6 ก.พ. 2568 นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปี 2568 “Sustainable System Change for Equitable Education in Thailand” ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ห้อง Mitrtown Hall 1 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร ว่า สถิติที่น่าตกใจล่าสุดคือในปี 2567 เด็กไทยเกิดใหม่เพียง 4.6 แสนคน เทียบกับปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตนเกิด เวลานั้นไทยมีสถิติการเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน
ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยคงไม่น่าจะกลับมามีอัตราการเกิดระดับ 1 ล้านคนต่อปี ข้อมูลอีกชุดหนึ่งก็พบว่า ในทุกครั้งที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติ ไล่ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (ปี 2540) วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2551) และวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 (ปี 2563) หลังสถานการณ์นั้นศักยภาพก็ลดลงไปเสียทุกครั้ง โดยก่อนต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเคยโตร้อยละ 7 ต่อปี แต่ล่าสุดเหลือเพียงร้อยละ 1.6 ต่อปี นอกจากนั้น สัดส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น
“การมีผู้สูงอายุที่มากขึ้นแต่ประชากรวัยแรงงานและประชากรที่เกิดใหม่ลดลง คือความท้าทายที่ว่าหากประเทศไทยจะยังคงมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หนทางเดียวที่โครงสร้างประชากรนี้จะให้คำตอบนั้นได้คือเด็กและเยาวชนไทยต้องมีผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวที่ทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง การที่จะมีผลิตภาพ ทางออกคือการศึกษา และไม่ใช่การศึกษาสำหรับคนบางกลุ่ม แต่เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนทุกคน” นายไกรยส กล่าว
นายไกรยส กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ราว 3 ล้านคน ในจำนวนนี้รัฐบาลจัดงบประมาณดูแลเด็กยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.9 ล้านคน เหลืออีก 1.1 ล้านคน ซึ่งมีการไปเยี่ยมบ้านและรับทราบปัญหาความยากจนมาแล้ว แต่ยังไม่มีงบประมาณที่ครอบคลุม ดังนั้นการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณในอนาคต เช่น งบฯ ปี 2569 ก็สามารถพิจารณางบประมาณเพื่อเติมเต็มโอกาสของเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้
ขณะที่ในปี 2567 มีเด็กในกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน สูงขึ้นกว่าปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยรายได้ของครัวเรือนกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ อยู่ที่ 1,133 บาทต่อเดือน หรือ 37 บาทต่อวัน เมื่อดูสถานะครอบครัว พบราวร้อยละ 42 ของครอบครัวเด็กยากจนพิเศษ มีลักษณะพ่อแม่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ และร้อยละ 38.77 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ โดยส่วนใหญ่อยู่กับญาติ
ซึ่งสถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ทำอย่างไรนอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ระบบการศึกษา ภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชน จะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมให้ความเปราะบางนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อความหวังในการศึกษาต่อไปในอนาคต ยังมีข้อค้นพบด้วยว่า กลุ่มยากจนพิเศษจำนวนไม่น้อยอยู่ในครัวเรือนที่เป็นสมาชิกพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง สอดคล้องกับที่เห็นเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนมาดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
“การศึกษาสูงสุดของคนในครอบครัวเป็นอย่างไร เราพบว่าสมาชิกครัวเรือนของเด็กครัวเรือนยากจนพิเศษส่วนใหญ่จบแค่ประถมศึกษา ถ้าน้องเหล่านี้เรียนจบ ม.3 เขาจะเป็นคนแรกในครัวเรือน และถ้าเขาได้ไปไกลถึงระดับปริญญาตรี มีครัวเรือนน้อยมากที่มีสมาชิกเคยไปถึงระดับนั้นได้ แต่ถ้าทำได้จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าครัวเรือนนี้จะออกจากความยากจนได้ ที่เป็นความยากจนข้ามรุ่น” นายไกรยส ระบุ
นายไกรยส ยังกล่าวอีกว่า 10 จังหวัดที่พบนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษมากที่สุด อันดับ 1 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 45.09 รองลงมา นราธิวาส ร้อยละ 39.81 อันดับ 3 นครพนม ร้อยละ 39.22 อันดับ 4 อำนาจเจริญ ร้อยละ 39.21 อันดับ 5 ร้อยเอ็ด ร้อยละ 38.61 อันดับ 6 เท่ากัน 2 จังหวัด คือกาฬสินธุ์กับยโสธร ร้อยละ 37.73 อันดับ 7 มุกดาหาร ร้อยละ 35.9 อันดับ 8 ศรีสะเกษ ร้อยละ 35.86 และอันดับ 10 สกลนคร ร้อยละ 35.18 และเนื่องในโอกาสที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ข้อมูลนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากกับผู้นำท้องถิ่นจะหามาตรการมาช่วยเด็กกลุ่มนี้
ขณะที่ในส่วนของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในปี 2567 หมายถึงเด็กที่ไม่เจอตัวในระบบสถานศึกษาในสังกัดต่างๆ เทียบกับจำนวนเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปี พบว่ามีอยู่ประมาณ 9.8 แสนคน โดย 10 อันดับจังหวัดที่พบปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด คือ อันดับ 1 ตาก ร้อยละ 32.71 รองลงมา แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 23.12 อันดับ 3 สมุทรสาคร ร้อยละ 19.84 อันดับ 4 ระนอง ร้อยละ 15.23 อันดับ 5 ภูเก็ต ร้อยละ 14.18
อันดับ 6 ปทุมธานี ร้อยละ 12.86 อันดับ 7 กรุงเทพฯ ร้อยละ 12.36 อันดับ 8 สมุทรปราการ ร้อยละ 11.88 อันดับ 9 กาญจนบุรี ร้อยละ 10.7 และอันดับ 10 ตราด ร้อยละ 10.56 สะท้อนถึงความจำเป็นต้องมีมาตรการที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ โดยสรุปแล้ว หากต้องการแก้ไขปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา จะมีกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งต้องป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาไป กับ 2.กลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งต้องพยายามดึงกลับเข้ามาให้ได้
ทั้งนี้ เมื่อบุคคลมีเลขประจำตัว 13 หลักอยู่แล้ว สามารถใช้ API ระหว่างหน่วยงาน ในการเชื่อมข้อมูลจากโครงการ Thailand Zero Dropout ไปยังทุกกระทรวงที่มีทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับบางเงื่อนไขของเด็ก เช่น เด็กที่มีปัญหาสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมออกแว่นตา พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีกองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นต้น
“เราเชื่อว่าถ้าเราสามารถเชื่อมโยงเลข 13 หลัก ผ่านทาง API ของทุกหน่วยงาน เด็กจะได้สวัสดิการซึ่งรัฐจัดให้ตามหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว เราไม่ต้องการเงินเพิ่มเติมอีก แต่เราต้องการให้สวัสดิการกับเด็กเจอกันให้ได้ และเมื่อเจอกันแล้วทุกคนจะต้องได้รับรายงานกลับไปว่าเด็กได้รับหรือไม่ได้รับสวัสดิการอะไร จะได้ไม่มีความซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน ทุกคนทราบตรงกันว่าเด็กมีความพร้อมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วหรือยัง อันนี้เป็นการสร้างหลักประกันทางการศึกษา ไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่ แต่ทุกหน่วยงานสามารถทำงานร่วมกันได้ผ่านการแชร์ข้อมูล” ผู้จัดการกองทุน กสศ. กล่าว
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี