เทคโนโลยี "4n" ความหวังในการจัดการปลาหมอคางดำ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือกัน เพื่อลดประชากรปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง เห็นได้จากมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐเป็นแกนกลางนำดำเนินการ เช่น กิจกรรมลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ การอนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาบางชนิดที่ผิดกฎหมาย จากนั้นปล่อยปลานักล่าตามกำจัดลูกปลาหมอคางดำทันที ฯลฯ หลากหลายความพยายามที่เกิดขึ้น กำลังสร้างผลกระทบเชิงบวก นำไปสู่การผลลัพธ์ในการลดพื้นที่ระบาดของปลาหมอคางดำจาก 19 จังหวัด เหลือ 17 จังหวัดในปัจจุบัน
อีกหนึ่งมาตรการสำคัญและจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ คือการใช้เทคโนโลยีเหนี่ยวนำโครโมโซม เพื่อทำให้ปลาเป็นหมัน เป็นไปตามมาตรการที่ 6 จากทั้งหมด 7 มาตรการในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิธีนี้เป็นการนำหลักพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของมัน
เทคนิคนี้จะเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม จากเดิมที่มีจำนวนชุดโครโมโซมตามธรรมชาติ 2 ชุด หรือ 2n ให้เป็นปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด หรือ 4n โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 40 °C เป็นระยะเวลา 5 นาที จากนั้นจะนำปลาหมอคางดำ 4n เพศผู้ ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำซึ่งมีชุดโครโมโซม 2n ในธรรมชาติ โดยลูกปลาหมอคางดำที่ได้จากการผสมในลักษณะนี้จะเป็นลูกปลา ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด หรือ 3n และเป็นปลาที่มีลักษณะเป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ไม่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการวางรากฐานการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เมื่ออธิบดีกรมประมงประกาศความสำเร็จเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มันไม่ใช่แค่ข่าวดี แต่เป็นสัญญาณแห่งความหวังที่จับต้องได้
“มาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนปลาชนิดนี้ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมประชากรของปลาชนิดนี้ในอนาคต” อธิบดีกรมประมงกล่าว ขณะปล่อยปลาหมอคางดำที่ได้รับการเหนี่ยวนำโครโมโซมให้เกิดลูกเป็นหมันลงในแหล่งน้ำ
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการสร้างปลา 4n จำนวนมากให้เพียงพอ และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคาดว่า โครงการนี้จะสัมฤทธิ์ผล ควบคุมประชากรปลาหมอคางดำให้อยู่หมัดได้ภายใน 3 ปี
เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยในการควบคุมปลาหมอคางดำ แต่ยังมีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่ต้องการควบคุมประชากรสัตว์น้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น การปล่อยปลา 4n ลงในแหล่งน้ำที่มีการระบาดอยู่ ถือเป็นการเดินหน้าอย่างมั่นคง ช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ และจะตามด้วยการปล่อยปลาพื้นถิ่นฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในความร่วมมือที่น่าสนใจคือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำในเฟส 2 จำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยจะนำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ในสวนยางพารา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือตัวอย่างที่ดีในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ที่ทุก ๆ คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินจริง ขอเพียงอย่าให้เสียงจากคนบางกลุ่มที่พยายามสร้างกระแสสวนทาง มาบั่นทอนกำลังใจของคนทำงานได้เท่านั้นพอ./
เรื่องโดย นิกร ประกอบดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี