กทม. - สพฉ. เตรียมจัดงาน EMS อปท. Forum 9th โชว์ผลงาน-นวัตกรรม มุ่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 13-15 มี.ค.นี้
วันที่ 4 ก.พ.68 น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว "การจัดงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568" โดย นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมแถลงข่าว มีองค์กรภาคีเครือข่ายเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
สำหรับงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 จะจัดขึ้นในวันที่ 13-15 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมมิราเคิล แกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ วัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากหน่วยงานต่างๆในประเทศไทย ได้นำเสนอผลงานวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และนักวิชาการในสังกัด ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดทักษะการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการระบบบริการ อีกทั้งเป็นพื้นที่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อการปรับปรุงพัฒนาเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศและเมืองขนาดใหญ่ ที่มีความสอดคล้องกับนโยบาย "9 ด้าน 9 ดี" ของกรุงเทพมหานครในมิติ "สุขภาพดี" อันเป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจ และการดำเนินงาน ด้านการแพทย์ฉุกเฉินไปสู่จดมุ่งหมาย คือการเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเมืองหลวงขนาดใหญ่
ภายในงานจะมีการจัดแสดงผลงานวิชาการ การบรรยายพิเศษ การเสวนา การอภิปราย การแสดงนิทรรศการผลงาน บูทนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการฝึกทักษะการปฏิบัติงานผ่านการแข่งขัน "การเรียนรู้จากแบบจำลองสถานการณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น (EMS Competition)" ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ ต่อไป โดยกรุงเทพมหานครจะนำเสนอศักยภาพการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิเช่น งานบูรณาการกู้ชีพและกู้ภัย การพัฒนา BKK Risk Map (แผนที่เสี่ยงภัยกรุงเทพมหานคร) Motorlance (รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน) การเพิ่มจุดจอดรถพยาบาลฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล การติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและชุมชน และการฝึกอบรมช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีศูนย์เอราวัณ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางในการประสานความช่วยเหลือด้านการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินทุกประเภท รวมทั้งบริการรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมทีมกู้ชีพในระดับต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือและลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ข้อมูลเรามีรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นพื้นฐานและขั้นสูง ในเครือข่ายศูนย์เอราวัณ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล และมูลนิธิที่ทำข้อตกลงความร่วมมือกัน รวม 1,101 คัน ซึ่งกำลังจัดระบบกำกับดูแลให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมและไม่เกิดปัญหา นอกจากนี้ กทม. มี Motorlance (รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน) ออกปฏิบัติการแล้ว 50 คัน และได้พัฒนา BKK Risk Map (แผนที่เสี่ยงภัยกรุงเทพมหานคร) รวมถึงอนาคตมีแนวทางที่จะบูรณาการงานกู้ชีพและกู้ภัยเข้าด้วยกัน เพื่อออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนได้ทุกสถานการณ์
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี