'ทนายปราบโกง'พร้อมพนง.การท่าเรือฯ ร้องปลัดคมนาคม สอบ ผอ.การท่าเรือฯ ส่อทำหนังสือชี้แจงคดีโกงเงินค่าล่วงเวลาเท็จ
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2568 ที่ถนนราชดำเนิน บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม นายกฤษฎา อินทามระ หรือทนายปราบโกง พร้อมอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวนประมาณ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด กรณีการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษทางวินัยร้ายแรงกับผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย
นายกฤษฎา เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อ วันที่ 15 ต.ค.2567 พนักงานการท่าเรือฯ กว่า 100 คนได้ไปชุมนุมกันที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้การท่าเรือชดใช้ค่าเสียหายทั้งทางร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงกรณีถูกการท่าเรือร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงาน ทั้งที่พนักงานเป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 ต.ค.2567 ขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาตรวจสอบ และดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีที่ตนได้ไปยื่นหนังสือดังกล่าว และกระทรวงคมนาคม ก็พิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้การท่าเรือฯ ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แล้วแจ้งกลับมาให้ตน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทราบโดยตรง แล้วรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบด้วย แต่การท่าเรือฯ ก็ยังคงเพิกเฉยเรื่อยมา กระทรวงคมนาคมจึงมีหนังสือลงวันที่ 4 ธ.ค.2567 เร่งรัดให้การท่าเรือฯ แจ้งผลการพิจารณาดำเนินการให้กระทรวงฯ ทราบด้วย
นายกฤษฎา กล่าวว่า ต่อมาการท่าเรือฯ มีหนังสือลงวันที่ 29 ม.ค.2568 ถึงตน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม โดยผู้ที่ลงนามในหนังสือทั้งสามฉบับคือผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยข้อความในหนังสือทั้งสามฉบับมีข้อความเหมือนกัน โดยกล่าวอ้างว่า การท่าเรือฯ มิได้มีความประสงค์ที่จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงาน และอดีตพนักงานเกี่ยวกับกรณีทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลามาตั้งแต่แรกเริ่ม
ซึ่งข้อความดังกล่าวตนเห็นว่าเป็นความเท็จทั้งสิ้นหรือไม่ เพราะความจริงคือ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2560 การท่าเรือฯ มีความประสงค์ดำเนินคดีอาญากับนายจงเด่น, นายเฉลียว และนายวรพล กับพวกพนักงาน และอดีตพนักงานรวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง และถึงแม้ว่าในหนังสือดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นการร้องทุกข์ตามหนังสือของ ดีเอสไอ ที่ส่งมาถึงการท่าเรือฯ ก็ตาม
ข้อกล่าวอ้างเช่นนี้ถือเป็นการโยนความผิดไปให้ ดีเอสไอ หรือไม่ เพราะก่อนที่การท่าเรือฯ จะแสดงความประสงค์เป็นผู้เสียหาย และร้องทุกข์กล่าวโทษมอบคดีให้ ดีเอสไอ เป็นผู้ดำเนินคดีกับพนักงานจำนวนมากนั้นการท่าเรือฯ ก็จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแห่งการกระทำความผิดให้แน่ชัดและครบถ้วนเสียก่อนว่า พนักงานจำนวนหลายร้อยคนนั้นได้มีการกระทำความผิดจริงหรือไม่เพียงไร แต่ก็หาได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นเหตุให้คดีพิเศษต้องดำเนินต่อไปได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่พนักงานผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จากการถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และการทำหนังสือที่มีข้อความอันเป็นเท็จนั้น ก็มีเจตนาพิเศษต้องการช่วยเหลือผู้บริหารและอดีตผู้บริหารกว่า 30 คน ที่กำลังถูก ป.ป.ช.ไต่สวนความผิดข้อหากลั่นแกล้งพนักงานในคดีพิเศษเพื่อต้องการให้บุคคลเหล่านั้นพ้นผิดหรือไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง
การกระทำของผู้อำนวยการการท่าเรือฯ จึงมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตนจึงต้องมาร้องเรียนขอให้ปลัดกระทรวงคมนามคม ลงโทษทางวินัยผู้อำนวยการการท่าเรือฯ คนดังกล่าว หากพบว่ามีความผิดจริงขอให้ลงโทษสถานหนักด้วย
เบื้องต้นมีนายเสน่ห์ ตั้งสถิตย์ ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ ดูแลงานเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงคมนาคม มารับหนังสือจากพนักงานการท่าเรือฯ เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี