“อาชีวะ- CEA“ ร่วมเปิด “โครงการยกระดับ Soft Power อาชีวศึกษา” เพิ่มขีดความสามารถการวิจัย นวัตกรรม ทักษะสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนประเทศ
วันนี้ (13 ก.พ.) นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับ Soft Power อาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการวิจัย นวัตกรรม และทักษะสร้างสรรค์ หรือ Creative Skill up by OVEC x CEA ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) โดยมี ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา พร้อมผู้บริหารสถานศึกษา และคณาจารย์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เข้าร่วมงาน ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกรุงเทพฯ (TCDC) เขตบางรัก กทม.
นายสง่า กล่าวว่า โครงการยกระดับ Soft Power อาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการวิจัย นวัตกรรม และทักษะสร้างสรรค์ หรือ “Creative Skillup by OVEC x CEA” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทีมครูและนักเรียน - นักศึกษา ทั้งระดับ ปวช.,ปวส.และปริญญาตรี สังกัด สอศ.ที่มีความสนใจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ บริการสร้างสรรค์ตลอดจนผลงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการในพื้นที่ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์ชุมชน และ Soft Power สมัครเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งข้อเสนอโครงการ(Concept Proposal) ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
ทั้งนี้ สอศ.ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด Local to Global ใน 3 มิติ ดังนี้ 1. เรียนรู้อดีต: การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2. เข้าใจปัจจุบัน:การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทสังคมร่วมสมัย ตลอดจนก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่และภาพจำใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยมและวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน 3.สร้างสรรค์อนาคต : การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญา สู่การพัฒนาต่อยอดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการดังกล่าวสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา (8 Agenda) ประเด็นการพัฒนาที่ 7 เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ ข้อที่ 7.2 ส่งเสริมและสนับสนุน Soft Power อาชีวศึกษา และสอดคล้องกับนโยบายเรือธงของรัฐบาล เรื่องการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อยกระดับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากทุนทางวัฒนธรรมให้มีมาตรฐาน มีการออกแบบที่โดดเด่นและมีความร่วมสมัย เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก โดยเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือ การสร้างคุณค่าและมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมและทักษะสร้างสรรค์ทั้งในมิติชุมชน/สังคมและมิติเชิงพาณิชย์ (Utilization for Community & Commercial Sectors) สร้างกำลังคนและเครือข่ายทำงานสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับภาค Demand Side(พื้นที่/ชุมชน/สถานประกอบการ) หน่วยงานผู้ให้ทุน (Funding Agency) และ Stakeholders ต่าง ๆ ตลอดจนสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในระดับสถานศึกษา และย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และสร้างเวทีในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับชาติ
“โครงการความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นมิติที่สำคัญ ที่ สอศ.ได้ร่วมมือกับ CEA ในการพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ ในเรื่องของทุนนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ซอฟพาวเวอร์ ซึ่งจะมีโค้ชชิ่งจาก CEA มาให้ความรู้เสริมให้กับผู้เรียนอาชีวะฯ ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ จากนั้นคณะทำงาน หรือ CEA จะคัดกรองเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Workshop โดยวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Soft Power และจะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงได้รับโอกาสสำคัญอื่นๆด้วย โดยทางโครงการฯเปิดรับสมัครถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ก็ฝากถึงผู้เรียนว่าวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้เพียงลำพัง จะต้องมีโคชชิ่งที่ดี มีวิธีการจัดการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และการร่วมมือกับสถานประกอบการและชุมชน ดังนั้น การมาเรียนอาชีวะฯจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นทั้งงานและอาชีพอย่างแน่นอน เพราะ สอศ. มุ่งสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียนอาชีวะฯให้มีทักษะสร้างสรรค์ ออกไปสู่โลกของการทำงานการสร้างอาชีพได้“ รองเลขาธิการ กอศ.กล่าว
ด้าน ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) กล่าวว่า CEA ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน และสถาบันการศึกษา การพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยินดีให้การสนับสนุนและร่วมเป็น Coach & Mentor ให้แก่โครงการนี้ เพื่อร่วมกับ สอศ.ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ให้แก่คณะครู นักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ CEA ยังพร้อมเป็น Coordinator และศูนย์กลาง (Hub)ในการประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผ่านกลไกของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา เชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ภูเก็ต และปัตตานี
“หวังว่าความร่วมมือวันนี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ ในมิติ ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งต่อซอฟพาวเวอร์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต” ดร.ชาคริต กล่าว
ขณะที่ ดร.นิรุตต์ กล่าวว่า ทุกข้อเสนอของโครงการ และ concept เปเปอร์ ของทีมนักวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปโดยวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านซอฟพาวเวอร์ และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงได้รับโอกาส เช่น 1.โอกาสในการพัฒนาผลงานและยกระดับทักษะด้านซอฟพาวเวอร์ โดย CEA และ TCDC ร่วมเป็นโคชชิ่ง 2.โอกาสในการได้เผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางสื่อชั้นนำ ภายใต้การสนับสนุนของ CEA และ TCDC 3.โอกาสในการ แสดงผลงานในอาร์ตแกลเลอรี่ หรืออาร์ตสเปซ ภายใต้การสนับสนุนของ CEA และ TCDC และ 4.โอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมและการเสนอผลงาน ในเทศกาลสำคัญ เช่น บางกอกดีไซน์วีค อีสาน ครีเอทีฟ festival และ เชียงใหม่ดีไซน์วีค ตลอดจนงานอื่นๆที่เป็นการแสดงผลงานสร้างสรรค์ โดยตั้งเป้าหมายผลงานหรือโครงการที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยจำนวนไม่น้อยกว่า 20 โครงการ จะสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลาย เช่น ผลงานการวิจัย องค์ความรู้นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บริการ ทักษะสร้างสรรค์ และสื่อสร้างสรรค์
ตลอดจนก่อให้เกิดผลรับและผลกระทบในรูปแบบห่วงโซ่คุณค่าที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืน ในวิธีต่างๆ ดังนี้ 1.เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักสร้างสรรค์ ทั้งคุณครูและนักเรียนนักศึกษาในระดับสถานศึกษา กับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบ ผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ 2.เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ และทักษะสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมต่อพื้นที่ ชุมชน สังคม และสถานประกอบการในพื้นที่ และ 3.สร้างการรับรู้ สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการยอมรับเกี่ยวกับผลงานสร้างสรรค์ และ Soft Power อาชีวศึกษา เพื่อยกระดับสู่ความร่วมมือในมิติต่างๆต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการครั้งนี้ มีสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี, วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม, และ วิทยาลัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
015
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี