู้ปกครองบางส่วนเกิดความสับสน
- เมื่อ Work From Home ไม่ใช่ทางเลือก (ได้) ของทุกอาชีพ : มาตรการขอความร่วมมือ Work From Home เป็นมาตรการที่ช่วยลดการเดินทางและการสัมผัสฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถปรับใช้กับทุกอาชีพ อีกทั้งเป็นแค่การขอความร่วมมือ บางองค์กรไม่มีนโยบายให้พนักงาน work from home เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายบังคับใช้ นอกจากนี้บางองค์กรยังไม่มีความพร้อมด้านระบบและอุปกรณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน แม้จะเป็นมาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการนำไปปฏิบัติ
“ฝุ่น PM2.5” ภัยตัวร้าย ทำร้ายเราได้มากกว่าที่คิด ผลกระทบจากฝุ่นเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ดังนั้นทางทีม Insight Analyst จึงได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์เสียงจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 พบประเด็นสำคัญที่ส่วนใหญ่มักพูดถึง ดังนี้
1.ด้านสุขภาพ: ประชาชนต่างพูดถึงการได้รับผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอและหายใจลำบาก มีอาการระคายเคืองตาและแสบจมูก เลือดกำเดาไหล รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคปอดและระบบทางเดินหายใจในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว และส่งผลถึงสัตว์เลี้ยงที่มีอาการปอดอักเสบที่เกิดจากฝุ่นเช่นเดียวกัน
2.ด้านเศรษฐกิจ: ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่ารักษาพยาบาล การจัดหายาเพื่อบรรเทาอาการแพ้จากฝุ่น การสูญเสียรายได้จากการต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว และค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศ
3.ด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน: ประชาชนต้องจำกัดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และเผชิญกับความไม่สะดวกในการเดินทาง
4.ด้านสังคม: เกิดความกังวลและความเครียดในหมู่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน และต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคมต่างๆ
5.ด้านสิ่งแวดล้อม: ทำให้ทัศนวิสัยแย่ลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชน
ถอดบทเรียนปักกิ่ง-โซล สู่โมเดลไทยแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 : ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น โดยมีการยกกรณีตัวอย่างจากเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่สามารถควบคุมมลพิษทางอากาศได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งการสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน การจำกัดการใช้รถส่วนตัว เป็นต้น จึงทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมองว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ แต่ก็มีบางส่วนที่มีความเห็นต่างออกไป ว่าอาจเป็นไปได้ยากในบริบทของไทย เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และผล กระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องจากผู้ใช้โซเชียลฯ โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและยั่งยืนระยะยาว โดยต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการออกมาตรการจากภาครัฐที่โปร่งใส่ มีประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้ตรงจุด ลดการใช้วิธีการเผาในภาคการเกษตร และความร่วมมือในการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าและตรงกับความต้องการของประชาชน
“เครื่องฟอกอากาศ” ไอเท็มยอดฮิต รับมือฝุ่น PM2.5 : เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่น "เครื่องฟอกอากาศ" กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกรองฝุ่นและมลพิษ ในโซเชียลมีเดียมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ราคา เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ โดยผู้ใช้โซเชียลฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องฟอกอากาศมียอดขายสูงขึ้นโดยเฉพาะในราคาระดับถูกถึงปานกลางจนเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด เนื่องจากผู้ใช้โซเชียลฯ ให้ความเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นและถือว่าเป็นการลงทุนให้กับสุขภาพในระยะยาว แต่ก็มีบางกลุ่มกล่าวถึงราคาเครื่องฟอกอากาศว่ามีราคาค่อนข้างสูงจึงทำให้ยากต่อการเข้าถึง
2.ประโยชน์ ผู้ใช้โซเชียลฯ มีการรีวิวถึงการใช้งานจริง รวมถึงบอกเล่าถึงประสบการณ์การใช้งาน เช่น เมื่อใช้เครื่องฟอกอากาศ หายใจได้สะดวกขึ้น คนที่เป็นภูมิแพ้อาการลดน้อยลง เป็นต้น
3.ขอคำแนะนำ ทั้งในเรื่องของการใช้งานเครื่องฟอกอากาศ แบรนด์ที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงพิกัดช่องทางที่ราคาถูก
อีกหนึ่งไอเท็มที่มาแรงไม่แพ้เครื่องฟอกอากาศนั่นคือ “หน้ากากอนามัย” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากบนโลกโซเชียล ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยรุ่น KF94 , N95 ที่มักจะได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นรุ่นที่กันฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย นอกเหนือจากวิกฤตฝุ่น PM2.5 นั่นคือ ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นของราคาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ผลมาจากความต้องการของทั้งเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากอนามัยค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้นตามมา จากสถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันสุขภาพในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศ
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี