"ศจย."เสนอทางออกให้ ทอท. ขายยาอดบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินในสนามบิน คุ้มค่ากว่าทำห้องสูบบุหรี่ ไม่ก่อภาระโรคจากควันบุหรี่มือสอง-มือสาม ปลอดภัยทั้งพนักงาน ประชาชนในสนามบิน
วันที่ 6 ก.พ. 2568 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณี บ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขออนุญาตทำห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ว่า รายงานของนายแพทย์ใหญ่กระทรวงสาธารณะสุข สหรัฐอเมริการะบุว่า ไม่มีระดับความปลอดภัยของควันบุหรี่มือสอง การมีห้องสูบบุหรี่ไม่สามารถแก้ปัญหาอันตรายจากควันบุหรี่มือสองได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ทั้งการแยกระบบอากาศ เครื่องฟอกอากาศทุกชนิด ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีห้องสูบบุหรี่จะทำให้พนักงานที่ทำงานในบริเวณที่ใกล้ชิดกับห้องสูบบุหรี่ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องเข้าไปทำความสะอาดในห้องสูบบุหรี่ หนีไม่พ้นที่จะได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองและมือสามที่ตกค้างอยู่ภายในห้องสูบบุหรี่
“หนึ่งในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่อยากสูบบุหรี่ในสนามบินที่ไม่มีห้องสูบบุหรี่ คือการจัดให้มียาอดบุหรี่ขายในสนามบิน เช่นหมากฝรั่ง หรือแผ่นแปะนิโคติน เพื่อให้คนที่อยากสูบบุหรี่มากจริงๆ ซื้อไปใช้เพื่อลดอาการอยากบุหรี่ วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการกลับไปสร้างห้องสูบบุหรี่ ที่ต้องลงทุนไม่น้อย และเป็นภาระในการบำรุงรักษาอุปกรณ์และความสะอาดของห้อง อีกทั้งยังสร้างมลพิษในอากาศให้แก่สนามบิน สวนทางกับนโยบายของทอท. ที่ต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินสีเขียว มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกคนที่มาใช้บริการของสนามบิน” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลจากกรรมการคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.)ที่มีความกังวลเป็นอย่างมาก ว่า การประชุม คผยช.วันที่ 7 ก.พ. นี้ จะมีวาระพิจารณากรณี บ.ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขอให้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปิดห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะกฏหมายกำหนดไม่ให้มีห้องสูบบุหรี่ ในสนามบินทุกแห่งในประเทศไทย ทั้งสนามบินภายในประเทศและสนามบินนานาชาติตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว หากจะมีการแก้กฏหมายให้มีห้องสูบบุหรี่ในสนามบินอีก จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ที่พยายามสร้างมาตรฐานเป็นสนามบินคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับทุกคน หากปล่อยให้เรื่องนี้สามารถทำได้ จะยิ่งทำให้สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้รับการประเมินคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ยิ่งในมิติสุขภาพ เป็นที่ทราบดีว่าควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เฉพาะผู้สูบเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบกับคนที่ไม่สูบด้วย
“สถานการณ์ทั่วโลกสนามบินต่างๆ ยังทยอยออกประกาศพื้นห้ามสูบบุหรี่ต่อเนื่อง สำหรับไทย สายการบินไทยได้ห้ามสูบบุหรี่ในเที่ยวบินภายในประเทศและในเอเชีย จนได้รับเหรียญรางวัลวันไม่สูบบุหรี่โลก จากองค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2535 ขณะนั้นยังมีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบิน ซึ่งได้ส่งกลิ่นเหม็นควันบุหรี่ออกมาบริเวณใกล้เคียง ต่อมา ปี 2553 ไทยได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกครบ 5 ปี และได้ปรับกฎหมายห้ามมีเขตสูบบุหรี่ หรือห้องสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะทั่วประเทศ ตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด ยกเว้นสนามบินนานาชาติ ซึ่งต่อมา ปี 2561 ได้มีกฎหมายยกเลิกห้องสูบบุหรี่ภายในสนามบิน ทั้งภายในประเทศและนานาชาติ จึงขอให้คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้พิจารณาด้วยการให้ความสำคัญกับสุขภาพของทุกคนที่ใช้สนามบิน โดยไม่ถอยหลังกลับไปอนุญาตให้มีห้องสูบบุหรี่อีก ซึ่งชื่อสนามบินของประเทศไทย ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารนานาชาติแล้ว ว่าเป็นสนามบินที่ปลอดบุหรี่ 100%” รศ.ดร.เนาวรัตน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี