ฝุ่นทำป่วยพุ่ง 3 เท่า
กทม.จ่อประกาศเขตคุมมลพิษ
สธ.ผุดไอเดียตั้งศูนย์พักพิงฯจว.
กรุงเทพฯยังจมฝุ่น 62 พื้นที่เกินมาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ “ลาดกระบัง-บึงกุ่ม”รั้งแชมป์ ย้ำปชช.ต้องใส่แมสก์ด้านกทม.รับลูกนโยบายรบ.ตั้ง “ศูนย์กำกับผลกระทบ PM2.5” ประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษรายเขตเผยผู้ป่วยฝุ่นเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าปลายสัปดาห์เตรียมสรุปรายชื่อเขตที่ต้องประกาศควบคุมมลพิษและเฝ้าระวังเพิ่ม ขณะที่รมว.สาธารณสุขเผย5มาตราคุมฝุ่นขอจังหวัดตั้ง‘ศูนย์พักพิงชั่วคราว’ดูแลประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 32.2-61.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.รวม 62 พื้นที่ โดย 5 เขตวัดค่าฝุ่นได้สูงสุดคือ 1.เขตลาดกระบังวัดได้ 61.6 มคก./ลบ.ม. 2.เขตบึงกุ่ม ในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 61.2 มคก./ลบ.ม. 3.เขตหนองจอก 60.8 มคก./ลบ.ม. 4.สวนหนองจอก เขตหนองจอก 57.1 มคก./ลบ.ม. 5.เขตคลองสามวา ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา 55.7 มคก./ลบ.ม. และเขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ 55.7 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปให้ใส่หน้ากากป้องกันPM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้ง นอกจากนี้ ยังคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นช่วงวันที่ 4 -5 กุมภาพันธ์ การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน ขณะที่มีการเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้นต่อเนื่อง ทำให้มลพิษทางอากาศแพร่กระจายได้จำกัด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มทรงตัว ส่วนวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นลดลงได้
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้าGISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมแบบรายชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชัน“เช็คฝุ่น”พบค่าฝุ่นPM2.5ของกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจในระดับส้ม 11 เขต โดยค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุดคือ เขตหนองจอก 60.1 มคก. ส่วนเขตอื่นที่เหลือค่าฝุ่นระดับปานกลางสีเหลืองจนถึงระดับดี โดยมีพื้นที่สีเขียว 26 เขต จากสภาพอากาศที่มีลมค่อนข้างแรง ด้านภาพรวมประเทศไทยช่วงเวลาเดียวกันพบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจระดับสีส้ม 36 จังหวัด กระจายอยู่หลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกบางจังหวัด
วันเดียวกัน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงถึงแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษแต่ละเขตในกรุงเทพมหานครว่า เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขต ซึ่งประกาศไปแล้ว 14 เขต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่น เขตลาดกระบัง หนองจอก บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 28/1 ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เช่น การเผา ควันรถ และแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม เช่น พื้นที่รกร้าง ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ตั้งศูนย์กำกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ควบคู่ด้วย
รศ.ทวิดากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.ยังมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นทุกเขต นอกเหนือจากการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานที่ผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปและตรวจควันรถแล้ว มีการขยายการตรวจเพิ่มเติม เช่น โรงงานที่มีการเผาไหม้ วัดที่มีเตาเผาศพประมาณ 308 แห่ง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4-5 แห่ง ไม่ได้ใช้งานแล้วประมาณ 17 แห่ง ซึ่งการใช้มาตรการลดฝุ่นบางเรื่องต้องใช้การขอความร่วมมือ ไม่ได้ใช้กฎหมายบังคับ เพราะเป็นพิธีกรรมสืบต่อกันมา แต่จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น ศาลเจ้าที่จดทะเบียนกับกทม.ประมาณ 104 ศาลเจ้า ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมามี 19 ศาลเจ้างดการเผา ส่วนที่เหลือใช้วิธีรีบดับควันธูปเทียน หรืองดเผาในวันที่มีสภาพอากาศปิด
ขณะที่นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวเพิ่มเติมถึงการตั้งศูนย์กำกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ตามนโยบายรัฐบาลว่า กทม.มีศูนย์กำกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 อยู่แล้ว ได้แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาแจกไปแล้วประมาณ 450,000 ชิ้น ส่วนการดำเนินการของศูนย์ฯดังกล่าว จากนี้จะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาพื้นที่เขตเฝ้าระวังและพื้นที่ควบคุม หากมีการประกาศเขตควบคุมของกรุงเทพมหานคร จะขอความร่วมมือ Work from Home (WFH) จากภาคเอกชนและหน่วยงานราชการต่างๆช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย คาดว่าสัปดาห์นี้จะสรุปรายชื่อเขตที่ต้องประกาศควบคุมมลพิษและเฝ้าระวังเพิ่มเติม
ทั้งนี้ รายงานจากคลินิกมลพิษทางอากาศของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง พบว่า มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากฝุ่นในระยะนี้มีเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเทียบกับช่วงที่มีค่าฝุ่นปกติ โดยโรคหลักที่พบคือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2568 ว่า วันนี้ได้หารือมาตรการป้องกันควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากได้รับการร้องขอมาจากจังหวัดต่างๆให้ประกาศมาตรการเพิ่มเติม ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่นไม่นิ่ง บางครั้งการประกาศมาตรการต่างๆ อาจช้าหรือเร็วไป ก็จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ที่ประชุมจึงมีมติวันนี้ว่า ให้อำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรคปฏิบัติและส่งข้อมูลไปในแต่ละจังหวัด โดยมี 5 มาตรการที่จะดำเนินการเพิ่มเติมคือ 1.ลดสัมผัสฝุ่น PM2.5 เป็นประเด็นใหม่ที่เป็นข้อแนะนำในพื้นที่จังหวัดต่างๆคือ ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อทำเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น
2.การสื่อสารความเสี่ยง เช่น หอกระจายข่าวหรือการให้ความรู้ประชาชน โดยต้องทำอย่างสม่ำเสมอ 3.เฝ้าระวังเชิงรุก โดยแต่ละพื้นที่ต้องสำรวจกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง เพื่อเฝ้าระวังโรคและช่วยคัดกรองโรคเพิ่มเติม 4.การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรับ ดูแลรักษาโรคหู ตา คอ จมูก หรืออาการป่วยที่ได้รับผลจากฝุ่น ให้พร้อมดำเนินการทั้งโรงพยาบาล (รพ.) หน่วยบริการในสังกัด สธ.และ5.การแจ้งรายงานการสอบสวนโรคต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ ให้มีรายละเอียด ไม่ใช่ประกาศมาตรการไปแล้วปล่อยเฉย ต้องมีคู่มือดำเนินการ และทำให้พร้อม เพื่อเป็นข้อมูลทั้งการรักษา ป้องกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี