11 ก.พ. 2568 เพจเฟซบุ๊ก “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move” โพสต์ข้อความ ระบุว่า
บ้านเพื่อคนไทยตามนโยบายรัฐ ที่ใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่ตั้งโครงการ ถือเป็นนโยบายที่ดี สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย เป็นทำเลที่เหมาะ ใกล้แหล่งงานและระบบขนส่งมวลชน
อย่างไรก็ตาม บ้านสำหรับคนจนเมือง มีความหมายมากกว่านั้น เพราะนอกจากเป็นที่อยู่อาศัย ยังเป็นสถานที่ใช้ชีวิตและทำกิน และสืบสานอยู่ต่อกันยันหลายชั่วอายุคน แต่สิทธิการเข้าถึงของพวกเขากลับถูกจำกัดสิทธิและโอกาส รัฐบาลจึงต้องจัดสรรให้คนจนเมือง มีความเท่ากัน สามารถอยู่ในบ้านของพวกเขาเองได้อย่างมีความมั่นคง เป็นสุข
ในวันนี้ (11 ก.พ.68) ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล (ประตู 4 ) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย จึงได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาเร่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหา และให้ความสำคัญกับโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง
จำนงค์ หนูพันธ์ กรรมการที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค และในฐานะที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “บ้านเพื่อคนไทย” ถือเป็นนโบายที่ดี ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยการใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งถือว่าเป็นทำเลที่เหมาะ เพราะที่ตั้งโครงการใกล้แหล่งงาน ใกล้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
แต่สำหรับขบวนการคนจนเมือง และในนามสมาชิกเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นกลุ่มคนคนจนเมือง ที่เป็นเพียงแรงงานนอกระบบ มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเงินเดือนประจำ ซึ่งส่วนมากจะประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวโดยการรับจ้างได้เป็นค่าแรงรายวัน ดังนั้น โครงการบ้านเพื่อคนไทย ตนเอง (จำนงค์) มองว่า อาจมีเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับคนกลุ่มคนที่เรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัย นอกจากไม่มีศักยภาพในการผ่อนจ่ายในอัตราเริ่มต้น 4.000 บาท ต่อเดือน ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์และคุณสมบัติบ้านเพิ่อคนไทยที่รัฐบาลกำหนดได้
ที่ปรึกษาพีมูฟ บอกด้วยว่า รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายเพื่อให้ประชาชนกลุ่มคนดังกล่าว สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในอีกรูปแบบ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ที่ดินการรถไฟฯในการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนคนจนเมืองเรียกร้องผลักดันให้แก้ไขปัญหามาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน คือ “โครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง” ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 ที่มอบหมายให้การรถไฟฯ นำที่ดินมาแก้ปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินการรถไฟฯ จำนวน 300 ชุมชน มีกว่า 35 จังหวัด รวมประมาณ 27,085 ครัวเรือน และเมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ที่มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชน แออัดในที่ดินการรถไฟฯ พัฒนาที่อยู่อาศัย งบประมาณจำนวน 7.7 พันล้านบาท
“อีกทั้งในปีงบประมาณ 2568 ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาสำหรับชาวชุมชนในที่ดินการรถไฟฯมาพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวน 2,000 ครัวเรือน ซึ่งชุมชนมีความพร้อมเสนอเช่าที่ดินต่อการรถไฟฯไปแล้ว 48 ชุมชน จำนวน 24,67 ครัวเรือน แต่กลับเจอปัญหาอุปสรรคจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินคือการรถไฟฯ และบริษัทลูก และกระทรวงคมนาคม ยังคงมีการโยนกันไปมา จึงเกิดความล่าช้าในการอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยได้”
จำนงค์ ระบุ.ด้วยว่า ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย และในนามเครือข่ายสลัมสี่ภาค หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อประชาชนทุกกลุ่มที่จะเข้าถึงที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม และหวังด้วยว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ซึ่งทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการที่สำคัญที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ ตามกรอบงบประมาณที่ได้จัดสรรไว้
การเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ มีนายสมคิด เชื้อคง (รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง) ได้รับมอบหมายเป็นผู้มารับหนังสือ พร้อมตอบกลับว่า ในวันที่ 13 ก.พ.68 จะมีการประชุมอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่ง รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง แจ้งว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมอนุกรรมการ ดังกล่าว เพื่อเร่งการแก้ไขปัญหาโดยด่วน
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาสลัมสี่ภาค บอกทิ้งท้ายว่า ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย จะมีการจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อมาฟังคำตอบจากรัฐบาล ภายหลังจากได้ยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ โดยมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ดังนี้
1. เดินหน้าโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ตามมติ ครม.ให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อให้ชาวชุมชนแออัดในพื้นที่การรถไฟฯ ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
2. สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดการอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน ให้กับ 48 ชุมชน ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2568
3. นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว ตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
ขอบคุณเรื่องและภาพจากพีมูฟ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี