กรมอุทยานแห่งชาติฯ บินตรวจสอบจุดความร้อนผืนป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กาญจน์ ประเมินสถานการณ์และวางแผนส่งกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 300 นาย เข้าพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังไฟป่า ส่วนสถานการณ์ไฟป่าที่อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ จนท.ต้องเฝ้าระวังทั้งวันทั้งคืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายมานะ เพิ่มพูน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) รายงานการปฏิบัติงานป้องกันและดับไฟป่าในพื้นที่ว่า นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า นายประวัฒน์ พวงทอง ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า และนายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ร่วมกันบินตรวจสอบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ไฟป่า และวางแผนควบคุมไฟป่า
จากนั้นศูนย์ฯ War Room เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้นำข้อมูลมาจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานและมอบหมายภารกิจให้แต่ละชุดปฏิบัติงานสนธิกำลัง เข้าพื้นที่ปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ผ่านระบบ Video Conference (Zoom) โดยได้วางอัตรากำลังในการเข้าพื้นที่ 5 โซน
โซนที่ 1 บริเวณป่าแม่ปลาสร้อย จำนวน 3 จุด โซน ป่าแม่ละมุ่น จำนวน 3 จุด รวม 6 จุด บ้านโป่งหวาย ม.5 ต.ด่านแม่แฉลบ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าขอนแก่น ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าสกลนคร หน่วยฯ แม่ปลาสร้อย หน่วยฯ แม่ละมุ่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ พักค้างคืนเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่
โซนที่ 2 บริเวณป่าแก่งแคบจำนวน 1 จุด บ้านแก่งแคบ ม.4 ต.ท่ากระดานหน่วยฯ แก่งแคบ สถานีควบคุมไฟป่าไทรโยค อุทยานแห่งชาติไทรโยค เข้าพื้นที่พักค้างคืนเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่
โซนที่ 3 บริเวณป่าเขาช่องประตู จำนวน 2 จุด โซน ป่าทุ่งเปล จำนวน 3 จุด รวม 5 จุด ต.ช่องด่าน หน่วยฯ วังยาง หน่วยฯ ช่องประตู หน่วยฯ สลอบ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครราชสีมา ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าอุบลราชธานี เข้าไปพักค้างแรมอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
โซนที่ 4 บริเวณป่าหินดาดทอง จำนวน 10 จุด บ้านหินดาดทอง ม.3 ต.หนองรี หน่วยฯ หนองรี สถานีควบคุมไฟป่าสลักพระ - เอราวัณ อยู่ระหว่างการเข้าควบคุมไฟป่า
และโซนที่ 5 บริเวณป่าวังยาง จำนวน 1 จุด หน่วยฯ หนองรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังพื้นที่ โดยมียอดสนธิกำลังเจ้าหน้าที่วันนี้ (14 ก.พ.) รวม 338 คน
ขณะที่นายคุณากร บุญเกื้อสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ รายงานการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ระหว่างวันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ สนธิกำลังร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่าเขื่อนศรีนครินทร์ เจ้าหน้าที่เสือไฟฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่เสือไฟกาญจนบุรี และชาวบ้านจุดเฝ้าระวัง รวม 58 นาย เข้าปฏิบัติงานดับไฟป่า บริเวณป่าห้วยแม่วง ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าวมีความรุนแรง กลุ่มไฟได้ลุกลามเป็นวงกว้างและเป็นแนวยาว เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจึงไม่สามารถเข้าดับไฟได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและสามารถควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดได้ในเวลา 23.35 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แม้จะสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบแนวดำ ป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามข้ามแนวไปยังฝั่งป่าเขาเขียว และจะยังคงพักค้างอยู่ในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกัน นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประชุมติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน โดยมีคณะทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานผลการดำเนินงานตอบของซักถาม ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
โดยการประชุมได้จัดลำดับจุดความร้อน ( Hotspot) ของประเทศ ปี 2568 คณะทำงานฯ รายงานผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 2567-2568 ได้แก่ การขอสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟ อัตรากำลัง แผนการดำเนินงาน มาตรการเชิงรุก การเดินลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่าก่อนเกิดจุด hotspot การประสานงานขอรับบริการฝนหลวง นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้กำชับให้คณะทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเผา หากพบการกระทำผิดให้แจ้งความดำเนินคดีโดยไม่มียกเว้น
จากนั้นนายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่า ที่บริเวณจุดเฝ้าระวังไฟป่า อุทยานแห่งชาติไทรโยค ทย.07 บ้านแก่งประลอม บริเวณลงทางแม่น้ำน้อย และ ทย.06 บ้านพุลาด บริเวณหนองตาม่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีกรอบแนวคิดคือ การเตรียมการรับมือล่วงหน้าให้เร็วขึ้น วิเคราะห์จัดทำพื้นที่เสี่ยงการเผาเสี่ยงฝุ่น (Risk Map) ควบคุมพื้นที่แบบมุ่งเป้ากลุ่มป่าแปลงใหญ่ ป่ารอยต่อไฟที่เผาไหม้ซ้ำซาก ยึดพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อยกระดับปฏิบัติการของภาครัฐแบบข้ามเขตปกครอง บริหารไฟในพื้นที่เกษตรช่วงการเก็บเกี่ยว ให้รางวัลกับคนทำดีเพื่อสร้างแรงจูงใจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิด ทั้งนี้ มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 จะมีการวางแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศ ระดับกลุ่มพื้นที่ (Cluster) และระดับจังหวัด
โดยเป้าหมายควบคุมพื้นที่เผาไหม้ จังหวัดกาญจนบุรี ลดลงร้อยละ 25 ลดลงจากปี 2567 พื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ 14 กลุ่มป่า (Cluster) กลุ่มป่าที่ 12 กลุ่มป่ารอบเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ศรีสวัสดิ์, ทองผาภูมิ, สังขละบุรี, เมืองกาญจนบุรี, บ่อพลอย, หนองปรือ และไทรโยค รวม 26 ตำบล เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 7 แห่ง เนื้อที่ 4,642384.30 ไร่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง เนื้อที่ 695,867.40 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 5,338,251.70 ไร่ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าปี 2568
1. ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงไฟป่า และดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ ประสานการบูรณาการทุกภาคส่วน ในด้านแผนปฏิบัติงาน งบประมาณ และกำลังพล ออกประกาศห้ามเผาทุกพื้นที่ และมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมไฟป่า เปิดยุทธการประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่าเชิงรุกแบบเคาะประตูบ้าน สร้างความต่อเนื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน/เครือข่าย จัดฝึกอบรมความรู้ด้านไฟป่าให้แก่เจ้าหน้าที่ ชุมชน และเครือข่าย จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองระดับจังหวัด
2. ระยะเผชิญเหตุ จัดตั้งจุดเฝ้าระวังไฟป่า ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ติดตาม ตรวจสอบการบุกรุก/การเผา และดับไฟป่า ประกาศปิดป่าทุกพื้นที่ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พิจารณาตัดสิทธิให้ความช่วยเหลือหรือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ กับราษฎรที่กระทำความผิด หรือฝ่าฝืนข้อกำหนด สร้างการรับรู้ ปลุกจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่
3. ระยะบรรเทา ออกสำรวจและประเมินความเสียหายพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ จัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ติดตาม ตรวจสอบการบุกรุก/การเผา และดับไฟป่า เพื่อนำไปถอดบทเรียนในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุในคราวต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี