10 ก.พ. 2568 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี มีการจัดงานถ่ายทอดนโยบายการเคลื่อนการแก้ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย “ปี แห่งการจัดการความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน” “TheYear of youth for road safety management.” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติกาถ่ายทอดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานการแก้ปัญหาการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน TSY Program
นายเดชา ปาณะศรี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนจาก 4 กลุ่มภัยหลักๆ คือ 1.ภัยจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ 2.ภัยจากอุบัติเหตุ 3.ภัยที่เกิดจากถูกล่วงละเมิดสิทธิ์ และ 4.ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ ซึ่งนับตั้งแต่ที่เริ่มเก็บสถิติในปี 2564 – 2567 พบว่า อุบัติเหตุเป็นภัยที่สร้างความสูญเสียกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด และในจำนวนนี้อันดับ 1 คือภัยจากยานพาหนะ
โดยตัวอย่างในปี 2566 จะมีเด็กและเยาวชนวัยเรียนเสียชีวิต 158 ราย และส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากจักรยานยนต์ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาก็จะมีทีมงานวิเคราะห์ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กช่วงชั้นใด อายุเท่าไร ซึ่งพบว่า นับตั้งแต่ที่เก็บสถิติมา กลุ่มวัยที่เกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์มากที่สุดคือประมาณ ม.ต้น ประมาณ ม.1-3 ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนมาก่อน มีนักเรียนที่ไม่มีใบขับขี่แต่ก็จำเป็นต้องใช้จักรยานยนต์
“ยกตัวอย่างในถนนตรอกซอกซอยตามชนบท เขาไม่มีรถรับ - ส่ง แต่เขาจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ ไม่มีขนส่งสาธารณะ ฉะนั้นบางโรงเรียนในขณะนี้เราพยายาม คือโดยหลักกฎหมายแล้วไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ใช้รถ แต่พอในความเป็นจริงไม่ใช้ไม่ได้เพราะมาโรงเรียนไม่ได้ ทีนี้จะทำอย่างไรที่จะคุยกับเจ้าหน้าที่ หมายถึงจราจรหรือแม้กระทั่งขนส่งที่อยู่ในพื้นที่ ทำอย่างไรจะให้เด็กกลุ่มนี้พอจะมีความรู้ ทักษะในการใช้รถใช้ถนน ดังนั้นอาจมีการอบรมให้ความรู้ และมีใบรับรองอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ใบขับขี่” นายเดชา กล่าว
นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า นักศึกษาอาชีวะส่วนหนึ่งก็ใช้จักรยานยนต์ และมีจักรบานยนต์ก่อนมีใบขับขี่ หรือแม้จะมีใบขับขี่แล้วแต่ก็ต้องได้รับการปลูกฝังจิตสำนึก ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเด็กและเยาวชนแต่เป็นปัญหาสังคม เรื่องของวินัยจราจร ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนมีปัจจัยจากพฤติกรรมคนมากที่สุด จึงมีกิจกรรมที่ทำเพื่อปลูกฝังนักศึกษา เช่น เรื่องของการขับขี่ปลอดภัย วิชาขับรถจักรยานยนต์ – รถยนต์ มีการสอนในวิทยาลัยอาชีวะ และมีการแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยด้วย
“อาชีวะเสริมได้แน่นอน เพราะเด็กและเยาวชนอาชีวะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ เรื่องครูเรามีครูฝึก ครู ก. ที่เป็นครูฝึกขับขี่ปลอดภัยทั้งรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ร่วมกับขนส่งที่เป็นศูนย์การทดสอบและอบรมมีใบขับขี่ ซึ่งของเราเข้มแข็งจริงๆ ตามมาตรฐานของหลักสูตร แล้วเราก็ยังสอนวิชาขับขี่ปลอดภัย ซึ่งเหมือนกับต่างประเทศ เขากว่าจะได้ใบขับขี่เขาอบรมกันหลายเดือน เป็นปีก็มี” นายทวีศักดิ์ กล่าว
น.ส.ชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ท้องถิ่นมีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ประมาณ 19,000 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 17,000 แห่ง โรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะ 10 แห่ง มีเด็กและเยาวชนในความดูแลกว่า 1.2 ล้านคน
“เรามีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วมหลักสูตร TSY แล้วก็ในเรื่องของการขับเคลื่อนต่างๆ ตาม MOU ที่ทางกรมฯ ได้รับมอบหมายเรื่องของการพัฒนารูปแบบด้านความปลอดภัย การประเมินผล รวมถึงเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการศึกษาสังกัดองค์กรท้องถิ่น ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็มีความตั้งใจและพยายามจะให้ทางบุคลากรในพื้นที่ได้รับทราบข่าวสารของ TSY” น.ส.ชลิดา กล่าว
น.ส.อรนุชา มลคลรัตนชาติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว เปิดเผยว่า มีเด็กและเยาวชนราว 1.8 แสนคน เป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งมีกลไกลงไปถึงระดับตำบล และสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนเองก็เป็นผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะจากจักรยานยนต์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลง นอกจากนั้น ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังพบด้วยว่า จำนวนผู้พิการหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุ
“น้องๆ สภาเด็กและเยาวชน เขามีความตระหนักและต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตรงนี้มาก เรามีการจัดเวทีสิทธิเด็กทุกปีช่วงเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่าหนึ่งในหัวข้อที่น้องเขาหยิบยกขึ้นมาอภิปราย คือความปลอดภัยบนท้องถนน เด็กสะท้อนขึ้นมาเอง 1 ใน 6 ประเด็นของเขาคือความปลอดภัยบนท้องถนน เขาอยากเห็นเพื่อนๆ เขามีความปลอดภัย เด็กๆ จะมีความปลอดภัย เขาก็ไปวิเคราะห์กันมา ในปี 2563 – 2565 มีเด็ก - เยาวชนอายุ 15 – 24 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 1,235 ราย พอเขาวิเคราะห์อีกว่าจากไหน? ปรากฏว่าจักรยานยนต์ 844 ราย” น.ส.อรนุชา ระบุ
นางพรทิพย์ ภู่งาม นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีโครงการ “เด็กรุ่นใหม่มีใบขับขี่” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มจากการให้ความรู้ก่อน ในเมื่อจำเป็นต้องใช้รถก็ต้องรู้ว่าใช้อย่างไรให้ปลอดภัย และเมื่อออกไปบนท้องถนนก็ควรมีใบขับขี่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 ตั้งเป้าว่าจะมีนักเรียนเข้ามาอยู่ในโครงการประมาณ 6 หมื่นคน
“เราจัดสรรไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดและรวมถึงสาขาด้วย 195 แห่ง ในปีนี้เราหวังว่าจะได้ 6 หมื่นกว่าราย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็สำเร็จไปแล้ว 270,000 กว่าราย นอกจากโครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่ ยังมีโครงการงบประมาณสร้างความปลอดภัยลงไปที่จังหวัด ซึ่งนอกจากการบูรณาการร่วมกันจัดสรรงบประมาณแล้ว เราก็จะมีการส่งข้อมูลให้นำใช้โดยที่อาจไม่ต้องจัดสรรงบประมาณ เราก็จะมีสื่อต่างๆ ลงไป คลังความรู้เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนสำหรับเด็กและเยาวชน” นางพรทิพย์ กล่าว
สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วงปี 2560 - 2566 แบ่งช่วงอายุเป็นกลุ่มละ 5 ปี ไล่ตั้งแต่อายุ 0-4 ปี ไปจนถึงอายุ 95-99 ปี
พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กองป้องกันการบาดเจ็บ เตรียมเรื่องพัฒนาบุคลากร เครือข่าย ซึ่งในส่วนของครู – อาจารย์ ที่สมัครเข้าร่วมและผ่านการอบรมหลักสูตร TSY จะมีการขึ้นทะเบียนไว้ มีการมอบเกียรติบัตร และมีการประกวดผลงาน ส่วนการที่ครูจะนำไปใช้ประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะได้หรือไม่ เรื่องนี้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ระหว่างการหารือ ในระหว่างนี้ก็พัฒนาคนรอไว้ พอถึงเวลา ประกาศอะไรออกมาเรียบร้อยก็มีคนที่เข้าคุณสมบัติ
“การเสียชีวิตปี 2560 -2567 พอ 14 มาถึง 15 ปุ๊บ สองพันกว่า มันสูงกว่าทุกช่วงอายุ จากอะไร? จากมอเตอร์ไซค์ มันก็เลยจำเป็นที่เราจะต้องรีบจัดการในกลุ่มนี้ แล้วมันได้ผลไหม? มันลงตอนแรกก็คิดว่าโควิดหรือเปล่า? แต่มันยังลงต่อเนื่อง แสดงว่าการดำเนินการ อาจจะไม่ใช่แค่ TSY อย่างเดียว ทุกภาคส่วนเห็น ใช้คำว่าลงมาเกือบพันราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อและคุ้มค่า” พญ.ศิริรัตน์ กล่าว
นายดุสิต ศิริวราศัย ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ในขณะที่ ปภ. เป็นฝ่ายเลขาของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระดับประเทศ ทำหน้าที่เชื่อมโยงต่อ นำกลไกมากำหนดทิศทาง ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ก็จะต้องนำไปบูรณาการแล้วออกมาเป็นนโยบาย
โดยขั้นตอนในขณะนี้ คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน (ส่วนกลาง) กำลังดำเนินการ ซึ่งได้รับข้อมูลจากการถอดบทเรียนอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ อยู่ระหว่างเสนอให้กรรมการของ ศปถ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
“ต้องให้กำลังใจทางจังหวัดแต่ละพื้นที่ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ดี ผมว่าต้องพยายามชวนศูนย์ถนนอำเภอและ อปท. เข้ามา เพราะแต่ละโรงเรียนอยู่ที่อำเภอ อยู่ที่ อปท. จังหวัดก็จะมองได้ในภาพกว้าง คล้ายๆ เราเป็นร่มใหญ่ในประเทศ พอลงไป 76 จังหวัด แล้วไป 878 อำเภอ แล้วก็ยังมี อปท. อีก 7,000 กว่า ยกตัวอย่างที่ลำสนธิ (ลพบุรี) จะมีถนน 4 เลนอยู่หน้าโรงเรียน ซึ่งตอนเย็นครูก็จะต้องออกมาอยู่หน้าโรงเรียน เพื่อมาพาเด็กข้ามถนน ผมเชื่อว่ามีทุกพื้นที่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าบริหารจัดการอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร ก็ต้องเอามาเป็นตัวขับเคลื่อน” นายดุสิต กล่าว
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า สำหรับ Thailand Safe Youth (TSY program) คือ รูปแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตและบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในระดับสถานศึกษา ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด พัฒนามาจากการศึกษาวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นำร่อง โดยประยุกต์ใช้แนวคิด Swiss Cheese Model ปิดช่องว่างของปัญหาทั้งระดับนโยบาย ผู้กำกับดูแล มาตรการการแก้ไข และการส่งเสริมการเรียนรู้ทัศนคติความปลอดภัย (Road Safety Mindset) ประกอบด้วย 6 กระบวนการ
1.วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ (Data and Information) 2.พัฒนานโยบายและการขับเคลื่อนกลไกการทำงาน (Policy advocacy) 3.สร้างพลังแห่งการทำงานเป็นทีม (Empowerment of teamwork) 4.สร้างมาตรการที่มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง (Powerful Measures) 5.พัฒนาทักษะชีวิต ฉีดวัคซีนจราจร (Life skills and Traffic vaccinations) และ 6.การติดตามประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลสะท้อนกลับ (Evaluation and Feedback)
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี