ประมง เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Aquaculture) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด
วันนี้ (13 ก.พ.) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ผลักดันโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในชื่อ “Support to upscaling and adoption of innovations and good practices on energy use efficiency in aquaculture in Thailand” มีเป้าหมายในการศึกษาและพัฒนาแนวทางการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ทั้งนี้ กรมประมง ได้เริ่มโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 8 จังหวัดในพื้นที่ชายฝั่ง สำหรับการเลี้ยงกุ้งทะเล ได้แก่ ตราด จันทบุรี สมุทรสาคร ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา และ 2 จังหวัดในพื้นที่น้ำจืดสำหรับการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ได้แก่ กาฬสินธุ์ และราชบุรี ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงกุ้งทะเล โดยพัฒนา 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.ระบบโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก สำหรับเครื่องเติมอากาศในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล 2.ระบบโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล 3.ระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง สำหรับเครื่องเติมอากาศในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล 4.ระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ ในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล และ 5.ระบบโซลาร์เซลล์ร่วมกับระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ ในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล และในส่วนของการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม มีการพัฒนา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การใช้โซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก (Stand Alone) และ 2.การใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ การเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดต้นทุน นโยบายสนับสนุนการให้บริการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากสตาร์ทอัพและนักลงทุน การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรในการลงทุนในนวัตกรรมพลังงานทดแทน และการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรในการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
สำหรับการใช้นวัตกรรมเหล่านี้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ถึง 18 - 30% และลดต้นทุนพลังงานลงถึง 22.4 - 39% ซึ่งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งทะเลลดลงเป็น 10.1 - 24.3 บาท/กิโลกรัม และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 2,291 - 9,433 kCO2e/รอบการเลี้ยง/บ่อ ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่านวัตกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลคาร์บอนต่ำนี้ จะเป็นก้าวสำคัญ ในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในภาคประมงของไทยต่อไป
015
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี