กทม. เดินหน้าจัดระเบียบคนไร้บ้าน-ขอทาน ไม่ก่อปัญหาเดือดร้อน พร้อมเร่งฟื้นฟูเยียวยาให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวถึงการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน-ขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในสังกัดและหน่วยงานภายนอกในรูปของคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและขอทาน ตามคำสั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมาตรการและกระบวนการทำงานเมื่อได้รับการประสานแจ้ง หรือตรวจพบคนเร่ร่อน คนไร้บ้านในที่สาธารณะ ก่อปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จะประสานแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ พม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หากคัดกรองแล้วพบว่า เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากและยินยอมเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพจะส่งตัวไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในสังกัด พม. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น กรณีเจ็บป่วยจะส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตามสิทธิการรักษาพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ และหากประสงค์ฝึกอาชีพจะมีบริการฝึกอาชีพและจัดหางานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรีและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจตรา คัดกรอง และจัดทำประวัติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลคนไร้บ้านในการให้ความช่วยเหลือ และได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันและตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 50 เขตอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขต ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และกฎหมายเกี่ยวข้อง โดยสำนักงานเขตจะสำรวจคนไร้บ้านและรายงานผลให้ สพส. ทราบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ จากรายงานในการประชุมคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและผู้ทำการขอทาน สิ้นปี 2567 สรุปผลสำรวจคนไร้บ้านในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 1,271 คน ลดลงจากปี 2565 จำนวน 499 คน เข้าถึงสิทธิ 1,160 คน ช่วยคนไร้บ้านกลับสู่สังคม 119 คน และมีผู้ทำการขอทาน 331 คน (ซ้ำราย 149 คน)
ทั้งนี้ กทม.มีจุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop In) 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเวลา 10.00-16.00 น. สำรวจ คัดกรองทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานส่งต่อ บริการซัก อบ อาบ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา และประชาสัมพันธ์สิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ จัดทำฐานข้อมูล (ทุกวัน) บริการตรวจสุขภาพ ตัดผม รถสุขาเคลื่อนที่ รับสมัครงาน(ทุกวันศุกร์) และบริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล (ทุกวันศุกร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน) และ บริเวณตรอกสาเก ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ณ จุดแจกอาหารเขตพระนคร (ทุกวัน) และจุดบริการของมูลนิธิอิสรชน (เฉพาะวันอังคาร)
ในปี 2568 สพส. ได้รับอนุมัติงบประมาณปรับปรุงอาคารและบริเวณพื้นที่สำนักงานประปาแม้นศรี (เดิม) สำหรับเปิด “บ้านอิ่มใจ” เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านในรูปแบบ Emergency Shelters รองรับการจัดบริการสวัสดิการสังคมและฟื้นฟูกลุ่มคนไร้บ้านรวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้คนไร้บ้านที่มีความประสงค์จะทำงาน หรือฝึกอาชีพให้กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุข เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดย “บ้านอิ่มใจ” สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ 200 คนต่อวัน ชาย 100 คน หญิง 100 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนกันยายน 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี