‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ตรวจพบ‘ข่าวปลอม’รายสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ประชาชนสนใจสูงสุดอันดับ 1 เรื่อง‘ธ.ก.ส. ร่วมกับ กสิกร ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ลงทะเบียนผ่าน TikTok’ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ
9 กุมภาพันธ์ 2568 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 831,692 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 418 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 382 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 36 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 146 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 66 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ธ.ก.ส. ร่วมกับ กสิกร ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ลงทะเบียนผ่าน TikTok
อันดับที่ 2 : เรื่อง ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อ ผ่าน TikTok ชื่อ baacthailand09
อันดับที่ 3 : เรื่อง ธนาคารออมสิน เปิดบัญชี TikTok polkigukkrd
อันดับที่ 4 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดบัญชีไลน์เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีการเงิน
อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดบัญชี TikTok ชื่อ agriculturalextension_11
อันดับที่ 6 : เรื่อง พม. เปิดบัญชีติ๊กต็อก บอกเลขเด็ด
อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมการจัดหางาน เปิดบัญชี TikTok dy18ozezoiod จัดหางาน
อันดับที่ 8 : เรื่อง ลงทุนตราสารหุ้นกับ ‘โบรกเกอร์แจน’ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
อันดับที่ 9 : เรื่อง สำนักงานกิจการยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก Helpprevent and Suppress Cyber Fraud.
อันดับที่ 10 : เรื่อง กองทุนหุ้น GOLD เปิดให้คนไทยในต่างประเทศเป็นเจ้าของพอร์ต ปันผลสูง 30%
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการโครงการสินเชื่อของธนาคารรัฐ ช่องทางติดต่อของหน่วยงานรัฐในการให้บริการประชาชน และการชักชวนให้ลงทุนต่างๆ อาจทำให้ประชาชนที่สนใจเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งตัวบุคคลที่เชื่อและแชร์ข้อมูลส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง เกิดความสับสน และอาจทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ธ.ก.ส. ร่วมกับ กสิกร ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ลงทะเบียนผ่าน TikTok” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง โดยพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ และขอชี้แจงว่า ธ.ก.ส. ไม่มีการปล่อยสินเชื่อร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย ผ่านบัญชี TikTok ชื่อ “ksikrzehbl9kbank” แต่อย่างใด ซึ่งบัญชีดังกล่าวเป็นการแอบอ้างโดยมิจฉาชีพ และธนาคารได้ดำเนินการแจ้งระงับบัญชีแล้ว ดังนั้นขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ และโปรดตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารโดยตรงก่อนทำธุรกรรมใดๆ
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี