สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์เชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Cybersecurity) สำหรับผู้ที่มิได้ปฏิบัติงานด้านเทคนิค” ณ ห้องฝึกอบรม ชั้น 4 อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำหรับการจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ และให้ผู้เข้าอบรมสามารถป้องกันตนเองและองค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ขั้นพื้นฐานได้ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ในองค์กร โดยกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 100 คน
บรรยากาศในวันฝึกอบรมเป็นไปอย่างเข้มข้น เริ่มต้นด้วยบทเรียนจาก ผศ.ดร.สาธิต กระเวนกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายดิจิทัล วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้พาทุกคนไปเรียนรู้เกี่ยวกับ Cyber Security แบบเจาะลึก ตั้งแต่ประเภทของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความอันตรายและช่องโหว่ทางไซเบอร์ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่กลับเป็นภัยใกล้ตัวที่นำมาสู่การโจรกรรมข้อมูลได้ไปจนถึงวิธีรับมือและป้องกันภัยทางไซเบอร์ทั้งการอัปเดตซอฟต์แวร์ โปรแกรม หรือระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ การสแกนไวรัสต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ดูแลโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้มีองค์ความรู้ไปพัฒนาและป้องกันภัยในการทำงานต่อไป
นายปัฐพล ไพคำนาม วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ Digital Forensics ในการสืบค้น เก็บหลักฐานทางดิจิทัลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่าย หรือโทรศัพท์มือถือ เช่น อีเมล ภาพถ่ายที่ถูกลบ ข้อมูลการเงินต่างๆ เพื่อสำเนาข้อมูลในการใช้เป็นพยานหลักฐานและวิเคราะห์ข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้จริงในการเก็บหลักฐานมาให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิค VA SCAN เพื่อประเมินหาช่องโหว่ของอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชั่นที่อาจถูกโจมตี โดยเน้นที่โปรแกรม Nessus ที่มีประสิทธิภาพในการสแกนหาช่องโหว่ สร้างรายงาน ประเมินผล และให้คำแนะนำในการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อการเกิดการโจรกรรมข้อมูลต่างๆ นั่นเอง
ปิดท้ายด้วย นางสาวสุรนุช สัพโส นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มาต่อยอดความรู้ด้านการใช้โซเชียลมีเดียให้ปลอดภัย โดยเฉพาะวิธีการป้องกันตัวเองจากการถูกแฮกระบบ ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์สำคัญที่ผู้คนมักถูกโจมตี โดยเฉพาะการยืนยันตัวตน 2 ชั้น (2FA) และการยืนยันตัวตนจากหลายปัจจัย (MFA) ในช่องทางโซเชียลต่างๆ กระทั่งวิธีสังเกตอีเมลหลอกลวง (Phishing Email) ลิงก์อันตราย ที่ไม่ควรคลิกลิงก์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีเข้าสู่ระบบ โดยทุกช่วงการอบรมนั้น เหล่าวิทยากรจะให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน นำมาสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อต่อยอดในการปฏิบัติงานจริงในอนาคตต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี