แก้‘ฝุ่นPM2.5’เหลว! ‘สวนดุสิตโพล’เผยปชช.มองมาตรการรัฐไร้ประสิทธิภาพ
16 กุมภาพันธ์ 2568 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ค่าฝุ่น PM 2.5 กับคนไทย” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,255 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 10-14 กุมภาพันธ์ 2568 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ประชาชนคิดว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ณ วันนี้ รุนแรงหรือไม่
อันดับ 1 รุนแรง 88.61%
อันดับ 2 ไม่รุนแรง 11.39%
2. ตั้งแต่ ปี 2562 ที่เริ่มมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนถึงปัจจุบันประชาชนต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง
อันดับ 1 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อหน้ากาก ซื้อยา ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 71.16%
อันดับ 2 สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน 68.29%
อันดับ 3 ลดกิจกรรมกลางแจ้ง/ออกกำลังกายนอกบ้าน 58.17%
3. ประชาชนคิดว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพเพียงใด
อันดับ 1 ไม่มีประสิทธิภาพ 73.39%
อันดับ 2 มีประสิทธิภาพ 26.61%
4. ประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างไรบ้าง
อันดับ 1 ควบคุมการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษอย่างเข้มงวด 82.46%
อันดับ 2 เร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ไขปัญหาระยะยาว 54.47%
อันดับ 3 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 53.91%
5. ใคร/หน่วยงานใดควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
อันดับ 1 กรมควบคุมมลพิษ 75.82%
อันดับ 2 นายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล 63.13%
อันดับ 3 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 57.46%
6. ประชาชนคิดว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จหรือไม่
อันดับ 1 ยากที่จะแก้ไขได้ มาจากหลายสาเหตุ เป็นปัญหาที่วนกลับมาซ้ำ 62.95%
อันดับ 2 มีโอกาสแก้ไขได้ แต่ต้องมีมาตรการจริงจัง ร่วมกันทุกฝ่าย 32.27%
อันดับ 3 ไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก 4.78%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านผลโพลที่ทำมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แม้ทุกฝ่ายจะตระหนักถึงสาเหตุหลักของมลพิษ แต่การแก้ไขกลับยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลค่าฝุ่นรายวัน แต่เป็นมาตรการที่เข้มข้นและบังคับใช้จริงจังและทันที ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่านอกจากคุณภาพอากาศที่แย่ลงแล้ว ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลก็อาจถดถอยตามไปด้วย
ด้าน ผศ.ดร.สมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฏหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบาย ว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ค่าใช้จ่าย หรือวิถีชีวิต ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ประชาชนจะมีความกังวลว่าการแก้ปัญหาอาจเป็นเรื่องยาก แต่เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่เหมาะสม เช่น การควบคุมการเผาอย่างเข้มงวด การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบในอนาคต การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะอากาศที่สะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
ทั้งนี้ในช่วงปี 2013 เมืองปักกิ่ง ประเทศจีนก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากประเทศไทยในขณะนี้ แต่ประเทศจีนใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ออกแผนควบคุมมลพิษทางอากาศและบังคับใช้อย่างเข้มงวด รวมทั้งติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยในระยะยาว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี