13 ก.พ. 2568 เพจเฟซบุ๊ก “ครูวันดี” ของเว็บไซต์ kruwandee.com ซึ่งรวบรวมข่าวสารในแวดวงการศึกษาและอาชีพครู เผยแพร่บทความ “0 ร มส: เกรดที่ครูต้องรับผิด ผอ.ต้องรับรู้” เนื้อหาดังนี้
หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทที่ห่างจากตัวเมืองไปหลายสิบกิโลเมตร มีโรงเรียนมัธยมขนาดกลางแห่งหนึ่ง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กบ้านๆ พ่อแม่ทำไร่ทำนา บางคนต้องช่วยงานที่บ้านก่อนมาเรียน ทำให้บางวันมาสาย หรือไม่มาเลย
ในห้อง ม.3/2 มีเด็กคนหนึ่งชื่อ “ไอ้เหลิม” หรือ “เหลิม หลับลึก” ชื่อนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะครูเกือบทุกคน ไม่เคยเห็นมันตื่นเต็มที่ในคาบเรียน
“เหลิม” เป็นเด็กที่ โผล่มาเรียนบ้าง ไม่มาเรียนบ้าง และแน่นอน… ไม่เคยส่งงานเลย
“ครูครับ ผมขอสอบแก้ครับ”
“สอบแก้อะไร? งานก็ไม่ส่ง รายงานก็ไม่มี มาเรียนก็แทบนับครั้งได้” ครูมองหน้าไอ้เหลิมอย่างปลง ๆ
“ครูให้ผมติดศูนย์ไม่ได้เด้อ ผอ.เพ่งอยู่”
ครูถอนหายใจ… ช่วงนี้ ผอ.กำลังเพ่งเล็งเรื่องเกรด 0 ร มส เป็นพิเศษ โรงเรียนนี้ต้อง “เด็กต้องผ่านทุกคน” ไม่งั้น ครูโดนเรียกไปชี้แจง
ครูรู้ดีว่า “นโยบาย 0 ร มส แก้ก่อน” มีเจตนาดี เพราะไม่อยากให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ต้องการให้โอกาสเด็ก แต่ปัญหาคือ “มันถูกใช้ผิดวิธี”
เด็กที่ตั้งใจเรียนทุกวัน ทำงานทุกชิ้น เหนื่อยกับการสอบ กลับได้เกรดเฉลี่ยพอๆ กับ “ไอ้เหลิม” ที่หายตัวไปเกือบทั้งเทอม แล้วโผล่มาขอแก้ตอนใกล้ตัดเกรด
“แบบนี้มันยุติธรรมกับเด็กขยันตรงไหน?”
วันประชุมครู ผอ.เรียกครูทุกคนมาพูดเรื่องผลการเรียน
“ทำไมปีนี้มีเด็กติด 0 ร มส เยอะ?” ผอ.มองไปรอบๆ อย่างเคร่งเครียด
“ครูต้องใส่ใจเด็กนะครับ เด็กที่ติดศูนย์ แปลว่าเราไม่ดูแลเขาดีพอ”
ครูหลายคนก้มหน้าเงียบ บางคนหงุดหงิดเพราะรู้อยู่แก่ใจว่า เด็กที่ติดศูนย์คือเด็กที่ครูให้โอกาสแล้ว แต่เขาไม่คว้าเอง
ครูคนหนึ่งพูดขึ้นมาอย่างกล้าหาญ “ผอ.ครับ ผมใส่ใจเด็กที่มาเรียนทุกวันแล้ว แต่ผมจะตามเด็กที่ไม่เคยโผล่มาได้ยังไงครับ?”
ผอ.เงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดเสียงอ่อนลง “มันคือหน้าที่ของครูนะ ต้องช่วยให้เด็กทุกคนผ่าน…”
“แต่ผอ.ครับ ถ้าครูต้องทำทุกวิถีทางให้เด็กผ่าน โดยที่เด็กไม่ต้องพยายาม แบบนี้เราให้ความรู้ หรือให้เกรดกันแน่ครับ?”
ครูทั้งห้องเงียบ…
สุดท้าย ไอ้เหลิมก็รอดจาก 0 ร มส อีกครั้ง ด้วยการทำงานส่งแบบเร่งด่วน โดยไม่ได้เข้าใจเนื้อหาจริง ๆ สักนิด แต่ก็ได้ เกรดเดียวกับเด็กที่นั่งเรียนทุกวัน
ครูได้แต่ถอนหายใจ… “ครูไม่ได้อยากให้ใครติดศูนย์ แต่ถ้าเด็กไม่เรียน ไม่ส่งงาน แล้วครูต้องให้ผ่าน… แล้วการศึกษามันจะมีความหมายอะไร?”
นี่ไม่ใช่ปัญหาของครูคนเดียว แต่มันคือ “ปัญหาของระบบ ที่สร้างเด็กที่ไม่ต้องพยายาม และโยนภาระให้ครูต้องรับผิดชอบ”
ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ
#ครูวันดี
ซึ่งบทความดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และคาดว่าหลายคนน่าจะเป็นครูที่เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน เช่น
“ไม่ใช่แค่ติด 0 ร มส. นะ นร. ต้องได้เกรด 3 ขึ้นไป 70% เพื่อให้ผ่านการประเมินสถานศึกษาด้วยค่ะ”
“ใช่ครับ เอาใจนายที่อยู่ข้างบน เกรด 3 อ่านหนังสือไม่ออกก็มี พูดไปความผิดก็มาที่ครูอีก ครูสอนยังงัยเด็กอ่านหนังสือไม่ออก 555”
“รื้อระบบการศึกษาใหม่ก็ดีครับ...เด็กไม่มาเรียนเลยตามตัวก็ไม่ได้แต่โผล่มาสัปดาห์สุดท้ายเพื่อของานส่ง..ผู้บรหิหารก็บอกอย่าให้เด็กต่ำกว่าเกรดนู่นนี่นั่นอีก..แบบนี้เด็กที่ตั้งใจมาเรียนทุกวันจะรู้สึกอย่างไร ไหนจะค่ารถ ค่ากิน นอนอยู่บ้านแล้วมาสัปดาห์สุดท้ายเหมือนกันหมดแบบนี้ก็จะแย่เอานะครับผมว่า”
“นักเรียนไม่สนใจเรียน แต่เป็นความผิดครู งั้นก็เอา 4.0 ไปทั้ง รร.คับ”
“เป็นเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทยค่ะ ผู้เขียนสื่อให้เห็นภาพจริงแท้ที่สุดค่ะ”
“ถ้าแบบนี้จะเด็กๆที่ตั้งใจเรียนเพื่อไม่ติดเขาจะตั้งใจทำไหม”
“ถูกต้องที่สุด กำลังเจอเลยตอนนี้เด็กไม่เคยส่งงาน ขาดเรียนบ่อยๆ แต่จะให้ผ่าน..มันใช่ระบบการศึกษาไหม ถ้างั้นก็ไม่ต้องมาเรียน อยู่บ้าน มาสอบที่เดียวปลายภาคเลย ดีกว่า”
แต่ก็มีบางความเห็นที่มองต่างออกไป เช่น
“ดีกว่าเด็กออกนอกระบบครับ...อย่างน้อยก็ยังมีวุฒิไปประกอบสัมมาอาชีพครับ....ไม่ต้องไปเป็นโจรเป็นขโมยสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม”
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1179890560467294&set=a.728287805627574
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี