กทม.เดินหน้าป้องกัน-แก้ปัญหากัดเซาะ
เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียนแล้ว233ไร่
เผยนำขยะไม้ไผ่มาแปรรูปใช้ประโยชน์ลดตกค้างตามชายฝั่ง
กทม. ประสานความร่วมมือหน่วยงานเดินหน้าป้องกัน-แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนแล้ว 233 ไร่
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนว่า สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้องสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอโครงการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (กรุงเทพฯ จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร) โดยให้ความสำคัญเรื่องการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งและการปกป้องพื้นที่กรุงเทพฯ จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพร้อมทั้งให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อฝ่ายเลขานุการ (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรุงเทพฯ เป็นมาตรการถาวรเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง ซึ่งได้รับงบประมาณ กทม. ประจำปี พ.ศ. 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
สำหรับแผนงานโครงการฯ จะก่อสร้างคันหินกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่งทะเลของกรุงเทพฯ ความยาวประมาณ 4.7 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่ง เป็นที่ดักดินตะกอนและให้พันธุ์ไม้ป่าตามแนวบริเวณชายเลนให้เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ รวมถึงปลูกป่าชายเลนหลังคันหิน เพื่อให้ป่าชายเลนเติบโตแผ่ขยายตัวได้เร็วขึ้น ช่วยยึดดินและป้องกันการกัดเซาะได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้สนน. ได้ประชุมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขตบางขุนเทียน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวบรวมข้อมูลเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานเขตได้ดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ตั้งแต่ปี 2559โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ปักไม้ไผ่ทำแนวชะลอคลื่นหน้าทะเลระยะทาง 2,200 เมตร ปักเสาไฟฟ้าปิดกั้นคลื่นระยะทาง 317 เมตรใช้เสาไฟฟ้า 2,217 ต้น ทำแปลงปลูกป่าชายเลน12 แปลง และปลูกต้นกล้า 107,000 ต้นเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ 233 ไร่ ส่วนในปี 2568กำหนดเป้าหมายการบำรุงรักษาต้นกล้าโกงกางให้เจริญเติบโต เพื่อคงพื้นที่ให้ได้ 233 ไร่ และพัฒนานวัตกรรมกระบอกไม้ไผ่ 3R โดยนำขยะไม้ไผ่มาแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์ ลดปัญหาขยะไม้ไผ่ที่ตกค้างตามแนวชายฝั่ง
ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานและภาคีเครือข่ายส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน รวมทั้งปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อป้องกันแนวป่าชายเลนที่ปลูกใหม่และลดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง อย่างไรก็ตามการปลูกป่าชายเลนในแปลงปลูกป่าหน้าทะเล พบปัญหาความแรงของคลื่นลมทะเล จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยปลูกในท่อซีเมนต์ความสูง 2 เมตร ปากกว้าง 6 นิ้ว เพื่อยกระดับให้ต้นกล้าพ้นน้ำทะเล ซึ่งเป็นการเลียนแบบการปลูกลงบนดินตามธรรมชาติ ช่วยเพิ่มอัตราการรอด และทดลองใช้ประโยชน์ในการลดแรงคลื่นไปพร้อมกับการเพิ่มตะกอนดิน ทั้งนี้ เริ่มใช้ท่อซีเมนต์ในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ 114 แห่ง ปักท่อไปแล้ว 28,589 ท่อพบว่ามีตะกอนดินสะสมเพิ่มขึ้นในแนวท่อซีเมนต์สูงประมาณ 1-1.20 เมตร
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะแนวชายฝั่งที่ต้องร่วมมือกัน โดยได้ประสานงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำรุงรักษาแนวชายฝั่ง ต้อนรับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี 2560-ม.ค. 2568 มีหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมฯ 146 หน่วยงาน ผู้ร่วมกิจกรรมฯ 42,820 คน นักท่องเที่ยวปั่นจักรยาน 130,072 คน ปลูกต้นกล้าโกงกาง 110,723 ต้น จัดเก็บขยะทะเล 14,650 กิโลกรัม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี