‘โฆษก ปปง.’เผยคดีแพ่ง‘ตู้ห่าว’และพวก‘ฟอกเงิน’ ยึดอายัดรวม 117 ล้าน ยังเดินหน้าต่อ แม้ศาลอาญายกฟ้อง ระบุ‘ตู้ห่าว’สามารถนำคำพิพากษายกฟ้อง ยื่นคัดค้านต่อ‘ศาลแพ่ง’ว่าทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด แต่พยานหลักฐานต้องมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงพอ
12 กุมภาพันธ์ 2568 จากกรณีศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้องนายชัยณัฐร์ หรือ “ตู้ห่าว” กับ พ.ต.อ.หญิง อดีตภรรยาของตู้ห่าว และพวก รวม 19 ราย ในคดีบุกจับผับจินหลิง ในข้อหา “ยาเสพติด-ฟอกเงิน-องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” แต่ลูกน้องอีก 6 ราย ถูกดำเนินคดีจำคุก เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น
นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวถึงมาตรการยึดและอายัดทรัพย์คดีดังกล่าว ว่า สำหรับคดีอาญากับคดีแพ่ง แยกเป็นคนละส่วนกัน แม้คดีอาญาศาลจะยกฟ้อง แต่คดีแพ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ซึ่งศาลแพ่งมีกฎหมายคนละฉบับ ไม่ผูกติดกัน จึงไม่ใช่หมายความว่าคดีอาญายกฟ้องและคดีแพ่งจะยกฟ้องตามไปด้วย โดยศาลแพ่งจะมีการพิจารณาพฤติการณ์อย่างอื่นมาประกอบด้วย เช่น การสืบสวนของตำรวจ หรือ การทำเป็นเครือข่ายมีหลายบุคคลมาเกี่ยว ข้อง หรือ การทำธุรกรรม เพราะคดีแพ่งจะดูในตัวทรัพย์สินเป็นหลักไม่ได้มองเฉพาะบุคคลว่าทรัพย์นั้นได้มาอย่างไร
“เจ้าของทรัพย์สามารถนำผลคดีของศาลอาญามาใช้ประโยชน์ในคดีแพ่ง หรือคดีทางทรัพย์สินว่าไม่ได้กระทำความผิดในคดีมูลฐาน แต่ศาลแพ่งก็ไม่ได้รับฟังเฉพาะว่าคนนั้นจะต้องถูกลงโทษทางอาญาหรือไม่เพราะต้องดูเหตุผลอื่นประกอบ อย่างไรก็ตาม คดียึดและอายัดทรัพย์ “ตู้ห่าวกับพวก” ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาชั้นศาลแพ่งในขณะนี้” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า การดำเนินการในคดีอาญา คือการกล่าวโทษบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือเป็นการนำผู้กระทำผิดเข้าเรือนจำ เพราะก็ต้องมีหลักฐานว่าบุคคลนั้น ๆ ได้กระทำความผิดจริง จึงแตกต่างจากมาตรการทางแพ่งของ ปปง. ที่ดูว่าทรัพย์สินดังกล่าวมันเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์เรื่องการค้ายาเสพติดหรือไม่ จึงขอยืนยันว่า แม้ว่าในคดีมูลฐาน ศาลจะมีการยกฟ้องจำเลย แต่ในคดีทางแพ่ง ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการกับทรัพย์สินจะต้องถูกยกไปด้วย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนสิ่งที่จะทำได้ภายหลังคดีมูลฐานถูกยกฟ้องนั้น คือ หากบุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้คัดค้านถูก ปปง. มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ ก็อาจนำส่วนที่ศาลอาญายกฟ้องมาใช้ประโยชน์ หรือจะนำพยานหลักฐานใดมาใช้ต่อสู้ในคดีแพ่งก็ได้ ว่าทรัพย์สินที่ ปปง. ได้ยึดและอายัดไว้นั้นไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีมูลฐาน โดยศาลแพ่งจะต้องดูด้วยว่าเหตุผลที่ถูกยกฟ้องในคดีอาญา รวมถึงสิ่งที่ผู้คัดค้านได้นำเสนอเข้ามามันมีความเพียงพอที่จะรับฟัง ทำให้ต้องยกในส่วนแพ่งไปด้วยหรือไม่ และหากรับฟังได้ ศาลแพ่งก็จะยกคำร้องของ ปปง. และของพนักงานอัยการ ทั้งนี้ จึงไม่ใช่การยกตามกันโดยอัตโนมัติ แต่มันแยกขาดจากกันระหว่างคดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งต้องมีการชั่งน้ำหนักดูพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. (นามสมมติ) นาย ข. (นามสมมติ) และนาย ง. (นามสมมติ) เคยมีประวัติพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แม้ทั้งหมดไม่เคยถูกจับกุมในคดียาเสพติดมาก่อนก็เป็นได้ แต่เมื่อศาลได้รับฟังจากพนักงานสอบสวน จนเห็นว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดเกิดขึ้น ก็มาดูต่อว่าเมื่อมันเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ ถ้าใช่ ศาลก็จะสั่งให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้าไม่ใช่ ศาลก็จะยกไป
“สำหรับคดีแพ่ง หรือการดำเนินการกับทรัพย์สินของนายตู้ห่าว และพวก ยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการของศาลแพ่ง กล่าวคือ ทรัพย์สินของพวกเขายังถูกยึดและอายัดตามกฎหมายของ ปปง.” นายวิทยา กล่าว
สำนักงาน ปปง. ได้สรุปข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สินรายนายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กับพวก ว่า รายคดีนายชัยณัฐร์ เป็นกรณีกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีพฤติการณ์สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นสถานบริการจินหลิง และพบพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการและมีการสืบสวนขยายผลพบว่านายชัยณัฐร์ เป็นเจ้าของสถานบริการ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่ในกรณีดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 (ตามคำสั่งที่ ย.93/2566 และ ย.141/2566) ดำเนินการกับทรัพย์สินรวมจำนวน 68 รายการ มูลค่ากว่า 71 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2567 มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจำนวน 46 รายการ เช่น หลักทรัพย์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เงินในบัญชีเงินฝาก หน่วยลงทุน พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 46 ล้านบาท (คำสั่งที่ ย.176/2567) รวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดในกรณีนี้ทั้งสิ้น 114 รายการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท
ส่วนรายละเอียดผลการดำเนินการ ในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.อายัดทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.93/2566 ลงวันที่ 2 พ.ค.66 จำนวน 15 รายการ และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามคดีหมายเลขดำ ที่ ฟ.113/2566 คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.118/2567 (ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 1 มี.ค.68)
2.ยึดและอายัดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.141/2566 ลงวันที่ 8 ส.ค.66 จำนวน 53 รายการ และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ฟ.169/2566 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง (นัดอ่านคำพิพากษาเดือน พ.ค.68)
3.ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.176/2567 ลงวันที่ 18 ก.ย.67 จำนวน 46 รายการ และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ซึ่งจะนัดสืบพยานเดือน มี.ค.68
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี