“อัยการคดีค้ามนุษย์”เบรค“ดีเอสไอ” ขอหมายจับ"หม่องชิตตู"กับพวก เเนะหาหลักฐานเพิ่มให้แน่นหนากว่านี้
จากกรณีที่ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้เข้าหารือกับนายศักดา คล้ายร่มไทร อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 เพื่อเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับผู้ต้องหาประกอบด้วย พ.อ. หม่องชิตตู , พ.ท. โมเต โธน และ พ.ต. ทิน วิน ในความผิดฐาน ร่วมกันค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น ( อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ดีเอสไอ'รุดถก'อัยการ'เร่งออกหมายจับ'หม่อง ชิตตู' ยังเป็นความลับมีใครโดนอีกบ้าง??)
ล่าสุดมีรายงานว่า พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ ซึ่งร่วมสอบสวนในคดีนอกราชอาณาจักร ได้หารือเบื้องต้นพบว่า พยานหลักฐานต่างๆน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะให้ศาลอนุมัติออกหมายจับได้ เห็นควรให้ดีเอสไอไปสอบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้รอบคอบรัดกุมกว่านี้ ก่อนนำมาพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับพฤติการณ์ความผิดที่ดีเอสไอนำเข้าหารือกับพนักงานอัยการในการขอออกหมายจับ พ.อ.ชิตตูกับพวกนั้น เป็นกรณีที่กลุ่มผู้ต้องได้นำชาวอินเดียลักษณะเป็นการค้ามนุษย์และบังคับทำงานเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ที่บ่อนเฮงเชง เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ทางการไทยสามารถช่วยเหลือกลับมาได้ 7 ราย โดยพฤติการณ์มีลักษณะถูกหลอกลวงโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน คล้ายกับกรณีซิง ซิง นักแสดงชาวจีนที่ถูกหลอกและทางการไทยสามารถช่วยเหลือได้ก่อนหน้านี้ จึงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินคดีกับขบวนการค้านุษย์ดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง
ทั้งนี้ มีรายงานจากดีเอสไอว่า คดีนี้อาจจะมีชาวไทยเกี่ยวข้องด้วย 2 ราย เป็นกรรมการบริษัทและพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ให้บริการจัดทำรีสอร์ตทั้งในไทยและในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา โดยพฤติการณ์เกี่ยวข้องเป็นขบวนกาส่งคนไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เเหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า กรณีการขอออกหมายจับเป็นเรื่องระหว่างพนักงานสอบสวน กับศาล ที่พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องพร้อมเอกสารพยานหลักฐานให้ศาลพิจารณาเมื่อศาลพิจารณาอนุมัติออกหมายจับเเล้ว พนักงานสอบสวนก็สามารถปฏิบัติตามหมายได้ทันที หากผู้ต้องหาตามหมายจับหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอออกหมายจับจะประสานขอออกหมายเเดง (อินเตอร์โพล) กับชาติสมาชิกอินเตอร์โพลทั้ง 194 ประเทศทั่วโลก ผ่านระบบออนไลน์ที่จะปรากฏในประเทศสมาชิก
เมื่อข้อมูลการออกหมายเเดงกระจายไปยังประเทศสมาชิก เเละพบว่าผู้ที่ถูกออกหมายจับพำนักอยู่ในประเทศนั้น ตำรวจในประเทศปลายทางก็จะติดตามจับกุมตัว หากจับกุมตัวได้ตามหมายจับแล้วประเทศปลายทางก็จะเเจ้งประเทศต้นทางให้ทำเรื่องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามเเดนมาดำเนินคดีที่ประเทศต้นทางโดยเเจ้งผ่านอินเตอร์โพล ซึ่งจะทำเรื่องมายัง อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ตั้งเเต่เเรก อัยการสูงสุดจะเป็นผู้ประสานทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนไปยังกระทรวงการต่างประเทศนั้นเพื่อขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามเเดนมาดำเนินคดีในไทย
สำหรับคดีที่มีการดำเนินคดีนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายให้อำนาจอัยการสูงสุดตั้งพนักงานอัยการการสอบสวนร่วมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีด้วย เพื่อให้การสอบสวนคดีเป็นไปอย่างราบรื่นต่อเนื่องกัน.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี