อัยการสูงสุด ร่วมกับ สนง.อัยการสูงสุดออสเตรเลีย UNICEF ร่วมจัดโครงการนำร่อง "การคุ้มครอง ป้องกันเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์" การบังคับใช้ กม. การให้คำปรึกษาแก่ จนท.และสหวิชาชีพ การเผยแพร่ให้ความรู้ด้าน กม.แก่เด็ก และประชาชนเพื่อป้องกันอาชญากรรมความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำร่อง “การคุ้มครอง ป้องกันเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์” ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ ซึ่งศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมี นายจำนอง ปานทอง อธิบดีอัยการภาค 5 นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชนแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
อัยการสูงสุด กล่าวเปิดงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุด เล็งเห็นถึงความสำคัญของพนักงานอัยการที่มีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว โดยปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลักษณะสหวิชาชีพ ดำเนินการช่วยเหลือด้านการคุ้มครอง ป้องกันอาชญากรรมและความรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย การให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อการสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้จัดโครงการนำร่อง “การคุ้มครอง ป้องกันเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอัยการสูงสุดประเทศออสเตรเลีย และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำประเทศไทย
ด้าน นายจักรวาล แสงแข รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นการจัดอบรมเพื่อให้เด็กและบุคคลที่มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันเด็ก ได้แก่ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ครู อาจารย์ พนักงานอัยการและบุคลากรในหน่วยงานสหวิชาชีพ ได้ตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ บทบาทหน้าที่ของตนเองในประเด็นดังกล่าว ตลอดจนการประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองป้องกันเด็กให้พ้นจากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติงานด้านครอบครัวและภาคีเครือข่าย ในการใช้กลไกและกฎหมายเพื่อคุ้มครองป้องกันเด็กและครอบครัวจากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีพนักงานอัยการและบุคลากรของสำนักงานอัยการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครอง ป้องกันเด็ก เยาวชนและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมโครงการรวม 50 คน โดยมีกิจกรรมการบรรยาย อภิปราย และฝึกปฏิบัติในหัวข้อต่างๆ อาทิ บทบาทของ UNICEF ต่อการคุ้มครองเด็กและบทบาทอัยการออสเตรเลียในการคุ้มครองเด็กในลักษณะสหวิชาชีพ, ความเข้าใจพื้นฐานและสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์, การสอนเด็กให้รู้เท่าทันเล่ห์กลโกงหรือภัยร้ายในโลกออนไลน์, กฎหมาย อำนาจหน้าที่และนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองเด็กฯ, การสังเกตสัญญาณเตือนและวิธีการป้องกันจากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์, การสร้างความเข้าใจเด็กผ่านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก, มาตรการและการคุ้มครองเด็ก, การฟื้นฟูเยียวยาเด็กและครอบครัว และหลักการดำเนินงานตามกระบวนการคุ้มครองเด็กฯ, และการฝึกภาคปฏิบัติการแนวทางการประสานงานในลักษณะสหวิชาชีพเพื่อการคุ้มครอง ป้องกันเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี