สคล.ระดมไอเดียขับเคลื่อน “ความสุขที่มีสติ” ท้ากระแสสังคมยุคเสรีปลดล็อกอบายมุข หวั่นเด็กเยาวชนเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ เร่งบูรณาการจังหวัด เน้นสร้างภูมิคุ้มกัน และย้ำความรับผิดชอบของผู้ก่อปัญหา
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมใหญ่เครือข่ายจากทั่วประเทศเนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมอุบลฮอล์ โรงแรมเซนทารา จังหวัดอุบลราชธานี โดยชูสโลแกน “ความสุขที่มีสติ” ในสถานการณ์สังคมแบบเสรีนิยม พร้อมประเมินสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ในภาคอีสานในภาพรวมสถิตินักดื่มเปรียบเทียบปี 2560 กับปี 2564 พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และอำนาจเจริญความชุกลดลง ส่วนอีก 6 จังหวัด สถิติเพิ่มขึ้นได้แก่ มุกดาหาร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ชัยภูมิ อุบลราชธานี ส่วนจังหวัดศรีสะเกษสถิติความชุกคงเดิม คือ ร้อยละ 26.90 รวมทั้ง ความชุกของเยาวชนอายุ 15-19ปี ของจังหวัดศรีสะเกษ สถิติลดลงอย่างชัดเจนจาก ร้อยละ 12 ปี 2560 เป็น ร้อยละ 7.3 ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถิติปัญหาของภาคอีสานในหลายจังหวัดน่ากังวล โดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 32.3 พบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9 การดื่มในงานประเพณี / คอนเสิร์ต งานเลี้ยง ร้อยละ 70.0 การขายในวันพระใหญ่ต่าง ๆ ร้อยละ 15.7 การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาห้ามขาย ร้อยละ 25.2 การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย ร้อยละ 7.1 และดื่มในบ้านตนเอง กว่าร้อยละ 88.6 โดยพบว่า จังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่ดื่มสูงในภาคกว่าร้อยละ 38.6 เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ซึ่งคงต้องเจาะลึกสถานการณ์ปัญหาของแต่ละจังหวัด
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผจก. สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม การพนันออนไลน์ ยาเสพติด เป็นปัญหาที่ซับซ้อนบนเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสังคมดิจิตอล ดังนั้น สสส. และภาคีจึงต้องปรับตัวเน้นการทำงานที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เน้นการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน ตลอดจนเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่วัยเด็ก และเน้นกลุ่มที่มีการดื่มแบบเสี่ยงสูง เพื่อยืดอายุและเพิ่มอัตราอายุยืนเฉลี่ยรายจังหวัด โดยจะเน้น 4 หลักการ DOPA คือ Data Driven , Outcome Driven , Partner Driven และ AI Driven โดยใช้พื้นที่จังหวัดเป็นตัวตั้ง โดยพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็งมีส่วนร่วมแบบบ้านวัดโรงเรียนราชการให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเครือข่ายงดเหล้าเป็นหนึ่งในภาคีที่ทำงานเคียงคู่ สสส.มาต่อเนื่อง มีการทำงานในทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเน้นการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ปลอดภัยจากอบายมุขต่างๆ โดยปีนี้พิเศษที่มาเน้นเรื่อง “สติ” ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าอีกด้วย เรียกว่า รุมเร้าสังคมไทยทั้งด้านกาย ใจ สังคมและปัญญา จึงต้องกลับมาที่ฐานรากวางเป้าหมายบูรณาการพื้นที่จังหวัด ซึ่งเครือข่ายงดเหล้าจะต้องเร่งขับเคลื่อนจังหวัดให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนใน 2-3 ปีจากนี้
ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในพิธีเปิดว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน เพื่อให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคมะเร็งตับถือเป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานีต้องรีบแก้ไข และการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตประชากรให้มีความอยู่ดี มีสุข ลดปัญหาหนี้สินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสนับสนุนแนวทางการป้องกันนักดื่ม นักสูบหน้าใหม่ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลใจ มีการแพร่ระบาดอย่างแพร่หลาย จังหวัดอุบลราชธานีจึงดำเนินการนโยบายปราบปราม ป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กเยาวชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เครือข่ายงดเหล้าในจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ดำเนินงาน ได้แก่ ชุมชนต้นแบบสู้เหล้า บ้านโนนมะเขือ อำเภอกุดข้าวปุ้น ชุมชนบ้านแก้ง อำเภอเดชอุดม บ้านหนองคู อำเภอน้ำยืน และการขับเคลื่อนนโยบายระดับอำเภอได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอสำโรง อำเภอน้ำยืน และอำเภอเดชอุดม ตลอดจนงานแห่เทียนพรรษาที่เป็นจุดเด่นของจังหวัด งานประเพณีสงกรานต์ “ถนนดอกไม้และสายน้ำ” โดยเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยมีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปี ของการก่อตั้งเครือข่ายงดเหล้า นอกจากจะเป็นช่วงเวลาทบทวนและพบปะเพิ่มพลังเครือข่ายแล้ว ยังต้องมองอนาคตใน 2-3 ปีจากนี้ไป โดยข้อมูลปี 2564 ความชุกนักดื่มโดยรวมประเทศ ร้อยละ 28 ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแก้ไขกฎกระทรวงของกรมสรรพสามิตให้การผลิตสุราทำได้ง่ายขึ้น กรณีปัญหากัญชากระท่อมที่เริ่มส่งผลต่อเด็กเยาวชน รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า พนันออนไลน์ ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ถูกกฎหมายมากขึ้น โดยในโซนภาคอีสาน ซึ่งกำลังถูกส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นสุราท้องถิ่น วิถีชีวิตที่ชอบสนุกสนานม่วนหน้าฮ่านรถแห่ ประเพณียิ่งใหญ่บุญบั้งไฟ บุญแข่งเรือ รวมทั้งวิถีกินเหล้าหลังเสร็จงาน การเลี้ยงแขกด้วยเหล้า เป็นบรรทัดฐานและกิจกรรมการส่งเสริมตลาดของธุรกิจที่มาพร้อมกับการเป็นสปอนเซอร์จัดงานแบบ CSR ปลอม ซึ่งในความเป็นจริงผู้ที่ผลิตนำเข้าหรือขายสินค้าต้องรับผิดชอบต่อการขายสินค้าที่ไม่ธรรมดา เช่น ต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง ต้องควบคุมผู้ขายให้ทำตามกฎหมาย การไม่ขายคนเมา ไม่ขายให้เด็ก รวมทั้ง การปฏิบัติตามการควบคุมโฆษณาอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
ส่วนการบูรณการแก้ปัญหาโดยใช้พื้นที่จังหวัด ทางเครือข่ายได้คัดเลือกจังหวัดที่จะวัดผลการเปลี่ยนแปลงเป็น 3 กลุ่ม โดยปี 2568 จะเน้น 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุโขทัย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ อ่างทอง จันทบุรี สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช และปัตตานี จากนั้นจะขยายการติดตามวัดผลการเปลี่ยนแปลงไปยังจังหวัดกลุ่มที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยการพุ่งเป้าลดความเสี่ยงในกลุ่มดื่มหนัก สร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่อายุน้อย การบูรณาการประเด็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้ร่วมดำเนินการในชุมชนตำบลอำเภอ รวมทั้ง การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังแก้ไขในสภาผู้แทนฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี