‘สมัชชาแรงงานนอกระบบ’ถกประเด็น‘ลูกจ้างทำงานบ้าน’ ชี้แก้กฎหมายดันเข้าประกันสังคมมาตรา 33 - ตั้งสหภาพแรงงานเกิดไม่ง่าย
9 ก.พ. 2568 สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “สมัชชาแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2568” ณ รร.เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดย นางกชพร กลักทองคำ ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงาน ว่า แม้ภาครัฐจะกฎหมายไปมาก มีการสร้างหลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบมากขึ้น แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังคงอยู่
“สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ จัดงานสมัชชาครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจสภาพปัญหาและร่วมเสนอความคิดเห็น ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้” นางกชพร กล่าว
นางมาลี สอบเหล็ก รองประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการรณรงค์จนกระทั่งมีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สาระสำคัญคือการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านให้มีวันหยุด-วันลา อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นกฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงการลาคลอด แม้ในความเป็นจริงลูกจ้างทำงานบ้านมักเป็นเพศหญิงก็ตาม
กระทั่งในเวลาต่อมามีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2567) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สาระสำคัญคือเพิ่มสิทธิการลาคลอดให้กับแรงงานหญิงที่เป็นลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งแม้จะสามารถลาคลอดได้ 98 วัน ขณะที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียง 45 วัน แต่ลูกจ้างทำงานบ้านก็ดีใจที่มีกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมา ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อกังวลเรื่องกระทรวงแรงงานจะมีวิธีสื่อสารอย่างไรกับนายจ้างเพื่อให้กฎหมายสามารถใช้ได้จริง
“อีกประเด็นคือจะช่วยสนับสนุนให้เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านมีสหภาพ เพื่อที่จะสื่อสารหรือทำงานกับพวกเราได้เป็นระบบและตรงประเด็น แล้วก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางมาลี กล่าว
น.ส.กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นงานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work พวกตนภูมิใจในอาชีพ เพราะงานบ้านเป็นงานที่ใช้ทักษะมาก ตื่นก่อน-นอนหลังนายจ้าง ทำงานแทบทุกอย่าง และงานลูกจ้างทำงานบ้านก็เป็นงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลายคนยึดอาชีพนี้ส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือจนจบออกไปทำงานได้
“ทำไมถึงไม่ยอมรับว่าเราเป็นแรงงาน ในเมื่อเราก็มีนายจ้างเป็นตัวตนชัดเจน เราก็อยากเข้าประกันสังคมเพราะเราอยากมีสวัสดิการเหมือนแรงงานในระบบ เพราะพวกเราก็คือแรงงานเหมือนเช่นทุกคน” น.ส.กัญญภา กล่าว
นายเกษมสันต์ เครือเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีกฎกระทรวงฉบับที่ 15 ที่มีเสียงสะท้อนว่าบังคับใช้แล้วแต่ยังไม่เห็นผลเต็มที่ เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า แนวปฏิบัติเมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วจะมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.บังคับใช้อย่างเคร่งครัดทันที กับ 2.สร้างความเข้าใจกันก่อน ไม่เช่นนั้นคงได้ดำเนินคดีกันทั้งประเทศ ผลกระทบก็จะย้อนกลับมาที่แรงงานมีโอกาสถูกเลิกจ้าง
“เราไม่ต้องการให้คนถูกเลิกจ้าง แต่ขณะเดียวกันคนทำงานต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นการสร้างการรับรู้ ถ้าผิดท่านต้องไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูก มันก็จะเกิดได้ทั้ง 2 อย่าง คือคนทำงานก็ได้งานและได้รับการคุ้มครอง ส่วนคนทำผิดที่ไม่ใช่อาชญากรก็มีโอกาสที่จะได้ปรับปรุงตัว” นายเกษมสันต์ กล่าว
นายเกษมสันต์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีลูกจ้างทำงานบ้านอยากตั้งสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กำหนดประเภทของสหภาพแรงงานไว้เพียง 2 ประเภท คือ 1.สหภาพแรงงานของลูกจ้างที่มีนายจ้างเดียวกัน กับ 2. สหภาพแรงงานที่ลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการเดียวกัน (มาตรา 88) ซึ่งแม้จะเปิดช่องให้ลูกจ้างทำงานบ้านที่ไม่ได้มีนายจ้างคนเดียวกัน มารวมกลุ่มกันตั้งสหภาพประเภทที่ 2 ได้ แต่ในทางปฏิบัติคือมีการไปตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ยกเว้นกิจการที่ไม่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ปัจจุบันกฎหมายพัฒนาไปมาก ในอดีตไปขอจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานอาจทำไม่ได้ แต่เวลานี้อยากให้ลองใหม่อีกครั้ง รวมตัวกันให้ได้ 10 คนขึ้นไปแล้วไปขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานประเภทลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการเดียวกันโดยไม่ใช่นายจ้างเดียวกัน ไปลองเพื่อให้มีคำตอบออกมา หากเจ้าพนักงานไม่รับจดก็ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อไปเลย
“นั่นคือกลไกในการทำให้สุดทาง ไม่ใช่บอกว่าไม่ได้หรอกแล้วเราก็หยุด อันนี้ผมอยากชวนเพราะมันคือความท้าทายในการทำงาน เพราะวันนี้บริบทของการทำงาน โดยเฉพาะคนที่เป็นคนรับใช้ในบ้าน ท่านคือลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพียงแต่ว่าด้วยลักษณะหรือสภาพอาจจะไม่เอามาทั้งหมด ดังนั้นจึงเกิดการเอาข้อกฎหมายบางเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในการที่จะต้องเอามาควบคุม ขอลองตรงนี้ดูก่อนแล้วเดินให้สุดทาง” ผอ.กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าว
นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ทนายความด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องลูกจ้างทำงานบ้าน แนวคิดทางกฎหมายและนโยบายยังมองงานประเภทนี้ว่าไม่มีนัยทางเศรษฐกิจ เป็นงานบริการในบ้าน ซึ่งก็ต้องถกกันว่างานที่มีคุณค่า หรือ Decent Work คืออะไร คำว่าไม่มีนัยทางเศรษฐกิจ หมายความว่าไม่เหมือนกับโรงงาน แต่เป็นงานบ้าน ดังนั้นจึงคุ้มครองเพียงประมาณหนึ่งก็พอแล้วหรือไม่ แต่พอคุ้มครองน้อย ในทางสากลเขาก็มองว่าเป็นแรงงานนอกระบบทั้งที่มีนายจ้าง
“คำถามสำคัญคือทำไมต้องตั้งสหภาพแรงงาน? ก็เป็นสิทธิ์! เป็นลูกจ้างก็ต้องมีสิทธิ์ แต่เตรียมไว้นะ อาจจะมีเสียงแทรกๆ ออกมา บอกว่ามันเป็นกิจการหรือเปล่า? งานบ้านเป็นกิจการหรือเปล่า? เพราะคุณจะตั้งสหภาพ บ้านเรามี 2 แบบ เขาเรียกสหภาพนายจ้างคนเดียวกัน กับสหภาพกิจการ บริษัทหนึ่งนายจ้างหนึ่งก็ตั้งสหภาพหนึ่ง กิจการอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ สิ่งทอ ก็อันหนึ่ง รวมกัน 10 บริษัทเป็น 1 สหภาพได้ เรามี 2 แบบแค่นี้ ลูกจ้างงานบ้าน บ้านหนึ่งมี 1 คน 2 คน 10 คนถึงจะตั้งได้ แล้ว 2 คนทำอย่างไร? ไม่มีทาง! จบ! ก็จะเหลืออย่างเดียวคือสหภาพกิจการ ก็จะมีข้อเถียงว่าเป็นกิจการหรือเปล่า?” นายชฤทธิ์ กล่าว
นายจตุรงค์ ไพรสิงห์ กรรมการประกันสังคม (ฝ่ายผู้ประกันตน) กล่าวว่า ในประเด็นที่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องการเข้าเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมมาตรา 33 จากที่ปัจจุบันเป็นผู้ประกันตนของมาตรา 40 แต่การเข้ามาในมาตรา 33 จะไม่ได้มีเฉพาะการส่งเงินสมทบประกันสังคม 3 ฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องกองทุนเงินทดแทนด้วย อีกทั้งกองทุนเงินทดแทนนายจ้างต้องจ่ายเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นข้อเรียกร้องนี้ก็มีโอกาสถูกตีโต้ได้
“ถ้าพูดตรงๆ เขาไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม เพราะอยู่อย่างนี้ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงิน แต่พอย้ายไปอยู่ 33 เขามีภาระหน้าที่ที่ต้องจ่ายเพิ่ม 5% ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วก็มาตรา 40 ที่จ่ายเข้าไปอยู่ในมาตรา 33 อีกหนึ่งกองทุนคือกองทุนเงินทดแทน เวลาเจ็บป่วยในงานต้องใช้กองทุนนั้น และกองทุนนั้นนายจ้างจ่ายเพียงฝ่ายเดียว ถามว่ายากไหม? ยาก! แต่เราก็ต้องผลักดันให้ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทางบอร์ดกับทางประกันสังคมต้องทำความเข้าใจกับนายจ้างให้ยอมรับให้ได้ อันนี้เป็นภาระใหญ่” นายจตุรงค์ กล่าว
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี